ในช่วงวิกฤตน้ำท่วมแบบนี้ พ่อค้าแม่ขายขอเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสในการเก็งกำไรขายอาหารและน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำขวดขายยกโหล และเครื่องดื่มหลากหลายชนิด ซึ่งราคาไม่ค่อยยุติธรรมต่อผู้บริโภคเลย แต่ก็มีลูกค้าหลายคนเต็มใจซื้อ อันเนื่องมาจากความไม่มั่นใจในคุณภาพของระบบการประปา ซื้ออย่างไม่มีทางเลือก... ทั้งยังไม่แน่ใจว่าน้ำที่ซื้อดื่มทุกวันนั้นมีความปลอดภัยจริงหรือไม่ เมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้แล้วเราจะช่วยเหลือตัวเองอย่างไร
จากที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้สุ่มตรวจตัวอย่างอาหาร น้ำดื่มน้ำใช้ และน้ำแข็ง ในพื้นที่น้ำท่วม พบเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ โดยเฉพาะน้ำแข็งและเครื่องดื่มผสมน้ำแข็ง จึงขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำแข็ง หรือเครื่องดื่มผสมน้ำแข็ง
ส่วนทาง นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกรมควบคุมโรค แนะให้ประชาชนเลือกดื่มน้ำสะอาดที่บรรจุขวด ซึ่งมีมาตรฐานเครื่องหมาย อย. และใช้น้ำที่ผ่านเครื่องกรองน้ำ หรือต้มน้ำให้สุกอย่างน้อย 5 นาที ก่อนนำน้ำมาใช้เพื่อป้องกันโรคที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ไม่ว่าจะเป็นวิธีกรองน้ำ ต้มน้ำให้สุก ใส่คลอรีนลงไป หลากหลายวิธีการทำน้ำสะอาด แต่ด้วยสภาพน้ำท่วมซึ่งบางทีสถานที่ไม่เอื้ออำนวยเท่าที่ควร การหาน้ำสะอาดดื่มสักแก้วจากเรื่องง่ายจึงกลายเป็นเรื่องยากขึ้นมาทันที ด้วยเหตุนี้ M-Healthy จึงมาแนะนำวิธีการทำน้ำสะอาดแบบง่ายๆ ด้วยตัวเอง ที่ใครๆ ก็ทำได้ด้วยมือเปล่า
1
เมื่อคนจำนวนมากต้องประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างแสนสาหัส จนบางคนไม่มีสิ่งใดเหลือติดตัวที่จะนำมาใช้ในการยังชีพเสียด้วยซ้ำ การดำรงชีวิตต่อไปจึงต้องพึ่งพาสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา มาถึงตอนนี้จึงต้องกลับมาใช้ประโยชน์จากธรรมชาติให้มากที่สุดแบบพึ่งพาอาศัยกันเหมือนครั้งอดีต เช่นเดียวกับวันนี้ที่แสงแดดทำให้เรามีน้ำสะอาดไว้ดื่มไว้ใช้ จึงสามารถดำรงชีพอยู่ได้ในยามวิกฤต
การทำน้ำดื่มปลอดภัยในวิกฤตน้ำท่วม โดย ศ.นพ.ดร.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ หัวหน้าหน่วยระบาดวิทยา และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ ได้แสดงวิธีการทำน้ำดื่มสะอาดแบบง่ายๆ ด้วยตนเอง และสามารถทำได้ทุกที่ โดยมีวิธีการทำแต่ละขั้นตอนดังนี้
1. หาขวดน้ำใสๆ ขนาดไม่เกิน 2 ลิตร ถ้าวางนอนไม่ควรหนาเกิน 10 ซม. นำมาแกะฉลากออก
2. กรอกน้ำประมาณ 3/4 ขวด แล้วปิดฝาให้แน่น จากนั้นเขย่าอย่างน้อย 20 ครั้ง แล้วกรอกน้ำเพิ่มให้เต็มพร้อมปิดฝาให้แน่น
3. วางขวดน้ำกลางแดดโดยกำหนดเวลา
- ใช้เวลา 2 ชั่วโมง ถ้าน้ำใส แดดจัด และวางบนโลหะ เช่น สังกะสี
- ใช้เวลา 6 ชั่วโมง ถ้าวางบนกระเบื้อง หรือซีเมนต์
- ใช้เวลา 2 วัน ถ้าเมฆมาก
จะเห็นได้ว่าปฏิกิริยาของแสงแดด ความร้อน และออกซิเจนในน้ำจะฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และพยาธิได้ถึง99.9% และได้น้ำที่สะอาดพอสำหรับดื่มได้ ซึ่งวิธีการนี้ มีชื่อเรียกว่า การฆ่าเชื้อด้วยแสงแดด หรือ Solar Disinfection (SODIS) เทคโนโลยี SODIS เป็นผลงานวิจัยและพัฒนาโดยองค์การนานาชาติ www.sodis.ch
การฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงแดด ทำให้น้ำสะอาดสำหรับบริโภคแทนการต้มได้ น้ำที่นำมาทำเป็นน้ำดื่มด้วยวิธีการนี้ควรเป็นน้ำที่สะอาดพอสมควร ไม่ขุ่นมาก เช่น น้ำที่ผ่านการตกตะกอน กรอง และการเติมคลอรีน เป็นต้น เนื่องจากวิธีการนี้ไม่สามารถกำจัดสารเคมีปนเปื้อนได้ ฉะนั้นควรเลือกน้ำที่มั่นใจได้ว่าไม่มีสารเคมีปนเปื้อน (ถ้าฝนตกทุกวัน ไม่มีแสงแดด ไม่ควรเลือกทำน้ำสะอาดด้วยวิธีการนี้)
2
วิธีการฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงแดด จึงถือเป็นวิธีการทำน้ำสะอาดได้ง่ายและสะดวกที่สุด แต่ถ้าใครรอเวลาเพื่อใช้อุปโภค บริโภคไม่ไหว ซึ่งต้องใช้เวลานานเป็นชั่วโมงในการฆ่าเชื้อโรค สามารถเลือกทำน้ำสะอาดด้วยวิธีอื่นๆ อีกได้ ถ้าบ้านคุณมีตัวช่วยอย่าง น้ำยาคลอรีน สารส้ม และด่างทับทิม ซึ่งหาซื้อได้ง่ายและมีราคาไม่แพง
อย่างแรกจึงขอแนะนำคลอรีน (Chlorine) เนื่องจากเป็นสารเคมีที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย สามารถทำลายเชื้อโรคได้มากกว่า 99% รวมทั้ง อี.โค.ไล (E.coli) และเชื้อไวรัส นอกจากนี้คลอรีนสามารถฆ่าเชื้อโรคในน้ำได้ในระยะเวลาหนึ่งที่ทำการเติมคลอรีนลงไปแล้ว ทั้งยังให้ผลในระยะยาวอีกด้วย โดยคลอรีนที่เติมลงไปจะละลายอยู่ในรูปของคลอรีนอิสระ ทำหน้าที่ฆ่าเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนมาในภายหลัง
วิธีการเติมคลอรีนฆ่าเชื้อโรค
1. เลือกน้ำจากแหล่งที่ใสสะอาด หรือกรองน้ำให้ใสก่อน
2. หยดคลอรีนชนิดน้ำ หรือหยดทิพย์ ในอัตราส่วน 8 หยดต่อน้ำ 1 แกลลอน หรือ 2 หยดต่อน้ำ 1 ลิตร
3. ตั้งทิ้งไว้ 30 นาที
4. ได้น้ำใช้ที่ปลอดภัย หากต้องการบริโภคควรต้ม หรือฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงแดดก่อน
ส่วนอาหารที่นำมาบริโภค เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อหมู เนื้อปลา ฯลฯ ก่อนรับประทานควรล้างให้สะอาด และฆ่าเชื้อโรค ด้วยการแช่น้ำที่ผสมน้ำยาคลอรีน นาน 30 นาที
นักวิชาการสาธารณสุข ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวเสริมเกี่ยวกับคุณสมบัติของคลอรีนว่าเป็นสารเคมีที่เราใช้ฆ่าเชื้อโรคในน้ำบริโภคทั่วไป หรือในระบบประปาอยู่แล้ว วัตถุประสงค์ที่ใช้ส่วนใหญ่ฆ่าเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร
ในน้ำประปาทั่วๆ ไป โดยปกติแล้ว จะมีการใส่คลอรีนให้เป็นส่วนเกินจากปกติที่มันฆ่าเชื้อแล้วเล็กน้อย เรียกว่า คลอรีนอิสระ โดยให้มีเหลืออยู่ระหว่าง 0.2-0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร เพื่อที่ว่าเมื่อนำใช้ในระบบท่อ หรือใส่ภาชนะอื่นที่อาจมีการปนเปื้อนเชื้อโรคที่ยังอยู่ในน้ำก็สามารถฆ่าเชื้อโรคส่วนนั้นได้
ถ้าในบริเวณน้ำท่วมซึ่งอาจมีเชื้อโรคจำนวนมากติดมากับน้ำที่ใช้บริโภคได้ จำเป็นต้องเพิ่มคลอรีนอิสระหรือไม่ นักวิชาการสาธารณสุข ได้กล่าวตอบว่า “ไม่จำเป็น เพราะน้ำประปาทั่วไปมีคลอรีนอิสระปกติอยู่ระหว่าง 0.2-0.5 Mg/l (ppm) ก็เพียงพอแล้ว เพราะถ้าเพิ่มมากจะทำให้น้ำยิ่งมีกลิ่นมากขึ้น ทั้งยังเป็นการเปลืองโดยใช่เหตุ และถ้าใส่เข้มข้นมากเกินไปจะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ อาจจะระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารหรือทางเดินหายใจได้”
สามารถสังเกตได้ว่าน้ำในระบบประปา เวลาเปิดน้ำออกมาจะได้กลิ่นคลอรีน ตรงนี้เรียกว่าคลอรีนอิสระตกค้างที่อยู่ในน้ำประปา ซึ่งถ้าอยู่ในปริมาณที่กำหนดจะไม่เป็นอันตราย ตามค่าปกติขององค์การอนามัยโลก
เมื่อตรวจระดับน้ำคลอรีนเป็นไปตามค่ามาตรฐานแล้ว สามารถนำไปอุปโภคบริโภคได้เลย แต่ในขณะนี้อาจมีหลายคนไม่มั่นใจในคุณภาพน้ำของระบบประปานครหลวง เนื่องจากมีกลิ่น และสีที่เปลี่ยนไป อันเนื่องมาจากสาเหตุน้ำสกปรกปนเปื้อนลงที่พักน้ำ ทำให้ต้องเติมคลอรีนมากกว่าปกติ ซึ่งอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายใดต่อร่างกาย แต่ปัญหาเรื่องกลิ่นคลอรีนยังคงมีอยู่
เราสามารถกำจัดกลิ่นคลอรีนได้เองง่ายๆ โดยเปิดน้ำใส่ภาชนะทิ้งไว้ประมาณ 1 วันแล้วกลิ่นจะหายไปตามอากาศ เพราะลักษณะของคลอรีนจะไม่คงตัวอยู่ตลอด สามารถระเหยไปกับอากาศได้ จากนั้นนำน้ำไปต้ม ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เพราะเป็นการฆ่าเชื้อโรคเพื่อให้ได้น้ำสะอาดที่สุดด้วยตัวเราเอง
3
คลอรีนสามารถฆ่าเชื้อโรคในน้ำได้เช่นเดียวกับน้ำในระบบประปาทั่วไป จึงเกิดการใช้อย่างแพร่หลาย แต่ถ้าบ้านใครไม่มีสารเคมีชนิดนี้ การเลือกใช้สารส้มและด่างทับทิม สามารถช่วยทำให้น้ำสะอาดได้เช่นกัน โดยมีวิธีการดังนี้
1. การใช้สารส้มแกว่ง โดยรองน้ำใส่ภาชนะพักไว้ 20-30 นาที จากนั้นหยดคลอรีนชนิดน้ำ หรือหยดทิพย์ 2% แล้วใช้สารส้มลงแกว่งในน้ำ รอสักพักหนึ่งจะได้น้ำใสสะอาดแล้วจึงตักใส่ภาชนะอีกใบหนึ่ง ก่อนนำน้ำไปใช้ ควรพักทิ้งไว้อย่างน้อย 1 คืน และนำไปต้มก่อนดื่มหรือประกอบอาหาร
2. การใช้ด่างทับทิมละลายในน้ำเพื่อฆ่าเชื้อโรค โดยใช้อัตราส่วน 3-5 หยด ต่อน้ำ 1 ลิตร จากนั้นกวนผสมและปล่อยทิ้งไว้นาน 30 นาที แต่ด้วยคุณสมบัติของด่างทับทิม ซึ่งสามารถทำลายเชื้อโรคได้เพียงบางชนิดเท่านั้น และต้องใช้เวลานาน เพราะฉะนั้นทางที่ดีที่สุดก่อนนำน้ำไปใช้ ควรนำไปต้มก่อนทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย
ถ้าอยากตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาแถวบ้านคุณ สามารถเข้าไปเช็กได้ที่ wqconline.mwa.co.th ภายในเว็บไซต์จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับเขตบ้านที่คุณอยู่ได้รับน้ำประปาที่ส่งมาจากสถานีสูบน้ำแห่งใด และสามารถตรวจสอบคุณภาพจากตัวเลขที่ปรากฏตามภาพแบบ Real Time Water Quality โดยตัวเลขสีเขียว หมายถึง ปริมาณคลอรีนอิสระที่หลงเหลือ โดยค่ามาตรฐานอยู่ระหว่าง 0.2-0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร (ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น) ส่วนตัวเลขสีเหลือง หมายถึง ความขุ่น ต้องมีค่ามาตรฐานไม่เกิน 5 NTU
ข่าวโดยทีมข่าว M-Lite/ASTV สุดสัปดาห์
ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ต