xs
xsm
sm
md
lg

คสรท.แถลงซัด “เพื่อไทย” ไม่ขึ้นค่าแรง 300 บาท ตามสัญญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คสรท.ออกแถลงการณ์ตอกย้ำนโยบายเพื่อไทย ขึ้นค่าแรง 300 บ.ไม่เป็นไปตามสัญญาประชาคม ชะลอขึ้นค่าจ้างออกไป 3 เดือน ซ้ำเติมแรงงานน้ำท่วม อัดไตรภาคีล็อกค่าจ้าง 3 ปี กระทบค่าครองชีพ ด้านเครือข่ายแรงงานจี้รัฐ ทำโครงสร้างค่าจ้าง ลดสองมาตรฐาน แรงงานเก่าประสบการณ์ 7 ปี ได้ค่าจ้าง 300 บ.เท่าแรงงานใหม่

วันนี้ (18 ม.ค.) ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้มีการแถลงจุดยืนของผู้ใช้แรงงานต่อนโยบายการขึ้นค่าแรง 300 บาท โดยนายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท.กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ประกาศนโยบายเร่งด่วนที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ ด้วยการให้แรงงานมีรายได้วันละ 300 บาท และผู้ที่จบปริญญาตรี มีรายได้ 15,000 บาท ภายในวันที่ 1 ม.ค.2555 แต่เมื่อเกิดสถานการณ์น้ำท่วมคณะรัฐมนตรีกลับมีมติเลื่อนการปรับขึ้นค่าจ้างออกไปเป็นวันที่ 1 เม.ย.2555 แทน โดยอ้างว่าเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ในขณะเดียวกัน ให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 39.5% นำร่อง 7 จังหวัด และจะปรับให้ครบทุกจังหวัดในวันที่ 1 ม.ค.2556 ซึ่งจะไม่มีการปรับค่าจ้างขึ้นอีกเป็นเวลา 2-3 ปี
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นายชาลี กล่าวว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทย แสดงเจตนาไม่ปฏิบัติตามนโยบายของตัวเองที่ให้สัญญาประชาคมกับผู้ใช้แรงงานกว่า 37 ล้านคน เพียงเมื่อมีเสียงคัดค้านจากภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งยังฉวยโอกาสจากสถานการณ์น้ำท่วมซ้ำเติมผู้ใช้แรงงานที่เข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ ต้องเสี่ยงจากการถูกเลิกจ้าง ขาดรายได้จากโอที และเงินเดือนที่ได้ไม่ครบ ด้วยการเลื่อนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ออกไปเป็นเวลา 3 เดือน และจะยังไม่ปรับขึ้นค่าจ้างอีก 2-3 ปี ซึ่งในทางกลับกันสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางรัฐบาลก็มีมาตรการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และยังรวมไปถึงสถานประกอบการนอกเขตน้ำท่วม ต่างก็ได้รับประโยชน์จากการเลื่อนปรับขึ้นค่าจ้างในครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้ ทาง คสรท.ได้มีมติข้อเรียกร้อง ดังนี้ 1.ให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ทั่วประเทศทันที โดยคำนึงถึงความเสมอภาคของแรงงานกับข้าราชการที่มีอัตราเงินเดือนเท่ากันทั่วประเทศ 2.ขอคัดค้านมติของคณะกรรมการไตรภาคีในการไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 2-3 ปี ภายหลังปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท และควรให้มีโครงสร้างค่าจ้างเพื่อความเป็นธรรม 3.รัฐบาลต้องมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เนื่องจากผลสำรวจค่าครองชีพผู้ใช้แรงงานในเดือน ส.ค.2554 พบว่า มีค่าใช้จ่ายวันละ 561.79 บาท

“หลังจากมีการปรับค่าจ้าง 300 บาท สถานการณ์เลิกจ้างน่าจะเกิดกับกลุ่มแรงงานเหมาช่วงประมาณ 20% ที่จะหายไปจากตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องมาจากวิกฤตน้ำท่วม ขณะที่หลายบริษัทก็จะมีการปรับโครงสร้างภายในด้วยการนำเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงานมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนด้านแรงงาน อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวความต้องการด้านแรงงานก็ยังมีอยู่ ซึ่งในบางอุตสาหกรรมยังคงต้องการแรงงาน เช่น อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งแรงงานจะต้องมีการปรับตัว เพราะอาจจะต้องมีการย้ายถิ่นฐานเพื่อหาแหล่งงานใหม่มากขึ้น สถานการณ์จะกลับไปเหมือนช่วงวิกฤตปี 40 (ต้มยำกุ้ง)” นายชาลี กล่าว

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธาน คสรท.กล่าวว่า การที่คณะกรรมการไตรภาคีติดล็อกไม่ให้ขึ้นค่าจ้าง 3 ปี หลังจากปรับค่าจ้างขึ้น 300 บาท ถามว่ามีเหตุผลอะไร ซึ่งจะกระทบกับผู้ใช้แรงงานที่มีรายได้น้อยอยู่แล้วจะย่ำแย่ลงไปอีก หากในช่วงดังกล่าวราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น แรงงานเหล่านี้ก็ต้องแบกภาระต่อไป ขณะเดียวกัน มองว่า การปรับค่าจ้างจะนำไปสู่การสร้างแรงงานจูงใจให้กับแรงงานที่จะทุ่มเททำงานมากขึ้น ซึ่งสถานประกอบการก็จะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่

ด้านนายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์ยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า แรงงานเข้าใหม่จะได้ค่าจ้าง 300 บาท ซึ่งจะเท่ากับค่าแรงของแรงงานที่ทำงานมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6-7 ปี ถามว่า มันถูกต้องหรือไม่ เพราะฉะนั้นควรที่จะมีโครงสร้างค่าจ้างประจำปี ซึ่งปัจจุบันมีเพียงบริษัทรายใหญ่ที่ใช้โครงสร้างค่าจ้างนี้ คิดเป็นสัดส่วน 20% ขณะที่อีก 80% ต้องอ้างอิงกับค่าแรงขึ้นต่ำ ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละครั้ง ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทย มีนโยบายปรับ 300 บาท ทั่วประเทศทันที แต่กลับเบี่ยงเบนไม่ทำตามนโยบายที่ให้ไว้ ซึ่งทาง คสรท.รับไม่ได้ ยืนยันว่า จะต้องมีการเคลื่อนไหวเปิดเวทีคู่ขนานเพื่อให้บทเรียนพวกนักการเมืองในเรื่องนโยบายหาเสียงที่จะต้องทำได้จริง

“อย่างในอุตสาหกรรมยานยนต์ ในพื้นที่ 7 จังหวัด ที่จะมีการปรับค่าจ้าง 300 บาทนำร่อง ซึ่งมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 215 บาทต่อวัน โดยแรงงานเหล่านี้มีประสบการณ์ทำงานหลายปีแล้ว เมื่อเทียบกับแรงงานที่จะเข้าใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ ก็จะได้ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากัน ทำให้เกิดปัญหาลักลั่น แต่ถ้ามีโครงสร้างค่าจ้างก็จะปรับตามอายุงานและทักษะฝีมือ” นายยงยุทธ กล่าว

นางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาดูแลลูกจ้างที่เป็นโรคจากการทำงาน เนื่องจากที่ผ่านมาลูกจ้างกลุ่มนี้ถูกปฏิเสธการจ้างจากนายจ้าง ล่าสุด ที่อยู่ในเครือข่ายมีประมาณ 50 คน ในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ระหว่างให้ข้อมูลกับทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอยู่ในระหว่างการฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยจากนายจ้างประมาณ 4-5 คดี โดยที่ผ่านมา นายจ้างฉวยโอกาสช่วงวิกฤตน้ำท่วมเลิกจ้างแรงงานที่ป่วยเป็นกลุ่มแรกๆ ในขณะที่แรงงานก็ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์ต่างๆ ได้ เนื่องจากขาดรายได้ ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งบางรายถูกนายจ้างให้เงินปิดปาก เพื่อไม่ให้ไปฟ้องร้อง ทั้งที่ลูกจ้างต้องได้รับเงินชดชเยจากกองทุนเงินทดแทน ขณะที่บางรายก็ถูกขู่ไม่ให้ไปให้ข้อมูลกับคณะกรรมการสิทธิ หากใครไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกเลิกจ้าง

ด้านนางธนพร วิจันทร์ เลขาธิการกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง กล่าวถึงปัญหาหลัก คือ เกรงว่า ลูกจ้างจะโดนปลดออกจากการจ้างงาน เหตุจากการเพิ่มค่าแรง 300 บาท หากนายจ้างไม่จ่าย รัฐจะต้องเป็นผู้เข้ามาดูแล ทั้งนี้ อยากให้รัฐบาลสนใจการเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ มากกว่าการเน้นพึ่งการส่งออกสินค้าเพียงอย่างเดียว เพราะขณะนี้เศรษฐกิจโลกกำลังประสบภาวะวิกฤต

ทำไมรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจได้รับการปรับขึ้นค้าจ้างพร้อมกัน แต่ภาคเอกชนกลับไม่ปรับตามนโยบายที่หาเสียงไว้ แต่กลับปรับเพียงบางจังหวัด เหมือนเป็นนโยบายสองมาตรฐาน” นางธนพร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น