กสร.ส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสถานประกอบการใช้แรงงานเด็ก หากทำผิดกฎหมายคุ้มครองแรงงานดำเนินคดีทันที หวั่นไทยถูกลดอันดับค้ามนุษย์ได้รับการกีดกันทางการค้า ด้านมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก เผย มีแรงงานเด็กในไทยกว่า 3 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นต่างด้าว
วันนี้ (12 ม.ค.) นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในช่วงต้นปีนี้ กสร.จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบในสถานประกอบการในจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการใช้แรงงานเด็กโดยเฉพาะจังหวัดที่มีการใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนมาก เนื่องจากไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเรื่องการใช้แรงงานเด็กและการค้ามนุษย์ หากไม่ปรับปรุงและถูกจัดอันดับที่แย่ลงก็จะถูกคู่ค้าในต่างประเทศกีดกันทางการค้า
ทั้งนี้ ถ้าตรวจพบว่าสถานประกอบการใดใช้แรงงานเด็กโดยผิด พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งกำหนดไว้ห้ามนายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเป็นลูกจ้าง ห้ามไม่ให้จ้างงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานอันตรายและงานเกี่ยวกับสารเคมี รวมถึงการทำงานในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุด จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายโดยมีโทษจำไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
“อยากขอความร่วมมือสถานประกอบการไม่ใช้แรงงานเด็กโดยผิดกฎหมาย เพราะนอกจากจะมีโทษทางกฎหมายแล้ว และยังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชาติในภาพรวม เนื่องจากจะทำให้ไทยถูกจัดอันดับในเรื่องการใช้แรงงานเด็กและค้ามนุษย์ที่แย่ลงไปอีก ส่งผลให้ถูกกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนจัดสรรงบประมาณและกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และใช้แรงงานเด็กอย่างเข้มข้นมากขึ้น” อธิบดี กสร.กล่าว
นายอาทิตย์ กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลของ กสร.ในปี 2554 พบว่า มีแรงงานเด็กทั่วประเทศประมาณ 19,074 คน ซึ่ง กสร.มีนโยบายและยุทธศาสตร์ในการป้องกันและแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็ก โดยส่งเจ้าหน้าที่ไปทำความเข้าใจกับสถานประกอบการในจังหวัดต่างๆ จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือแรงงานหญิงและเด็กทั่วประเทศ รวมทั้งดำเนินคดีทันทีเมื่อพบว่ามีการใช้แรงงานเด็กต่ำกว่า 15 ปี หรือให้เด็กทำงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสภาพร่างกายและจิตใจ รวมทั้งจัดทำบัญชีงานอันตรายที่ห้ามแรงงานเด็กทำของประเทศไทย เช่น งานปั๊มโลหะ งานเกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นอันตราย งานเกี่ยวกับวัตถุมีพิษ งานที่ต้องทำใต้ดิน ใต้น้ำ ฯลฯ
น.ส.ทัตติยา ลิขิตวงษ์ ผู้ประสานงานโครงการแรงงานเด็ก มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กล่าวว่า ปัจจุบันมีการใช้แรงงานเด็กจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มนักวิชาการออกมาเปิดเผยว่ามีการใช้แรงงานเด็กในไทยกว่า 3 แสนคน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กต่างด้าว 3 สัญชาติ พม่า ลาว และกัมพูชา ขณะที่เด็กไทยจะมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีการจ้างในกลุ่มอาชีพงานบ้าน โรงงานขนาดเล็ก ร้านอาหาร และร้านค้าขนาดเล็ก
“เด็กกลุ่มนี้ยังถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างจำนวนมาก ทั้งการกดขี่แรงงาน ทำร้ายร่างกาย ทำงานเกินเวลา ไม่มีวันหยุด และได้รับค่าแรงต่ำกว่ากฎหมายกำหนด โดยทางมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ได้ให้การช่วยเหลือเด็กแต่ละปีเฉลี่ยประมาณ 100 คน ซึ่งรัฐบาลต้องมีนโยบายดูแลที่ชัดเจน ในส่วนของเด็กไทยต้องมีโครงการเรียนฟรีที่แท้จริง เพราะค่าใช้จ่ายอื่นๆนอกเหนือจากค่าเทอม ก็มีส่วนให้เด็กตัดสินใจไม่เรียนต่อ ดังนั้น ควรส่งเสริมให้เด็กไทยเรียนต่อให้สูงขึ้นจนพร้อมที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ในช่วงอายุ 18 ปี ขึ้นไป”น.ส.ทัตติยา กล่าว
น.ส.ทัตติยา กล่าวต่อไปว่า ส่วนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ควรให้การคุ้มครองเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ เนื่องจากถูกหลอกลวงให้เข้ามาทำงานผ่านกระบวนการค้ามนุษย์ในงานภาคการเกษตรและประมง ซึ่งจะต้องมีการผลักดันกฎหมายที่ให้การคุ้มครองมากกว่านี้
น.ส.ทัตติยา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันพนักงานตรวจแรงงาน ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานไม่มีอำนาจในการบังคับนายจ้างที่ใช้แรงงานเด็กจำพวกงานบ้าน เนื่องจากในพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ไม่ได้กำหนดในเรื่องของอัตราค่าจ้างที่ชัดเจน รวมไปถึงระยะเวลาทำงาน วันหยุดประจำสัปดาห์ และอายุของเด็กที่สามารถจ้างงานได้ ของกลุ่มอาชีพทำงานที่บ้าน
ดังนั้น กระทรวงแรงงานต้องมีการแก้ไขกฎกระทรวงที่กำหนดรายละเอียด ที่ยังตกหล่นให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งแก่เด็กไทยและเด็กต่างชาติ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการแก้ปัญหาขณะนี้ทางมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กได้เร่งรณรงค์ให้นายจ้างต่างๆ ที่มีการจ้างแรงงานเด็กให้ตระหนักถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และดูแลลูกจ้างโดยคำนึงว่าเขายังเป็นเด็ก ขณะเดียวกัน ตอนนี้ทางมูลนิธิได้เสนอให้กระทรวงแรงงานแก้ไขกฎกระทรวง ซึ่งได้รับการตอบรับจากกระทรวงแรงงานว่าจะมีการปรับปรุงและเพิ่มในเรื่องสิทธิการคุ้มครองของเด็กในกลุ่มทำงานบ้านให้ดียิ่งขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์
นอกจากนี้ ทางองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ กำลังเร่งกำหนดอนุสัญญาที่เกี่ยวกับการดูแลคุ้มครองแรงงานเด็ก ซึ่งจะกำหนดให้ประเทศภาคีต่างๆที่ลงนามบันทึกข้อตกลงปฏิบัติตาม โดยเน้นเรื่องการคำนึงถึงศักดิ์ศรีของแรงงาน การปฎิบัติต่อแรงงาน และการจัดสวัสดิการให้เหมาะสม หากมีการประกาศอนุสัญญาที่ชัดเจนประเทศไทยควรรับอนุสัญญานี้ด้วย เพื่อให้เด็กได้รับการคุ้มครอง