xs
xsm
sm
md
lg

"กิตติรัตน์"กล่อมเอกชนขึ้นค่าแรง หอการค้า-ส.อ.ท.แนะให้ทยอยปรับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“กิตติรัตน์”ส่งสัญญาณ ไทยไม่มีแรงงานราคาถูกอีกต่อไป ขอธุรกิจเตรียมรับมือ โดยรัฐพร้อมให้การสนับสนุนพัฒนาฝีมือแรงงาน รองรับการเปิดเสรี AEC ในปี 58 และหนุนลงทุนเพื่อนบ้านหาค่าแรงงานราคาถูก เดินหน้ากล่อมเอกชนขึ้นค่าแรง 300 ทันที ไม่ต้องรอไตรภาคีสรุป ด้านส.อ.ท.ระบุได้ข้อสรุป2 ประเด็น ระบุการปรับ 300 บาท/วันไม่ใช่ค่าจ้างขั้นต่ำ แต่เรียกเป็นการเพิ่มรายได้ต่อวัน ซึ่งรวมสวัสดิการอื่นๆด้วย และไม่ปรับขึ้นในทันที ด้านหอการค้าไทยชี้ความเห็นยังไม่ตรงกัน แนะให้ทยอยปรับ อย่าขึ้นรวดเดียว

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยหลังการปาฐกถาพิเศษ 1 ปี ของ AEC กับทิศทางประเทศไทยในงานเสวนา AEC and SMEs Challenges : Next Steps (Phase 2) ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี ว่า ในปี 2558 อาเซียนจะรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยที่ผ่านมา ได้มีการลดภาษีสินค้าลงเหลือ 0% แล้ว ต่อไปจะมีการเปิดเสรีบริการ การลงทุน และการเคลื่อนเงินทุนและแรงงาน จะทำได้เสรีมากขึ้นซึ่งในส่วนของไทย รัฐบาลยืนยันว่าจะไม่มีแรงงานราคาถูกอย่างในปัจจุบันอีกต่อไป เพราะไทยไม่ได้แข่งขันในเรื่องอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานราคาถูก ใครมาลงทุนก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขค่าแรงงานของไทย

ทั้งนี้ ไม่อยากให้ธุรกิจกังวลเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงงานแล้วจะแข่งขันไม่ได้ เพราะรัฐบาลไม่ใช่แค่จะผลักดันให้มีการปรับขึ้นค่าแรงงานเพียงอย่างเดียว แต่จะทำการเพิ่มศักยภาพของแรงงานควบคู่ไปด้วย หากปรับขึ้นค่าแรงแล้วแรงงานไม่มีทักษะหรือเพิ่มประสิทธิภาพ ก็ไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งภาครัฐพร้อมจะสนับสนุนเอกชนในเรื่องการเพิ่มทักษะแรงงานอย่างเต็มที่

ขณะเดียวกัน ยังมีแผนสนับสนุนให้ธุรกิจไทยออกไปลงทุนในประเทศอาเซียนอื่น เช่น เวียดนาม พม่า ลาว กัมพูชา มีค่าแรงที่ถูกกว่าไทย และไม่ขัดข้องหากแรงงานที่มีฝีมือของไทยจะเคลื่อนย้ายไปทำงานในอาเซียนที่มีค่าจ้างสูงกว่าด้วย

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า ได้หารือกับภาคเอกชน เช่น หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อหาแนวทางในการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท/วัน เบื้องต้นอยากให้ภาคเอกชนทั้งรายใหญ่ กลางและเล็ก ดำเนินการได้เลย โดยไม่ต้องรอมติของคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งในส่วนรัฐบาลจะสั่งให้รัฐวิสาหกิจเตรียมความพร้อมในเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงด้วยเช่นกัน

สำหรับการดูแลภาคธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) รัฐบาลมีแผนในการเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการรองรับเปิด AEC ด้วยการปรับมาตรฐานของธุรกิจให้เป็นสากล พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ภาษาต่างประเทศ และภาษาเพื่อนบ้าน แก้ปัญหาด้านการตัดราคาระหว่างผู้ประกอบการ สร้างความเชื่อมโยงหาพันธมิตรในอาเซียน ผลักดันการบังคับใช้กฎหมายภายในอย่างเข้มงวด และยังมีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อแก้ไขและปรับธุรกิจให้เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน

“เชื่อว่าหากทำได้ตามแผน จะผลักดันยอดส่งออกของไทยไปตลาดอาเซียนได้เพิ่มขึ้น รวมถึงตลาดจีน อินเดีย และญี่ปุ่น ที่ปัจจุบันไทยส่งออกไปตลาดเหล่านี้เกินครึ่งอยู่แล้ว และเชื่อว่าหลังเปิด AEC ในปี 2558 จะทำให้ยอดการส่งออกสินค้าไทยภาพรวมโตไม่ต่ำกว่า 20-30%”นายกิตติรัตน์กล่าว

นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลและเอกชนยังมีแนวคิดเรื่องการขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำแตกต่างกันอยู่ โดยรัฐบาลต้องการให้เอกชนขึ้นค่าแรงได้เลย แต่เอกชนมองว่าควรต้องทำตามมติของคณะกรรมการไตรภาคี เนื่องจากเป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นมานานและมีทั้งรัฐ เอกชน ภาคแรงงาน ร่วมกันทำงาน

แต่มติของคณะกรรมการไตรภาคีจะออกมาอย่างไรนั้น มองว่าควรจะเป็นมติเอกฉันท์ ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาตามมา โดยเอกชนยอมรับในเรื่องของค่าแรงที่เพิ่มขึ้น เพราะไทยคงไม่มีค่าแรงต่ำไปกว่าเวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา ได้อีก แต่การขึ้นค่าแรงจะต้องเป็นแบบทยอยปรับ และเพิ่มทักษะแรงงานขึ้นไปตามค่าแรงที่เพิ่มด้วย

นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวภายหลังหารือรวมกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ว่า การหารือร่วมกันครั้งนี้ได้ข้อสรุป 2 ประเด็น โดยประเด็นแรกภาครัฐและเอกชนเห็นพ้องร่วมกันเรียกนโยบายปรับค่าจ้างครั้งนี้ว่า การเพิ่มรายได้ต่อวันเป็น 300 บาทขึ้นไป ไม่ใช่การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะคำว่ารายได้จะรวมถึงค่าสวัสดิการอื่นๆที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างอยู่แล้ว เช่น ค่าอาหาร ค่ารถรับส่ง ค่าที่พัก เป็นต้น นอกจากนี้รายได้ที่เพิ่มขึ้นจะสอดล้องกับประสิทธิภาพแรงงานที่ต้องเพิ่มขึ้นด้วย

ประเด็นที่สอง คือ ข้อสรุปเรื่องระยะเวลาในการปรับขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่ไม่ปรับขึ้นทันที แต่มีระยะเวลาเป็นตัวกำหนด ส่วนจะเป็นลักษณะไหน เป็นขั้นบันไดหรือไม่ ต้องกลับมาหารือร่วมกันอีกครั้ง โดยนายกิตติรัตน์ได้สั่งการให้หน่วยงานรัฐกลับไปทำขอมูลเพื่อเคาะเวลาที่เหมาะสม ส่วนเอกชนจะกลับไปทำข้อมูลเพิ่มเช่นกัน แต่เบื้องต้นเสนอให้ปรับแบบขั้นบันไดภายใน 3-4 ปี ซึ่งบางพื้นที่อาจปรับได้เร็ว เช่น กรุงเทพฯเพราะค่าจ้างสูงอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น