xs
xsm
sm
md
lg

วิบากกรรม SMEs จากนโยบายขึ้นค่าจ้าง 300 บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นโยบายการปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน ทั่วประเทศ ของรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย กลายเป็นประเด็น Talk of The Town ที่หลายฝ่ายโดยเฉพาะในด้านของผู้ประกอบการ ต่างก็มีความกังวลกันว่านโยบายดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการถึงกับต้องปิดกิจการ และอาจจะเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการย้ายฐานการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติไปลงทุนในประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่า

จากการศึกษาวิเคราะห์ โดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ภายใต้โครงการจัดทำตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตของ SMEs (SMEs I/O Table) พบว่าโครงสร้างต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านแรงงานและเงินเดือนของ SMEs เฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 16.2 ของต้นทุนปัจจัยการผลิตทั้งหมด ซึ่งค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จะส่งผลให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.16 ดังนั้นนโยบายการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน ทั่วประเทศนี้ จะส่งผลให้ผู้ประกอบการ SMEs มีค่าใช้จ่ายด้านแรงงานเพิ่มขึ้นตั้งแต่ร้อยละ 35.7-80.7 ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8-13.0 ซึ่งจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อ SMEs โดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรมไม้ (เฟอร์นิเจอร์) อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องหนัง และภาคการก่อสร้าง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีต้นทุนด้านแรงงานสูงกว่าร้อยละ 35 รวมถึงกลุ่มธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น กลุ่มธุรกิจรับจ้างผลิต (OEM) ที่สำคัญจะส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพสูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการจะผลักภาระดังกล่าวให้แก่ผู้บริโภคเพื่อรักษาระดับกำไร นอกจากนี้จะเป็นการกดดันให้ผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่นอกทะเบียนนิติบุคคลซึ่งมีประมาณ 2.3 ล้านราย หันไปใช้แรงงานต่างด้าวเถื่อนเพิ่มขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย

จากผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นดังกล่าว สสว. ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SMEs ทั้งในภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคบริการ รวมทั้งเครือข่ายผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ เกี่ยวกับนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำดังกล่าว พบว่า ผู้ประกอบการกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ เห็นว่าหากจะต้องมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามนโยบายรัฐบาล ควรมีการปรับขึ้นโดยพิจารณาจากค่าครองชีพตามพื้นที่ หรือปรับแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นอัตราร้อยละ โดยกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน และสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในแต่ละปี อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่สามารถปรับขึ้นได้ในทันทีจะอยู่ที่ประมาณ 221-250 บาท/วัน หรือปรับเพิ่มไม่เกินร้อยละ 5-10

เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำดังกล่าว มาตรการที่ผู้ประกอบการ SMEs ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือมีดังนี้
1.รัฐบาลควรมีการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินในส่วนต่างที่เกิดจากต้นทุนแรงงานเพิ่ม เพื่อลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการผลักภาระให้ผู้บริโภค
2.ควรมีการจัดตั้งสถาบันเพื่อการทดสอบและพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาฝีมือแรงงานให้เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับค่าแรงงานที่ต้องจ่ายในอัตราที่สูงขึ้น
 3.ควรเพิ่มสวัสดิการส่วนอื่นให้กับแรงงานทดแทนการขึ้นค่าแรง เช่น การลดวงเงินจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคม การให้คูปองแลกค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า
 4.จัดทำคูปอง SMEs เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปใช้จ่ายเป็นค่าสินค้าและบริการของรัฐ
 5. จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยยกระดับนวัตกรรมและเทคโนโลยี ฯลฯ

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงความจำเป็นและผลดีของการขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาท ทั่วประเทศ พบว่า ปัจจุบันรายได้ของผู้ใช้แรงงานไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ จากข้อมูลคณะกรรมการค่าจ้างกลาง พบว่าค่าครองชีพแรงงานโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 3-5 โดยค่าใช้จ่ายรายเดือนของแรงงานโดยเฉลี่ยเดือนละ 4,883 บาท/คน/เดือน สภาพดังกล่าวทำให้แรงงานต้องทำงานล่วงเวลาอย่างน้อยวันที่ 2-4 ชั่วโมงเพื่อให้มีรายได้สอดคล้องกับค่าใช้จ่าย ดังนั้นนโยบายการเพิ่มค่าจ้างขึ้นต่ำ จึงช่วยให้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ธุรกิจ SMEs ทั่วประเทศมีการจ้างแรงงานไม่น้อยกว่า 10.5 ล้านคน เมื่อแรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น จะทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ มีโอกาสขายสินค้าและบริการเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญมาตรการดังกล่าวกระตุ้นให้ผู้ประกอบการ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ หันมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพหรือประสิทธิภาพแรงงานอย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งหากมีการเพิ่มค่าจ้างแรงงานควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน จะช่วยลดลดความสูญเสียจากการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตรวมทั้งมูลค่าผลผลิตได้อีกด้วย

จากการศึกษาของ สสว. เรื่องผลิตภาพการผลิตของ SMEs หรือ TFP พบว่า การเพิ่มคุณภาพแรงงานจะส่งผลดีต่อการเพิ่มผลิตภาพการผลิตโดยรวมของ SMEs มากกว่าส่วนอื่น เห็นได้จากการเพิ่มคุณภาพปัจจัยแรงงานทุกๆ ร้อยละ 1 จะทำให้ผลิตภาพการผลิตของ SMEs เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.66 ขณะที่การเพิ่มคุณภาพทุนร้อยละ 1 เช่นกัน จะทำให้ TFP เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.34 นอกจากนี้แนวทางดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาการถูกกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (non-tariff barriers : NTBs) โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก การที่แรงงานมีรายได้หรือสวัสดิการที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้ไม่ถูกกีดกันจากประเทศผู้นำเข้าสินค้า เป็นต้น

ดังนั้น สสว. จึงเห็นว่าแนวทางในการดำเนินงานตามนโยบายปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน รัฐบาลควรมีการดำเนินการดังนี้
1. สำรวจภาวะการจ้างงานของผู้ประกอบการ SMEs และค่าครองชีพของแรงงานในธุรกิจ เพื่อนำไปสู่การวางแผนการปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานที่เหมาะสมกับประเภทธุรกิจ รวมถึงความต้องการใช้แรงงานแต่ละระดับ และภาวะค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่
 2.การปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอาจปรับแบบขั้นบันได ด้วยการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างตามช่วงของเวลา หรือดำเนินการในกลุ่มที่มีความพร้อมก่อน
3. ควรดำเนินมาตรการจูงใจ โดยการลดภาษีรายได้นิติบุคคล การหักคืนภาษี (Tax Credit) ตามค่าใช้จ่ายด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้น
4.ควรมีการส่งเสริมสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ด้วยการจัดอบรมเฉพาะทางให้กับธุรกิจแต่ละสาขา หรือการอบรมเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานใหม่
5.ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับการจ้างแรงงานที่มีความรู้และประสบการณ์มากขึ้น
และ 6.ควรมีการปรับยุทธศาสตร์การลงทุนของประเทศใหม่ โดยการย้ายฐานการผลิตไปในประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่าหรือได้เปรียบด้านปัจจัยการผลิต ด้วยเป้าเหมายเพื่อเป็นการสร้างโอกาสทางการค้าการลงทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs ทั้งเวทีการค้าในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น