xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มลูกจ้างตกงานนับแสน อ้อนรัฐดูแลค่าชดเชย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการ คาด แรงงานน้ำท่วมตกงานพุ่งหลักแสน ห่วงลูกจ้างซับคอนแทรกถูกเลิกจ้าง ชี้ อำนาจต่อรองต่ำ วอนรัฐดูแลให้ได้เงินชดเชย อธิบดี กสร.เผย แรงงานถูกเลิกจ้างกว่า 1.9 หมื่นคน แรงงานคืนโรงงานกว่า 6.5 แสนคน คาดหลังปีใหม่ถูกเลิกจ้างแค่หลักพันไม่พุ่งถึงแสนคน

วันนี้ (23 ธ.ค.) รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่ส่งผลให้มีการเลิกจ้างลูกจ้างในโรงงานต่างๆที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ว่า กลุ่มลูกจ้างบริษัทรับเหมาค่าแรง(ซับคอนแทรก) ถือเป็นลูกจ้างกลุ่มแรกที่ตกงาน ซึ่งโรงงานจะบอกเลิกสัญญาบริษัทรับเหมาค่าแรง เนื่องจากโรงานยังไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ โดยสถานประกอบการกว่า 50-60%มีการผลิตโดยใช้ลูกจ้างจากบริษัทเหมาค่าแรง บางโรงงานมีลูกจ้างเหมาค่าแรงมากถึง 70-80%

ทั้งนี้ ลูกจ้างกลุ่มนี้มักได้ค่าจ้างจากนายจ้างบริษัทรับเหมาค่าแรงในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำไม่มากนัก รวมทั้งยังมีการรวมตัวต่ำ ไม่มีอำนาจต่อรองกับนายจ้าง เมื่อมีการเลิกจ้าง บริษัทเหมาค่าแรงมักไม่ยอมจ่ายค่าชดเชย ซึ่งเมื่อมีปัญหาเรียกร้องนายจ้างซึ่งเป็นเจ้าของสถานประกอบการ มักรับภาระจ่ายค่าชดเชยแทน เพื่อรักษาภาพพจน์องค์กร และเมื่อมีการไล่เบี้ยตามกฎหมาย ทางสถานประกอบการถือเป็นนายจ้างที่ต้องรับผิดชอบร่วมด้วย ดังนั้น หน่วยงานรัฐให้ควรสนใจดูแลลูกจ้างซับคอนแทรก

รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวต่อไปว่า ภาพรวมสถานการณ์เลิกจ้าง คาดว่า การเลิกจ้างจะมีตัวเลขที่สูงมากช่วงหนึ่ง ซึ่งกระทรวงแรงงานควรที่จะตั้งคณะทำงาน ในลักษณะวอร์รูม ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์เลิกจ้าง ที่คาดกันว่าจะมีคนตกงานเกือบแสนคน เนื่องจากผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมกันคิดแก้ไข ลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด

“ตอนนี้มีความกังวลที่จะขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากคนงานที่กลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัด ยังไม่อยากกลับเข้าโรงงานเพราะช่วงนี้เป็นช่วงเกี่ยวข้าว การจ้างแรงงานเกี่ยวข้าววันละ 300-350 บาท ซึ่งเป็นค่าจ้างที่สูง อีกทั้งลูกจ้างบางส่วนเมื่อถูกเลิกจ้าง ได้รับเงินค่าชดเชยจากนายจ้าง และสิทธิรับเงินทดแทนประกันการว่างงานร้อยละ 50 ของ 15,000บาท เท่ากับ 7,500 บาท ในระยะเวลา 6 เดือน จึงเป็นรายได้ที่ลูกจ้างพอที่จะอยู่ในภูมิลำเนาได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง” รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าว

นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้มีแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมถูกเลิกจ้างกว่า 1.8 หมื่นคน ส่วนแรงงานซับคอนแทรกถูกเลิกจ้างจำนวนน้อยกว่าคาดการณ์ไว้ ส่วนช่วงหลังปีใหม่แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมคงจะถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้นหลายพันคน แต่คงไม่ถึงหลักแสนคน ซึ่งต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะมีแรงงานที่เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างประมาณ 1.3 แสนคน อย่างไรก็ตาม แรงงานที่ถูกเลิกจ้างนั้น มีปัญหาตกงานน้อยมากเพราะทันทีที่ถูกเลิกจ้าง ก็จะมีสถานประกอบการมารับเข้าไปทำงานผ่านโครงการต่างๆของกระทรวงแรงงานเช่น โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ กสร.ณ วันที่ 23 ธ.ค.โดยภาพรวมยังมีสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 2,658 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 341,052 คน และขณะนี้มีสถานประกอบการเปิดกิจการแล้ว 26,021 แห่ง ลูกจ้างได้กลับเข้าทำงานแล้ว 652,892 คน

อธิบดี กสร.กล่าวอีกว่า ส่วนการเลิกจ้างมีสถานประกอบการ 76 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง รวม19,665 คน แยกเป็น จ.พระนครศรีอยุธยา 39 แห่ง ลูกจ้าง 10,803 คน จ.ปทุมธานี 23 แห่ง 8,244 คน ฉะเชิงเทรา 2 แห่ง ลูกจ้าง 459 คน จ.สระบุรี 1 แห่ง ลูกจ้าง 31 คน นครปฐม 1 แห่ง ลูกจ้าง 68 คน นนทบุรี 9 แห่ง ลูกจ้าง 29 คน กรุงเทพฯ 1 แห่ง 31 คน

ขณะเดียวกัน มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้างใน 8 จังหวัด จำนวน 784 แห่ง ลูกจ้าง 239,371 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีสถานประกอบการได้รับการอนุมัติแล้ว 234 แห่ง ลูกจ้าง 88,706 คน ส่วนโครงการเพื่อนช่วยเพื่อนของกสร.ที่ให้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมไปทำงานที่จังหวัดอื่นชั่วคราว 2-3 เดือน รวมทั้งมีการจ้างงานถาวร ขณะนี้มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ 643 แห่ง ใน 48 จังหวัด และมีตำแหน่งงานรองรับ 78,242 อัตรา และมีลูกจ้างเข้าทำงานร่วมโครงการ 13,226 คน ในสถานประกอบการ 108 แห่งโดยดูรายละเอียดได้ที่ www.labour.go.th หรือสอบถามสายด่วน 1546

นายอนันตชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผอ.สำนักคุ้มครองแรงงานสังกัด กสร. กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน มีนโยบายชัดเจนให้มีการคุ้มครองสิทธิลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างให้ได้รับเงินทดแทนเลิกจ้างและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย ไม่เช่นนั้น ลูกจ้างสามารถร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงาน เพื่อขอให้ออกคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมาย หรือฟ้องต่อศาลแรงงานให้มีคำสั่งบังคับให้นายจ้างจ่าย ทั้งนี้ กฎหมายให้การคุ้มครองลูกจ้างทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่แบ่งแยกเป็นลูกจ้างประจำ ลูกจ้างบริษัทเหมาค่าแรง
กำลังโหลดความคิดเห็น