xs
xsm
sm
md
lg

จิตแพทย์แนะรับมือเด็กเครียด โหมเรียนแน่นเกินหลังน้ำท่วมต้องระวังเด็กเบื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ภาคกลางของประเทศ ส่งผลกระทบทำให้โรงเรียนทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล ต้องเลื่อนเปิดเทอม และทำการเรียนการสอนล่าช้าไปเป็นเวลากว่าหนึ่งเดือน ขณะที่มาตรฐานการเรียนการสอนของแต่ละสถานศึกษาก็ยังคงถูกกำหนดด้วยระยะเวลาเรียนที่จะต้องเป็นไปตามกฎของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้โรงเรียนแต่ละแห่งจะต้องมีการปรับการเรียนมาสอน มีการสอนชดเชย เพิ่มชั่วโมงเรียน หรือบางแห่งอาจมีการเรียนเพิ่มในวันหยุดเสาร์อาทิตย์

พญ.อังคณา อัญญมณี
จากสภาพการณ์ดังกล่าวนั้น เด็ก พ่อแม่ ครู และสถานศึกษา ควรจะต้องปรับตัวอย่างไร เพื่อให้เด็กได้รับการเรียนรู้อย่างมีความสุข ในเรื่องนี้ พญ.อังคณา อัญญมณี จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ ให้ความเห็นว่า การเลื่อนการเปิดเทอมเป็นเวลานานนั้น ทำให้บทเรียนต่างๆ ต้องอัดแน่นขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการสอนเพิ่มเติม เพราะด้วยความจำเป็นที่แต่ละโรงเรียนที่จะต้องสอนให้ครบตามเนื้อหาตามหลักสูตร เพื่อรักษาคุณภาพ แต่การปรับการเรียนการสอนนั้นก็ควรจะต้องคำนึงถึงสภาพจิตใจของเด็กด้วย

พญ.อังคณา ระบุว่า ในช่วงเปิดเรียนแรกๆ เด็กบางส่วนจะรู้สึกขี้เกียจ เพราะว่ายิ่งหยุดนาน ก็จะต้องมีการปรับตัวมากขึ้น ดังนั้น ในช่วงแรกๆ โรงเรียนควรให้เวลาปรับตัวสำหรับเด็กๆ ก่อนสัก 1-2 สัปดาห์ ไม่ใช่ว่าเปิดเทอมวันแรกก็เริ่มให้เด็กเรียนชดเชยไปจนถึง 6 โมงเย็น อาจทำให้เด็กเกิดความเบื่อหน่าย ไม่อยากเรียน และพากันโดดเรียนได้ เพราะฉะนั้นทางโรงเรียนต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจธรรมชาติของเด็ก และแจ้งให้เด็กทราบล่วงหน้าเพื่อจะได้เตรียมตัวและปรับตัวได้ รวมถึงการพูดคุยกับพ่อแม่ ซึ่งก็จะต้องมีการปรับเวลา ปรับการดำเนินชีวิตตามไปด้วย เช่น การรับส่ง หรือ การทำกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกับครอบครัว

พญ.อังคณา ให้ความเห็นได้อย่างน่าสนใจว่าการวางแผนการเรียนการสอนที่แน่นและเร่งจนเกินไปเพื่อให้ทันกับทุกเนื้อหานั้น จะทำให้บรรยากาศการเรียนการสอนเครียดจนเกินไป และจะไม่ช่วยให้การเรียนรู้ดีขึ้น ดังนั้น การปรับตารางเรียนเพิ่ม คุณครูควรวางแผนการสอนในแต่ละวิชา โดยมีแนวทางดังนี้

1.คุณครูอาจจะคงเนื้อหาหลักไว้แต่ควรลดงาน รายงาน หรืองานประดิษฐ์ลง จากปกติ 10 ชิ้น เทอมนี้อาจจะเหลือซัก 5-6 ชิ้น แต่ให้คะแนนรายชิ้นเพิ่มขึ้น ซึ่งครูต้องเข้าใจสภาพว่าเด็กจะมีเวลาในช่วงเย็น หรือวันหยุดน้อยลง เพราะต้องไปเรียนชดเชย หรือเด็กบางคนที่ต้องอาศัยตามศูนย์พักพิงหรือบ้านญาติก็อาจจะไม่พร้อมในเรื่องของวัสดุอุปกรณ์

2.โดยปกติแล้วการเรียนที่อัดแน่นมากเกินไป อาจจะทำให้เด็กที่ปรับตัวไม่ได้เกิดความเครียด วอกแวก ไม่มีสมาธิ และไม่มีความพร้อมในการเรียน ไม่ทำการบ้าน ไม่ตั้งใจเรียน ไม่ส่งงาน ซึ่งครูจะต้องทำความเข้าใจและให้การช่วยเหลือ มิฉะนั้น เด็กอาจจะเกิดการเบื่อหน่าย ดังนั้น ครูจะต้องคอยสังเกตพฤติกรรมของเด็กว่าให้ความสนใจกระตือรือร้นในการเรียนมากน้อยเท่าไร และไม่ควรสร้างบรรยายการเรียนการสอนให้เครียดจนเกินไป เช่น หากเด็กบางคนไม่ตั้งใจ คุณครูดุด่าหรือบ่น อาจทำให้เด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ตั้งใจเรียนที่เครียดอยู่แล้วยิ่งเครียดเข้าไปอีก
 
3.คุณครูควรให้กำลังใจเด็กบ้าง อย่าไปเครียดจริงจังมากเกินไป พยายามให้เด็กเรียนแบบสบายๆ เพราะถ้าเครียดเกินไปก็ไม่ได้ประโยชน์เหมือนกัน ถ้าคุณครูเห็นว่าเด็กเครียดก็อาจมีกิจกรรมที่สร้างความสนุกสนาน ผ่อนคลายบ้าง เวลาพักก็ควรจะมี เช่น เรียนมา 3-4 ชั่วโมงก็ควรพักก่อนที่จะกลับเข้าไปเรียนต่อ ถ้าเรียนติดต่อกันไม่มีเวลาพัก เด็กก็จะหมดสมาธิ

ในส่วนของพ่อแม่และผู้ปกครองนั้น การปรับตัวก็จะสามารถช่วยเด็กได้มาก ซึ่ง พญ.อังคณา ให้ข้อแนะนำในการปรับตัวและปรับทัศนคติ ที่จะมีส่วนช่วยลดความเครียดของเด็กได้ดังนี้

1.พ่อแม่ควรมีทัศนคติในเชิงบวกต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะการปฏิบัติหรือปฏิกิริยาของผู้ปกครองจะมีผลช่วยทำให้ดีขึ้น หรือแย่ลง เพราะถ้าผู้ปกครองแสดงความคิดเห็นไปในทางลบหรือบ่นว่าทำไมต้องมีการเรียนเพิ่ม หรือมีท่าทีที่เครียดไปด้วย หรือไม่พร้อมที่จะรับสภาพ จะยิ่งทำให้เด็กมองภาวะนี้ในด้านลบไปด้วย ทำให้เด็กรู้สึกเบื่อหน่าย ท้อแท้ เด็กบางคนอาจจะทิ้งงานไปเลย คือไม่ทำแล้ว ไม่เรียนแล้ว อาจถึงขั้นโดดเรียนเลยก็ได้ แต่ในทางกลับกันถ้าหากผู้ปกครองมีท่าทีเป็นบวก เข้าใจความรู้สึกเด็ก เด็กก็จะมีการรับฟังที่ดี อาจจะมีการชี้แจงหรืออธิบายถึงเหตุและผลว่าการเรียนแบบนี้ เด็กอาจจะต้องเหนื่อย แต่ว่ามันเป็นความจำเป็นที่จะต้องเรียนให้ครบ เพราะว่าคุณครูอยากให้มีความรู้ หรือว่าอยากให้เรียนทันกับเพื่อนๆ โรงเรียนอื่น คงเหนื่อยไม่นาน อาจจะเป็นในช่วงสั้นๆ ถ้าเรียนตามบทเรียนครบ ทางโรงเรียนก็จะปรับเวลาเรียนตามปกติ

2.ควรให้การสนับสนุน เพราะจะเป็นส่วนสำคัญที่จะฝึกให้เด็กเผชิญกับปัญหา เป็นการฝึกทักษะ ต่อไปถ้าเด็กต้องเจอปัญหา เค้าก็จะเผชิญได้ง่ายขึ้นด้วย ถือว่าเป็นโอกาสอย่างนึงในวิกฤต
 
3.พ่อแม่จะต้องให้กำลังใจ ให้รางวัลเด็ก เช่น วันจันทร์-ศุกร์ ทางโรงเรียนมีการเรียนเพิ่ม เด็กจะมีเวลาเล่นน้อยลง ตรงนี้พ่อแม่อาจจะให้กำลังใจเพิ่มว่าเดี๋ยววันอาทิตย์นี้เราไปหาอะไรอร่อยๆ กินกัน หรือว่าวันอาทิตย์นี้อยากดูหนังเรื่องอะไรก็พาไปดู คือ หาเวลาชดเชย ให้เป็นเวลาของครอบครัวที่เด็กจะมีความสุข ให้เค้าผ่อนคลายมากขึ้น ตรงนี้ก็จะช่วยได้

4.พิจารณาสิ่งที่จำเป็นให้กับลูก เช่น เด็กที่เรียนพิเศษอยู่แล้ว อีกทั้งยังเรียนดนตรี เล่นกีฬา คือ บางอย่างที่มันไม่จำเป็น พ่อแม่ก็อาจจะต้องตัดออกไปก่อนในเทอมนี้ พอเทอมหน้า ลูกมีเวลาเรียนมากขึ้น ค่อยกลับไปเรียนอีกทีก็ได้ จะได้ไม่รู้สึกว่าทุกอย่างมันแน่นไปหมดเลย

5.นอกจากนี้ ต้องเตรียมพร้อม ทำความเข้าใจกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นแล้วก็ยอมรับ เหมือนกับจะช่วยลูกว่าจะต้องเผชิญกับมันยังไง กิจวัตรก็ต้องเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่ลูก พ่อแม่ต้องจัดเวลาใหม่เหมือนกัน พอเลิกงานแล้วต้องรับลูกที่ไหน ดังนั้น พ่อแม่ก็จะต้องวางแผนด้วย

นอกจากเด็ก คุณครู พ่อแม่ แล้ว การป้องกันความเครียดของเด็กตั้งแต่ต้นนั้น พญ.อังคณาแนะนำว่า ผู้บริหารโรงเรียนถือว่ามีส่วนสำคัญเหมือนกัน ซึ่งจะต้องหันมาดูแลว่าคุณครูมีความเครียดหรือได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหรือไม่ เพราะหากที่บ้านของครูผู้สอนได้รับผลกระทบก็จะเกิดความเครียด เมื่อมาสอนก็อาจจะระบายความเครียดไปลงที่เด็ก หรือ ไม่สามารถรับมือกับปัญหาความไม่พร้อมของเด็กได้ ดังนั้น ทางผู้บริหารโรงเรียนควรจะต้องเอาใจใส่ หาข้อมูลดูว่าครูท่านไหนบ้างที่บ้านมีปัญหา ซึ่งการช่วยเหลือหรือให้กำลังใจ จะทำให้สภาพจิตใจของครูดี พร้อมรับมือกับเด็กได้

ทั้งนี้ หากผู้บริหารโรงเรียน คุณครู ผู้ปกครอง และเด็ก ต้องการคำปรึกษา ในการจัดการปัญหาความเครียดหลังเปิดเทอม สามารถปรึกษา โรงพยาบาลมนารมย์ที่บริการสายด่วน 02-725-9555 ภายใต้โครงการ “มนารมย์ ร่วมใจช่วยภัยน้ำท่วม” โดยทางโรงพยาบาลจะมีทีมจิตแพทย์ และนักจิตวิทยาคอยให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือสามารถเปิดดูข้อมูล หาความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิตที่ดี ที่ www.manarom.com
กำลังโหลดความคิดเห็น