xs
xsm
sm
md
lg

กพฐ.อาชีวะ เตรียมหารือกรณีเลื่อนเปิด-ปิดเทอม ในที่ประชุมหลัก ศธ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
กพฐ.-อาชีวะ เห็นตรงกันเลื่อนเปิด-ปิดเทอมกระทบการเรียนการสอน แนะหารือระดับนโยบายและศึกษาความเหมาะสม ขณะที่ ผอ.AUN เห็นด้วย พร้อมชี้ไม่จำเป็นต้องเลื่อนในส่วนของพื้นฐาน แต่ให้เอาเวลาที่มีไปเตรียมพร้อมในกระบวนการเข้าสู่มหา’ลัย

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวถึงกรณีที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติให้มหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิก ทปอ.27 แห่ง ไปสอบถามความคิดเห็นของประชาคมในมหาวิทยาลัย ถึงความเหมาะสมในการเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียนจากเดิมเดือนมิถุนายน เป็นเดือนกันยายน เพื่อให้สอดคล้องกับสากล ว่า เรื่องนี้ต้องเข้าหารือร่วมกันในที่ประชุมองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และกระทบกับการเรียนการสอนทั้งระบบ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะต้องหารือร่วมกัน โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เองจะได้รู้ตัวว่าจะต้องปรับอะไรบ้าง

“เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แน่นอนว่า จะต้องมีการเคลื่อนย้ายกำลังคนในด้านต่างๆ ดังนั้น หากประเทศสมาชิกจะต้องปรับเวลาให้สอดคล้องกันถือเป็นเรื่องดี แต่สำหรับประเทศไทยช่วงเวลาเปิด-ปิดภาคเรียนจะสอดคล้องกับฤดูกาล ดังนั้น อาจจะต้องมีการทำวิจัยช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเรียนการสอนของของบ้านเราด้วย” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

ด้าน นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) กล่าวว่า หากจะมีการปรับเวลาเปิด-ปิดภาคเรียนนั้น ควรจะต้องปรับให้สอดคล้องกันทั้งระบบ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของนักเรียนเป็นหลัก เพราะหากปรับเฉพาะระดับอุดมศึกษาอาจมีปัญหาช่วงการส่งต่อเด็กในแต่ละระดับ อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่า หากจะดำเนินการจริงคงต้องหารือในระดับนโยบาย และต้องศึกษาด้วยว่าประเทศสมาชิกอาเซียนนั้นปรับทั้งระบบหรือไม่

รศ.ดร.นันทนา คชเสนี อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้อำนวยการบริหารเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน หรือ เอยูเอ็น (AUN) กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับ ทปอ.ที่เตรียมการปรับวันเปิดเทอมให้ตรงกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคอาเซียน เพื่อความสะดวกในการแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษาทั้งครูและอาจารย์ เพราะการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยถือเป็นส่วนสำคัญที่กระทบโดยตรงกับการผลิตบัณฑิต เพื่อรองรับตลาดอาเซียน อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนดังกล่าว ตนมองว่า ไม่จำเป็นต้องมีการปรับวันเปิด-ปิดภาคเรียน ของนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยสามารถให้นักเรียนได้ใช้เวลาช่วงที่มีการเลื่อนวันเปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัยในการพักผ่อน และเตรียมตัวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยได้อย่างเต็มที่ หลังจากที่ต้องผ่านกระบวนการสอบเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดม ศึกษาในระบบกลาง หรือ แอดมิชชัน อย่างหนักมาแล้ว

“การประกาศผลแอดมิชชันในแต่ละปี เร็วที่สุดคือ ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม จากนั้นเด็กจะมีเวลาเพียง 3 สัปดาห์ ต้องทำกระบวนการทั้งหมดให้แล้วเสร็จ เพื่อเตรียมเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ดังนั้น ถ้าเลื่อนเปิดภาคเรียนในมหาวิทยาลัยไปเป็นช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน การประกาศผลแอดมิชชันอาจไม่ต้องเร่งรัด ขณะที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็อาจมีการจัดปฐมนิเทศพิเศษ เพื่อปรับพื้นฐานให้เด็กที่มาจากต่างจังหวัด และจัดให้รับน้องในช่วงเวลาดังกล่าวให้เรียบร้อย จากนั้นจะได้เตรียมตัวศึกษาอย่างเต็มที่ ส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้เป็นการปรับตัว เมื่อโลกมันเปลี่ยนเราก็ต้องเปลี่ยน ถ้าเปลี่ยนแล้วได้ประโยชน์มากขึ้น ซึ่งไม่ได้จำเป็นว่าต้องปฏิวัติทั้งระบบ” รศ.ดร.นันทนา กล่าวและว่า ทั้งนี้ ประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันจะไม่มีการพูดคุยกันถึงการปรับวันเปิด-ปิดภาคเรียนของแต่ละประเทศ เนื่องจากอาเซียนจะไม่ก้าวล่วงการบริหารงานภายในประเทศสมาชิก แต่จากการสรุปปัญหาในภาพรวมของการทำงานระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกันจะเห็นว่า ช่วงเวลาในการเปิด-ปิดภาคเรียนที่ไม่ตรงกันถือเป็นหนึ่งในปัญหาของการขับเคลื่อนงานในกลุ่ม
กำลังโหลดความคิดเห็น