ม.มหิดล ร่วมมือภาคีประชุมนานาชาติ เตรียมรับมือโรคจากสัตว์สู่คน ชูแนวคิด One World One health เน้นการเฝ้าระวังโรคแบบองค์รวม ยกกรณีไข้สมองอักเสบ-ไข้เหลืองในอินเดีย พร้อมหารือนานาชาติเฝ้าระวัง ขณะไทยยังต้องเน้นเรื่องไข้เลือดออก-ฉี่หนู หลังน้ำลด หลังพบผู้ป่วยถูกส่งต่อรักษาใน รพ.เวชศาสตร์แล้ว 5 ราย
วันนี้ (1 ธ.ค.) ที่ รร.เซ็นทารา แกรนด์ กทม. มีการจัดประชุมวิชาการนานาชาติเวชศาสตร์เขตร้อน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-2 ธ.ค.(Joint International Tropical Medicine Meeting 2011 1-2 December) 2011ประจำปี 2554 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นแพทย์ พยาบาล เภสัชกร บุคลากรด้านสาธารณสุข ตลอดจนนักวิชาการที่เกี่ยวข้องประมาณ 600 คนจาก 25 ประเทศ โดยมี ศ.คลินิก นพ.ปิยสกล สกลสัตยาทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นประธานในการเปิดการประชุม
รศ.นพ.ประตาป สิงหศิวานนท์ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ เป็นการจัดประชุมครั้งที่ 17 โดยมีหัวข้อหลักในการประชุม คือ การใช้ยุทธศาสตร์ One world-One health หรือความเป็นเอกสุขภาพ ในเรื่องการรับมือกับการเพิ่มขึ้นของโรคระบาดจากสัตว์สู่คน ซึ่งหมายรวมถึงการเสนอแนวคิดและวิธีการใหม่ๆ ในการควบคุม ป้องกันรักษาโรคเขตร้อน และโรคอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถแพร่กระจายความรู้ในระดับนานาชาติ ซึ่งจะต้องมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ในยุคปัจจุบันที่ทุกประเทศมีการเชื่อมโยงกันง่ายขึ้น โดยมุ่งเน้นการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับโรคทั้งในสัตว์ คน รวมถึงการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในขณะนี้ด้วย เนื่องจากปัจจัยการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกที่มีถึง 7,000 ล้านคน จากเมื่อ 10 ปีก่อนมี 6,000 พันล้านคนทำให้ทั่วโลกต้องเร่งผลิตอาหารในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นซึ่ง เพื่อให้พอกับความต้องการของประชาชกรโลก เพราะจากการสำรวจของยูเอ็น (UN) พบว่า พื้นที่เพาะปลูกของโลกเหลือแค่ 1 ส่วน 3 ของพื้นผิวโลกเท่านั้น การพึ่งพาอุตสาหกรรมการผลิตอาหารจึงเพิ่มมากขึ้น โดยต้องอาศัยสารเคมีในการกระตุ้นหรือเพิ่มผลผลิต สิ่งเหล่านี้บางครั้งก็ขัดต่อธรรมาชาติทำให้เกิดโรคง่ายขึ้น
รศ.นพ.ประตาป กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์โรคที่น่าห่วง คือ โรคติดเชื้อต่างๆซึ่งทั่วโลกมีอยู่กว่า 1,400 โรค และในจำนวนนี้เป็นโรคจากสัตว์สู่คนถึง 70% เช่น โรคที่อาจมาหลังน้ำลดอย่างไข้เลือดออก โรคเลปโตสไปโรซิส หรือฉี่หนู เป็นต้น โดยจากสถานการณ์น้ำท่วมในไทยครั้งนี้ทาง โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนรับผู้ป่วยส่งต่อมารักษาตัวด้วยโรคฉี่หนูภายใน เดือน พ.ย.แล้ว 5 ราย แต่ยังไม่ใช่เชื้อที่รุนแรง ซึ่งแม้จะดูสถานการณ์โยรวมแล้วยังไม่ถือว่าระบาดหนักแต่ประเทศไทยก็จำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
“ล่าสุด ทางคณะเวชศาสตร์เขตร้อนได้ออกสำรวจครัวเรือน กว่า 500 ครัวเรือนติดตามสถานการณ์โรคในช่วงน้ำท่วม เพื่อประเมินและวิเคราะห์โรค อย่างละเอียด ในเขตปริมณฑล เช่น จ.นครปฐม โดยจะรายงานให้อธิการบดี รับทราบภายใน 1- 2วันนี้ เพื่อรายงานสถานการณ์โรคแบบองค์รวมและมีการแยกแยะองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคด้วย เช่น การเกิดน้ำเน่าซึ่งเป็นที่มาของยุงรำคาญ อันเป็นพาหะของโรคไข้สมองอักเสบเป็นต้น” รศ.นพ.ประตาป กล่าว
คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้สำหรับโรคเวชศาสตร์เขตร้อนที่ต้องเฝ้าระวังจากต่างประเทศ คือ การระบาดของโรคไข้สมองอักเสบที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 100 กว่ารายภายใน 3 เดือน ซึ่งคนไทยมีการเดินทางติดต่อกับประเทศอินเดียอย่างต่อเนื่องดังนั้นก็ต้องมีการเฝ้าระวังเตรียมรับมือด้วย เพราะไข่สมองอักเสบที่กล่าวถึงนี้ไม่ใช่ไข้สมองอักเสบ JE แต่เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ต้องศึกษาสาเหตุและอันตรายของโรคเพิ่มเติม เนื่องจากอินเดียมีการเกิดโรคไข้สมองอักเสบชนิดใหม่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง รวมทั้งการเฝ้าระวังโรคไข้เหลืองด้วย เพราะขณะนี้มีการระบาดที่บังกลาเทศและอินเดีย ซึ่งโรคนี้มีพาหะเป็นยุงลายคล้ายกับโรคไข้เลือดออก
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย และองค์กรเครือข่ายประเทศอื่น ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากองค์การพัฒนาระหว่างประเทศ สหรัฐอเมริกา (USAID) ได้มีการเตรียมการก่อตั้งสถาบันเวชศาสตร์เขตร้อนที่ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เพื่อดูแลสถานการณ์โรคในประเทศสมาชิก อาทิ ไทย อินเดีย บังกลาเทศ มัลดิฟ ติมอ เกาหลีใต้ รวมทั้งประเทศไทยเองยังมีการวางแผนร่วมกับประเทศใกล้เคียง เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ลาว ฯลฯ เพื่อพัฒนาวิชาการศึกษาแบบองค์รวมทั้งด้านแพทยศาสตร์ เภสัชกร สัตวแพทยศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และสาขาที่เกี่ยวข้องที่เรียกว่า South East Asia University One health Network ภายใต้การสนับสนุนทุนจาก USAID ให้นักศึกษารุ่นใหม่ได้มีการศึกษาอย่างรอบด้าให้ทันต่อสถานการณ์โลก