สธ.-สสส.ร่วมมือเครือข่ายเดินหน้า ผลักดันกฏหมายการควบคุมยาสูบโลก-พร้อมเดินหน้า ปรับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ปลอดบุหรี่ หลังพบคนไทยเสียชีวิตจากพิษบุหรี่ กว่า 4.8 หมื่นราย
วันนี้ (25 ส.ค.) โดย นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานในการเปิดประชุมวิชาการที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กทม.ซึ่งจัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือ ของ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการยาสูบ มหาวิทยาลัยมหิดล (ศจย.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สธ.และ เครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน จัดให้มีการประชุม “บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ” ครั้งที่ 10 ขึ้น ซึ่งประเด็นหลักของการประชุมครั้งนี้ เน้นถึง “กฎหมายการควบคุมยาสูบโลก (FCTC) เพื่อสังคมไทยไร้ควันบุหรี่”
โดยนายวิทยา กล่าวว่า ในการเปิดประชุมวิชาการฯ กล่าวถึงผลสำรวจการบริโภคยาสูบของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2552 พบว่าประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปสูบบุหรี่ 10.90 ล้านคน หรือ ร้อยละ 20.70 อัตราการสูบบุหรี่ของเพศชายเท่ากับร้อยละ 40.47 เพศหญิงเท่ากับร้อยละ 2 โดย จำนวนผู้สูบบุหรี่ทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 10.86 ล้านคน (ร้อยละ 21.22) เป็น 10.90 ล้านคน (ร้อยละ 20.70) ระหว่างปี พ.ศ. 2550 ถึงปี พ.ศ. สธ.มีแนวทางการควบคุมการบริโภคยาสูบในปี 2554 ไว้ 5 ด้าน 1. ปรับปรุงกฎหมายยาสูบ2 ฉบับให้ทันสมัย 2.เร่งรัดการบังคับใช้กฎหมาย 3.ให้ความรู้เรื่องกฎหมายและเฝ้าระวังการทำความผิด 4.ผลักดันให้เกิดบริการเลิกบุหรี่ในสถานบริการสุขภาพทุกระดับ และ5.พัฒนาชุมชนปลอดเหล้าปลอดบุหรี่ให้ครอบคลุมพื้นที่ทุกภาค
ในขณะที่ ศ.นพ. ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยข้อมูลล่าสุดจากการศึกษาของคณะทำงานภาระโรคและการบาดเจ็บที่เกิดจาก พฤติกรรมสุขภาพและปัจจัยเสี่ยง สธ. ว่า มีคนไทย 48,244 คนเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ในปี พ.ศ. 2552 เพิ่มขึ้นจากจำนวนผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ในปี พ.ศ.2547 ที่เท่ากับ 41,183 คน โดยในจำนวนนี้เป็นเพศชาย 40,995 คนและเพศหญิง 7,249 คน ในจำนวนผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่นี้ 29.45%หรือ 14,204 คนเสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี เมื่อเทียบสัดส่วนผู้ที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่กับจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดซึ่งเท่ากับ 415,900 คนของปี พ.ศ.2552 จะเท่ากับ 1: 8.6 หรือในทุก 8.6 คนไทยที่เสียชีวิต หนึ่งคนจะมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ โดยหากคิดแยกตามเพศ เพศชายสัดส่วนจะเท่ากับ 1 : 5.7 และเพศหญิงเท่ากับ 1 : 2.4 และหากรวมจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่จากการวิเคราะห์ครั้งแรกที่พบว่ามีจำนวน 41,000 คนในปี พ.ศ. 2536 จนถึงการศึกษาล่าสุดปี พ.ศ. 2552 เป็นระยะเวลา 16 ปี จะมีคนไทยที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่กว่า 640,000 คน ทั้งนี้จำนวนคนไทยเสียชีวิตยังไม่นับรวมผู้ที่เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง ซึ่งยังไม่มีข้อมูลการวิจัยสำหรับประเทศไทย
ด้าน นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่าองค์การอนามัยโลกได้จัดการประชุมร่างกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ หรือ กฏหมายการควบคุมยาสูบโลก (FCTC) ขึ้นมา โดยดำเนินการตั้งแต่ตุลาคม 2543 จนสำเร็จเมื่อกุมภาพันธ์ 2546 ซึ่งความสัมฤทธิผลของกรอบอนุสัญญาฯ นี้เป็นคุณูปการต่อการควบคุมยาสูบโลก ซึ่งอาจสรุปได้ ดังนี้ 1) มาตรา 11 คำเตือนเรื่องสุขภาพบนหีบห่อ โดย 19 ประเทศ ซึ่งประชากรรวม 1 พันล้านคน มีกฎหมายระดับสูงสุดที่กำหนดให้มีคำเตือนบนซองบุหรี่ 2) มาตรา 12 การให้ความรู้, การติดต่อสื่อสาร, การฝึกอบรม โดย 23 ประเทศซึ่งมีประชากรรวม 1.9 พันล้านคนมีการรณรงค์อันเข้มแข็งทางสื่อมวลชน 3) มาตรา 8 การปกป้องประชาชนให้พ้นภัยจากพิษควันบุหรี่ โดย ระหว่างปี 2551 ถึง 2553 ได้มี 16 ประเทศใหม่ที่ได้ออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ เป็นผลให้มี 31 ประเทศที่มีกฎหมายนี้แล้วประชาชนมากกว่า 739 ล้านคนหรือ 11% ของประชากรโลกได้รับการปกป้องให้พ้นจากภัยนี้ และ4) มาตรา 13 การห้ามโฆษณา, การส่งเสริมและการอุปถัมภ์ โดยประชาชน 425 ล้านคนใน 19 ประเทศซึ่งประกอบเป็น 6% ของประชากรโลกได้รับการปกป้องจากกลยุทธ์การตลาดของอุตสาหกรรมยาสูบ
ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการ ศจย หลังจากได้ทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนซึ่งมีผลให้ลดภาษีนำเข้าเป็นร้อยละศูนย์แล้ว อัตราการสูบบุหรี่ปัจจุบันในกลุ่มวัยรุ่นเพิ่มขึ้นเช่น กลุ่มอายุ 19-24 ปีเพิ่มจากร้อยละ 19.66 ในปี พ.ศ. 2549 เป็นร้อยละ 22.19 ในปี พ.ศ. 2552 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 140,000 คน ดังนั้นกฎหมายเรื่องนี้ไทยต้องมีความเข้มงวดขึ้น