วิจัยพบบุหรี่เถื่อนภาคใต้ พื้นที่ใกล้แนวชายแดนไทย-มาเลเซีย เช่น ปัตตานี สตูล พบบริโภคบุหรี่หลีกเลี่ยงภาษีสูงถึง ร้อยละ 30-50 ทั้ง เหล้า-บุหรี่-น้ำมันเถื่อนเป็นที่นิยม แนะทบทวนนำเข้าบุหรี่ 200 มวนต่อคน เหตุแอบนำมาขาย
วันนี้ (26 ส.ค.) ในการประชุมวิชาการ “บุหรี่กับสุขภาพ” ครั้งที่ 10 จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการยาสูบ มหาวิทยาลัยมหิดล (ศจย.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน โดย ผศ.มณฑา เก่งการพานิช คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล เปิดเผยผลวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์การบริโภคบุหรี่หลีกเลี่ยงภาษี หรือ “บุหรี่เถื่อน” ในประเทศไทย โดยศึกษาในพื้นที่ 8 จังหวัด ของภาคใต้ ซึ่งเป็นภาคที่ผลสำรวจการบริโภคยาสูบทั่วประเทศในปี 2552 พบว่า มีอัตราผู้สูบบุหรี่ซิกาแรตสูงที่สุดในประเทศไทย คือ ร้อยละ 19 ของประชากรในพื้นที่ ขณะที่ภาพรวมของประเทศอยู่ที่ ร้อยละ 15 จากการสำรวจข้อมูลจากผู้สูบบุหรี่ที่มีซองบุหรี่ติดตัวในพื้นที่ดังกล่าว จำนวน 2,048 ราย พบว่า ร้อยละ 16 ของบุหรี่ที่กลุ่มตัวอย่างสูบอยู่เป็นบุหรี่หลีกเลี่ยงภาษี โดยสังเกตจากการไม่ติดอากรแสตมป์ภาษีสรรพสามิต และไม่มีภาพ หรือข้อความคำเตือนบนซองบุหรี่
ผศ.มณฑา กล่าวว่า จังหวัดที่พบการสูบบุหรี่หลีกเลี่ยงภาษีมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ปัตตานี พบ ร้อยละ 47 สตูล ร้อยละ 29 และ สงขลา ร้อยละ 23 โดยในกลุ่มผู้บริโภคหลักของผู้ที่สูบบุหรี่หลีกเลี่ยงภาษี ได้แก่ เป็นนักเรียนนักศึกษา ซึ่งพบร้อยละ 27 หรือ มากกว่า 1 ใน 4 ของผู้บริโภคบุหรี่ผิดกฎหมายทั้งหมด นอกจากนี้ ผู้หญิง และ ผู้มีฐานะยากจน ยังตกเป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญ ประเด็นที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง คือ ร้อยละ 76 ของบุหรี่หลีกเลี่ยงภาษีมีที่มาจากร้านขายของชำ โดยจำหน่ายกันในราคาซองละ 10 กว่าบาทเท่านั้น
“สถานการณ์ที่พบจากการลงพื้นที่วิจัยในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาในครั้งนี้ นับว่า น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดที่มีพื้นที่ติดแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่ขายสินค้าปลอดภาษี เช่น ปัตตานี สตูล ที่พบว่า มีการบริโภคบุหรี่หลีกเลี่ยงภาษีสูงถึง ร้อยละ 30-50 ทั้งนี้ ขณะที่ลงพื้นที่ศึกษามีคำถามที่ได้ยินบ่อยๆ ว่า ซื้อ “สินค้าโอทอป” ของพื้นที่ คือ เหล้า บุหรี่ น้ำมัน หรือยัง สะท้อนให้เห็นว่า ขณะนี้สินค้าหนีภาษีได้กลายเป็นของขึ้นหน้าขึ้นตา และเป็นที่ถามหากันอย่างมากในพื้นที่นี้” ผศ.มณฑา กล่าว
ผศ.มณฑา กล่าวว่า นโยบายที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่ข้ามไปเที่ยวในเขตชายแดนสามารถนำบุหรี่เข้าประเทศไทย โดยไม่ต้องเสียภาษีได้ 20 ซอง หรือ 200 มวน เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้บุหรี่หลีกเลี่ยงภาษีถูกนำเข้ามาจำหน่ายได้อย่างถูกกฎหมาย โดยมีบริษัทท่องเที่ยวฉวยโอกาสใช้สิทธินำเข้าบุหรี่ตามเงื่อนไขนี้แทนนักท่องเที่ยวในกรุ๊ปทัวร์ที่ไม่ซื้อบุหรี่ นอกจากนี้ ยังมีผลวิจัย เรื่อง การสูบบุหรี่ของนักท่องเที่ยวต่างประเทศในประเทศไทย ที่ศึกษาในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน พบว่า ชาวต่างประเทศที่มาท่องเที่ยวในไทยที่สูบบุหรี่ ร้อยละ 41 นำบุหรี่จากนอกประเทศเข้ามาสูบในเมืองไทย
“จากสถานการณ์ที่พบในการวิจัยทั้ง 2 หัวข้อ ชี้ให้เห็นว่า นโยบายที่อนุญาตให้นำบุหรี่ผ่านพรมแดนเข้าประเทศไทยได้ 200 มวน เป็นเรื่องที่รัฐต้องเร่งทบทวนว่าควรมีอยู่หรือไม่ เพราะไม่เพียงแต่ทำให้ประเทศไทยสูญเสียภาษีที่พึงได้ไปไม่น้อยแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงให้เด็ก เยาวชน ผู้หญิง และประชาชนที่มีฐานะยากจน ตกเป็นเหยื่อบุหรี่ เพราะบุหรี่หลบเลี่ยงภาษีเหล่านี้มีราคาถูกกว่าบุหรี่ในท้องตลาดทั่วไปหลายเท่า อีกทั้งดูเท่ห์เพราะเป็นของนอก” ผศ.มณฑา กล่าว