xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! วัยโจ๋ 11-24 ปี สูบบุหรี่กว่า 1.7 ล้านคน สธ.ตั้งเป้าต้องลดให้ได้ 10%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
สธ.เดินหน้าเตรียมงาน “วันงดสูบบุหรี่โลก” หลังพบสถิติเยาวชนสูบเพิ่มขึ้น  อึ้ง! วัยโจ๋ อายุ 11-24 ปี สูบจัด 1.7 ล้านคน  เร่งรณรงค์ลดนักสูบรุนเยาว์ ตั้งเป้า 5 ปี ต้องลดไม่น้อยกว่า 10% สาเหตุกว่าครึ่งคือ อยากลอง
 

วันนี้ (23 พ.ค.) นายจุรินทร์   ลักษณวิศิษฏ์   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณ (สธ.) แถลงข่าวถึงความคืบหน้าการการจัดกิจกรรมวันงดสูบบุหรี่โลก ซึ่งตรงกับวันที่ 31 พ.ค.ของทุกปี ว่า  ในปี 2554  ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 170 ประเทศ ที่เข้าร่วมได้ยึดประเด็นในการรณรงค์ตามที่องค์การอนามัยโลก(WHO)ได้กำหนดไว้ คือ “The WHO Framework Convention on Tobacco Control  : WHO FCTC” หรือพิทักษ์สิทธิ์ตามกฎหมาย มุ่งสู่สังคมปลอดบุหรี่   ซึ่งถือเป็นหลักสากลที่ประเทศต่างถือปฏิบัติร่วมกันตามอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ   อย่างไรก็ตาม ทาง สธ.ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องยาสูบ โดยบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535  อย่างเคร่งครัด และมุ่งเน้นการลดจำนวนนักสูบที่เป็นเยาวชนอายุ  15   ปีขึ้นไป ตามแผนควบคุมการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่า ภายใน 5 ปี ( 2553-2557) จะต้องลดให้ได้ไม่น้อยกว่า 10 %และลดจำนวนมวนบุหรี่ให้ได้ไม่น้อยกว่า 20 %   
               

“ในปี 2554 WHO กระทรวงสาธารณสุข  และภาคีเครือข่าย จะจัดงานวันงดสูบบุหรี่โลกขึ้นที่สยามพารากอน โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นประธานในพิธีเปิด และประทานรางวัล World  No Tobacco Day Award 2011 แก่บุคคลและหน่วยงานที่ทำประโยชน์ด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบด้วย” นายจุรินทร์  กล่าว 
               

ดร.มัวรีน  อี.เบอร์มิงแฮม (Dr.Maureen E.Birmingham) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า    อนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบนั้น เป็นอนุสัญญาที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งประเทศสมาชิกกว่า 170 ประเทศลงนามร่วมกันในระดับสากล โดยหลักการประกอบไปด้วยเรื่องสำคัญ อาทิ  การปกป้องนโยบายสาธารณสุขของประเทศจากการแทรกแซงหาผลประโยชน์ของธุรกิจยาสูบ   ใช้มาตรการด้านภาษีและราคาในการลดอุปสงค์ยาสูบ  คุ้มครองประชาชนจากการได้รับควันบุหรี่   การควบคุมบรรจุภัณฑ์และการแสดงฉลากผลิตภัณฑ์ยาสูบ การเตือนประชาชนเกี่ยวกับอันตรายของยาสูบ การห้ามโฆษณา ส่งเสริมการขาย การให้ทุน ฯลฯ  โดยในปีนี้จะมุ่งเน้นไปในการรณรงค์ลดจำนวนผู้สูบที่เป็นเยาวชน เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนตามเป้าหมายที่วางไว้

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น  รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงสถานการณ์การสูบบุหรี่ของประเทศไทยว่า ปัจจุบันถือว่า มีแนวโน้มที่ลดลงกว่าเดิม โดยจากข้อมูลเปรียบเทียบปี 2534 พบว่า มีผู้สูบบุรี่จำนวน 12.26 ล้านคน แต่ในปี 2552 พบเหลือแค่ 10.91 ล้านคน โดยเพศชายลดลงจาก  11.30 ล้านคน  เหลือแค่ 10.36 ล้านคน โดยลดลงจากเดิมจำนวน 9.4 แสนคน ขณะที่เพศหญิงลดลงจาก 9.53 แสนคน เหลือ 5.45 แสนคน ลดลง 4.08 แสนคน    ขณะที่สถานการณ์การสูบบุหรี่ของเยาวชน 11-24 ปี พบมีการสูบที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2550 พบสูบจำนวน 1.6 ล้าน และในปี 2552 พบสูบ 1.7 ล้าน คน โดยในจำนวนนี้มีเยาวชนอายุ 15-18 ปี สูบบุหรี่จัดเพิ่มขึ้นจาก 7.25 %   เป็น 7.62% ขณะที่อายุ 19-24 ปี เพิ่มจาก 21.27 เป็น 22.19 %   โดยสาเหตุส่วนใหญ่ที่เยาวชนมีอัตราการสูบบุหรี่จัดเพราะอยากลองสูบ มีอยู่ 56.44 %
               

อนึ่ง ภายในงานจะมีการมอบรางวัล World No Tobacco Day Award 2011 โดยแบ่งเป็น 2 รางวัล คือ  1.รางวัลจากผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO Director Regional Award  ได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สธ.ในฐานะเป็นผู้สนับสนุน ผลักดัน และดำเนินการจริงจังตามอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบองค์การอนามัย โลก และ2.รางวัลระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ WHO South East Asia Regional Director Award ได้แก่ รศ.(พิเศษ) ดร.นันทวรรณ วิจิตรวาทการ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มธ.และ รศ.กรองจิต วาทีสาธกกิจ ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อการไม่สูบบุหรี่
กำลังโหลดความคิดเห็น