xs
xsm
sm
md
lg

เร่งดัน “สถานศึกษาปลอดควัน” ชี้โจ๋ไทย 30% หลงผิดติดบุหรี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สสส.-ศจย.จับมือ ก.ศึกษาฯ ผลักดันล้อมรั้วสถานศึกษาปลอดควัน ชี้ เยาวชนไทยยังหลงผิด เกือบ 30% คิดว่าสูบแล้วมีเพื่อน มีเสน่ห์ แต่ต้องการเลิกเพียบ ศธ.เร่งออกหลักสูตรป้องกันเหยื่อหน้าใหม่ หมอหทัย แนะ 3 หลักป้องกัน พร้อมเปิดตัวหนังสือ “มายา ยาสูบ” เปิดช่องทางรู้ทันกลยุทธ์ยาสูบ

                ที่ โรงแรมสยามซิตี ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการยาสูบ (ศจย.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ  กระทรวงศึกษาธิการ  เครือข่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน จัดงานเสวนา “การควบคุมยาสูบในสถานศึกษา”  โดยนางจุไรรัตน์  แสงบุญนำ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (รอวปลัด ศธ.)  กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)  ร่วมมือในการควบคุมยาสูบในสถานศึกษา ให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษา ร่วมกำหนดมาตรการปลอดบุหรี่ ร่วมกับครู อาจารย์ ผู้ปกครอง และชุมชน ด้วยกัน  รวม ทั้งจะกำหนดให้บรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนโรคที่เกี่ยวกับบุหรี่ และสำรวจสภาพการใช้สารเสพติดในสถานศึกษาทุกแห่งในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ปีละ 2 ครั้ง เพื่อจัดระบบการดูแล ป้องกัน สร้างจิตสำนึก รวมทั้งบำบัดรักษา ซึ่งเป็นการให้ความรู้ควบคู่การควบคุม โดยจะมีโทษทางวินัย หากพบว่ามีการสูบบุหรี่เมื่ออยู่ในเครื่องแบบ

                ดร.ศิริวรรณ  พิทยรังสฤษฏ์  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)  กล่าวว่า  จากข้อมูลเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อ สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ล่าสุด เมื่อปี 2552 ทำการสำรวจเยาวชนไทยอายุ 13-15 ปี ทั่วประเทศจำนวน 7,649 คน พบว่า เยาวชนที่สูบบุหรี่ทั้งชนิดมีควัน และไม่มีควันอยู่ที่ 15.6% และ 45.7% สัมผัสควันบุหรี่มือสองทั้งในบ้าน และนอกบ้าน ที่น่าเป็นห่วง คือ เยาวชน 28.9% คิดว่า การสูบบุหรี่ทำให้มีเพื่อนมากขึ้น และอีก 8.3% คิดว่าการสูบบุหรี่ทำให้มีเสน่ห์ แต่ก็ยังมีเยาวชนที่ต้องการเลิกบุหรี่ถึง 75.5% จึงจำเป็นต้องให้ความรู้และความช่วยเหลือในการเลิกบุหรี่ เพื่อไม่ให้กลายเป็นเหยื่อนักสูบหน้าใหม่ ทั้งนี้ ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 มีการหารือเกี่ยวกับการควบคุมยาสูบในสถานศึกษา โดยให้กระทรวงศึกษาธิการบรรจุเรื่องโรคที่เกี่ยวกับบุหรี่เข้าไปในหลักสูตร การเรียนการสอน และป้องกันปัญหาในสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีบุคลากรในสถานศึกษาเป็นตัวอย่าง ถือเป็นทางออกหนึ่งในการปรับเปลี่ยนสังคมให้ปลอดนักสูบหน้าใหม่

                นพ.หทัย  ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า การป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเยาวชนที่สำคัญ 3 เสาหลัก คือ 1.การให้ความรู้ โดยจัดโปรแกรมการให้การศึกษาเรื่องบุหรี่และสุขภาพในโรงเรียนควบคู่ไปกับการรณรงค์ผ่านสื่อมวลชน  2.ลดปัจจัยยั่วยุ เช่น สร้างคนต้นแบบ ใช้มาตรการลดการทำการตลาด สกัดบุหรี่บางประเภท อาทิ ชูรส บุหรี่ขนมหวาน และบุหรี่เมนทอล 3.ลดช่องทางการเข้าถึงกลุ่มเยาวชน อาทิ การขายปลีก การขายทางอินเทอร์เน็ต เครืองขายอัตโนมัติ การกำหนดภาษีให้บุหรี่มีราคาสูง หากทำมาตรการดังกล่าวควบคู่กันจะทำให้ปริมาณการเพิ่มขึ้นของนักสูบหน้าใหม่ ลดลงอย่างแน่นอน

                นางอนงค์ พัวตระกูล รองประธานเครือข่ายครูนักรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  กล่าวว่า เครือข่ายครูนักรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เป็นกลุ่มครูอาสาสมัครที่รวมตัวเพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนตกเป็นเหยื่อของยาเสพติดชนิดต่างๆ ตั้งแต่ปี 2548 ขอเรียกร้องและสนับสนุนให้กระทรวงศึกษาธิการผลักดันให้เกิดการเรียนการสอน เรื่อง บุหรี่ในหลักสูตรการเรียนการสอน รวมถึงสอดแทรกในการจัดกิจกรรมนอกหลักสูตร  โดยก่อนหน้านี้ เครือข่ายฯ ได้จัดทำคู่มือครูในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ “โรงเรียนปลอดบุหรี่” เพื่อกระจายให้ครูได้ใช้ในการเรียนการสอน แต่หากเป็นนโยบายจากกระทรวงศึกษาโดยตรง เชื่อว่า จะทำให้เกิดการสอนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

             ดร.พญ.รัศมี สังข์ทอง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การเรียนการสอนเพื่อให้เท่าทันพิษภัยของบุหรี่ถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่ง สสส.ร่วมกับ ศจย.และ สวทช.จัดทำหนังสือ “มายา ยาสูบ” เพื่อให้ประชาชนทั่วไปและเยาวชน เกิดความรู้ ความเข้าใจ พิษภัยจากบุหรี่ทุกชนิด ความเข้าใจผิดที่เกี่ยวกับบุหรี่ ด้วยเนื้อหาง่ายๆ กระชับได้ใจความ เพื่อให้เข้าใจง่าย เน้นมุมมองของพ่อ แม่ ครู ผู้ใหญ่ ในสังคมที่จะสามารถชี้แนะให้เยาวชน เห็นว่า การป้องกันการสูบบุหรี่เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ  ซึ่งเชื่อว่า การให้ความรู้เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชนไม่ตกเป็นเหยื่อของบุหรี่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น