เอเอฟพี - นโยบายประชานิยมของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งมุ่งเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว อาจทำให้ราคาข้าวทั่วโลกผันผวน และยุทธศาสตร์เช่นนี้ก็อาจเป็นการ “ทำร้ายตัวเอง” ในที่สุด ผู้เชี่ยวชาญเตือน
ไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก เตรียมเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าว โดยจะรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาในราคาตันละ 15,000 บาท ตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้ เป็นต้นไป จากปัจจุบันที่ราคาเพียง 10,000 บาทต่อตัน
แผนดังกล่าวซึ่งเป็นหนึ่งในคำสัญญาที่ช่วยให้พรรคเพื่อไทย และแนวร่วมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กำลังถูกจับตามองในฐานะตัวการซึ่งอาจทำให้ราคาข้าวทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น
แม้จะยังไม่ชัดเจนว่า นโยบายดังกล่าวจะมีผลอย่างไรต่อผู้บริโภคทั่วโลก ทว่า ราคาข้าวที่เริ่มขยับสูงขึ้น ทำให้ผู้สังเกตการณ์ต่างเกรงว่า ประเทศยากจนที่พึ่งพาการนำเข้าข้าวจะได้รับผลกระทบรุนแรง
ข้าวถือเป็นอาหารหลักของประชากรกว่า 3,000 ล้านคนทั่วโลก หรือราวครึ่งหนึ่งของประชากรโลกทั้งหมด โดยไทยนับเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ประมาณ 1 ใน 3 ของตลาด และมีลูกค้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน, บังกลาเทศ, ฟิลิปปินส์, แอฟริกาใต้ และ ไนจีเรีย
ราคาส่งออกข้าวเพิ่มจาก 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 600 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา เนื่องจากชาวนาพากันกักตุนข้าวเปลือกเพื่อรอรับประโยชน์จากนโนบายจำนำข้าวของรัฐบาล บทวิเคราะห์จาก แคปปิตอล อีโคโนมิกส์ ในกรุงลอนดอน เผย
ด้าน สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ซึ่งเกรงว่า ประเทศอาจสูญเสียตำแหน่งผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก เตือนว่า ราคาข้าวอาจสูงถึง 800 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน
วิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า นโยบายของรัฐบาลจะทำให้ราคาข้าวไทย “สูงกว่าประเทศคู่แข่งทั้งหมด”
“รัฐบาลไหนก็ตามในโลกนี้ เมื่อจะเข้าไปอุดหนุนสินค้าของตัวเอง ก็ต้องเป็นไปเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน แต่รัฐบาลไทยกลับทำตรงกันข้าม” เขากล่าว
กระทรวงการเกษตรสหรัฐฯ ทำนายว่า ปริมาณการส่งออกข้าวไทย ซึ่งคาดว่าจะสูงถึง 10 ล้านตันในปีนี้ จะลดลง 20 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2012 แม้ว่ามูลค่าการค้าโลกมีแนวโน้มจะหดตัวลงเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ก็ตาม
รายงานของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ เมื่อต้นเดือนกันยายน ระบุว่า ผู้ส่งออกข้าวเวียดนามใช้ศักยภาพในการแข่งขันที่เหนือกว่าเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้ถึง 4 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม เนื่องจากปริมาณข้าวในตลาดไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ในการประชุมที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อไม่นานนี้ ตัวแทนผู้ส่งออกข้าวไทยและเวียดนาม ต่างเตือนถึงผลกระทบด้านราคาที่ผู้บริโภคจะต้องแบกรับ
“เวียดนาม เกรงว่า ราคาข้าวไทยที่สูงขึ้นอาจส่งผลให้ความต้องการข้าวเพื่อการบริโภคภายในประเทศของเวียดนามสูงขึ้นตามไปด้วย” ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเผย พร้อมอ้างถึงตัวเลขเงินเฟ้อของเวียดนามที่พุ่งแตะ 2 หลักแล้ว
รายงานจากเครือข่ายเตือนภัยความอดอยากล่วงหน้า (FEWS NET) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐฯ (USAID) เตือนว่า ราคาข้าวในเอเชียสูงขึ้นอย่างมากตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากนโยบายรับจำนำข้าวของไทย
“หากไม่ใช้นโยบายรัฐเข้าแทรกแซง ราคาข้าวจะค่อนข้างคงที่” องค์กรดังกล่าว ระบุ
“อย่างไรก็ตาม หากราคาข้าวยังสูงขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นผลเสียต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศที่ขาดแคลนและมีรายได้น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อราคาน้ำมันสูงและเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว”
ด้วยสถานะผู้นำการส่งออกข้าวของไทยทำให้หลายฝ่ายวิตก ว่า ราคาข้าวในตลาดโลกอาจสูงแตะระดับ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เหมือนที่เคยเกิดเมื่อปี 2008
ด้าน แคปปิตอล อีโคโนมิกส์ ระบุว่า ราคาข้าวไม่น่าจะพุ่งสูงเท่าเมื่อปี 2008 โดยมองจากสมมติฐานที่ว่ารัฐบาลไทยน่าจะกักตุนข้าวไว้เป็นจำนวนมาก และขายออกในราคาต่ำกว่าทุน
อัมมาร์ สยามวาลา นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งมีส่วนในโครงการประกันราคาข้าวของรัฐบาลที่แล้ว กล่าวว่า ชาวนาไทยส่วนใหญ่ไม่ได้มีฐานะยากจนอย่างที่เข้าใจกัน
เขาเตือนว่า โครงการจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทย จะเปิดโอกาสให้มีการทุจริตคอร์รัปชัน และยังเผยต่อสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ผลวิจัยโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลทักษิณ เมื่อปี 2005 พบว่า งบประมาณที่ใช้จ่ายไปทั้งหมดตกถึงมือชาวนาเพียง 37 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น