ยะลา - มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ร่วมกับ (USAID) จัดเวทีประชาคม ระดมความคิดเห็น โครงการสร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบของพลเมืองในการเมือง ขณะที่นักวิชาการยะลา ชี้ รัฐบาลใหม่ต้องเรียนรู้บทเรียนจากรัฐบาล พ.ต.อ.ทักษิณ ในข้อผิดพลาด ในการใช้ความรุนแรงดับไฟใต้
วันนี้ (20 ก.ค.) ที่ห้องประชุมวังแก้ว ชั้น 1 โรงแรมยะลาแกรนด์พาเลซ เขตเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา ผศ.ไกรศร ศรีไตรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นประธานในพิธีเปิดการจัดเวทีประชาคม ระดมความคิดเห็นโครงการสร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบของพลเมืองในการเมือง (USAID)
โดยมี ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา พร้อมด้วย ตัวแทนจากหน่วยงานราชการ ภาคประชาสังคม องค์กรอิสระ ผู้นำศาสนา สื่อมวลชนในพื้นที่ เข้าร่วมในงานกว่า 40 คน สำหรับ USAID เป็นองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา เข้ามาดำเนินโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย (SAPAN) เป็นโครงการใหม่จะช่วยเสริมสร้างบทบาทขององค์กรภาคประชาสังคม โดยมุ่งเน้นความจำเป็นในการสร้างความร่วมมือกับรัฐบาลไทย การสนับสนุนการพูดคุยเชิงสร้างสรรค์ เพื่อนำไปสู่ฉันทามติ ตลอดจนลดความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง USAID จะไม่ให้การสนับสนุนแก่พรรคการเมือง หรือ องค์การเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น
ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า การจัดโครงการสร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบของพลเมืองในการเมือง ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กับโครงการสะพาน (USAID) เพื่อเป็นการชี้แจงปรัชญาที่มาของโครงการ และสร้างจิตสำนึกนึกความรับผิดชอบร่วมกันของพลเมืองในการเมืองการปกครอง และการเสริมสร้างพัฒนาศักยภาพให้องค์กรชุมชน และประชาสังคม ให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นในกระบวนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
การสะท้อนปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น หลักๆ คือ ต้องดูที่ปัญหาของพี่น้องประชาชน ว่าแท้จริงแล้วปัญหานั้นอยู่ตรงไหน ความต้องการของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างไร ซึ่งตรงนี้เอง ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จะนำข้อมูลที่ได้จากพี่น้องประชาชนมาศึกษา วิเคราะห์ และ ทำหน้าที่ในการให้ข้อมูล แนะแนวทาง ที่ถูกต้อง เพื่อที่จะเป็นข้อมูลนำกลับไปสู่การลงมือปฏิบัติของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่อไป
ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ในฐานะนักวิชาการ กล่าวในเรื่องที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาแถลงและขอโทษพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อเหตุการณ์รุนแรง เมื่อสมัยที่ตนเองดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนเหตุการณ์มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ตนเองมองว่าค่อนข้างที่จะมีความชัดเจนว่า และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ว่า กระบวนการใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง สิ่งเหล่านี้ในพื้นที่มีการเรียกร้องอยู่ตลอดเวลา ว่า จะทำอย่างไรให้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดความสงบ ซึ่งการใช้ความรุนแรงในอดีตทำให้เหตุการณ์บานปลายมาจนถึงปัจจุบัน
ฉะนั้น เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวขอโทษต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ผิดพลาดไปแล้วที่ได้ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาในพื้นที่ ก็เป็นโจทย์หนึ่งที่ต้องส่งต่อไปยังรัฐบาลในปัจจุบัน ว่า อย่าใช้ความรุนแรงต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งความรุนแรงไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ได้ แต่คำขอโทษของท่าน พ.ต.ท.ทักษิณ เพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ จะต้องอยู่ที่จิตใจและนโยบายที่ส่งทอดถึงพื้นที่อย่างแท้จริง คมชัด ละเอียด เพราะท่าน พ.ต.ท.ทักษิณ ท่านบอกว่า ท่านพลาด ถ้าหากมีการพลาดซ้ำสอง จะเป็นความหายนะของพื้นที่
ตนเองขอวิงวอนต่อรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นมา คือ พรรคเพื่อไทย จะต้องมีความรอบคอบ ความละเอียด ในการตัดสินใจ อย่าด่วนสรุปในการตัดสินใจ และอย่าปรับเปลี่ยนอย่างฉับพลัน ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายต่อพื้นที่ ตนเองอยากเห็นความรอบคอบ ละเอียดอ่อน และนำสิ่งต่างๆ มาสู่ในพื้นที่อย่างรอบคอบ ซึ่ง พรรคเพื่อไทย จะต้องมีแนวนโยบาย ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างถูกต้อง ถูกจุด โดยไม่ใช้ความรุนแรง ตนเองไม่อยากให้ต้องมีรัฐบาลชุดไหน ออกมาขอโทษซ้ำสอง ซ้ำสาม ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่ดี เพราะพี่น้องประชาชนต้องสูญเสียชีวิต ต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง มันไม่พอกับการขอโทษ แต่นโยบายต่างหากที่มีความจริงใจต่อพี่น้องประชาชน นั่นคือ การขอโทษที่แท้จริง