ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - “นิธิ” ปาฐกถางานโครงการประชาธิปไตยกับท้องถิ่น ชี้ การเมืองไทยเป็นเรื่องของชนชั้นนำมาตลอด-มีคนชั้นกลางหนุน แต่ภายหลังการเมืองเปลี่ยนก้าวตามไม่ทัน จึงต้องแทรกแซง ชี้ คนกลุ่มอื่นเริ่มตระหนักบทบาท ในระยะยาวต้องเดินตามระบบการเลือกตั้ง-สร้างกลไกควบคุม พร้อมบอกชนชั้นสูงอย่ากลัวระบบเลือกตั้ง แนะมีต้นทุนทั้ง “เงิน-วัฒนธรรม” มากกว่า เล่นตามกติกาแล้วมีโอกาสชนะแน่
วันนี้ (11 ก.ค.) ที่ห้องประชุมใหญ่ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์กล่าวในการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ปฏิรูปสังคมไทยหลังการเลือกตั้ง : บทบาทชนชั้นนำและการเมืองภาคประชาชน” ว่า ตนเห็นว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยนั้น หากในอนาคตชนชั้นนำกล้าเปลี่ยนแปลง ด้วยการหันมาต่อสู้ผ่านระบบการเลือกตั้ง โดยไม่พยายามที่จะใช้กลไกอื่นๆ นอกเหนือจากระบบการเลือกตั้งมาขัดขวาง ในระยะยาวคนกลุ่มนี้น่าจะได้ชัยชนะ เพราะเป็นกลุ่มคนที่มีต้นทุนทางการเมืองและวัฒนธรรมมกกว่าชนชั้นอื่นๆ ในสังคม
อย่างไรก็ตาม การที่ชนชั้นสูงซึ่งมีบทบาทมาตลอดในระบบการเมืองไทยไม่พร้อมที่จะปรับตัว และหวาดหวั่นกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งมีผลมาจากการยึดระบบการเลือกตั้ง ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องเข้ามาแทรกแซงผ่านกลไกต่างๆ อาทิเช่น การรัฐประหาร เพื่อควบคุมไม่ให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนเข้าสู่ความไร้ระเบียบในทัศนะของชนชั้นนำ
การปาฐกถาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงงานประชุมเปิดตัวโครงการ “ประชาธิปไตยกับท้องถิ่น ซึ่งศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินการร่วมกับโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย ภายใต้ทุนสนับสนุนจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development - USAID)
โครงการดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่เดือน พ.ค.2554 ถึงเดือน มิ.ย.2555 ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทั้งการวิจัย การประชุมสัมมนา ตลอดจนการให้ทุนศึกษาวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้และเสริมสร้างศักยภาพความเข้มแข็งขององค์กรภาคประชาสังคม ในการมีส่วนเสริมสร้างการปกครองส่วนท้องถิ่นที่โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการการกระจายอำนาจการปกครอง อันจะนำไปสู่ปฏิรูปสังคมไทย และการแก้ไขปัญหาทางการเมืองต่างๆ ในสังคมไทยที่มีผลสืบเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างและความไม่เป็นธรรมต่างๆ ในสังคม
ศ.ดร.นิธิ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ชนชั้นสูงเป็นผู้ที่กำหนดรูปแบบของการเมืองของประเทศ ดังนั้นการเมืองจึงเป็นเรื่องของการแบ่งสรรทรัพยากรในกลุ่มชนชั้นนำ โดยมีคนชั้นกลางระดับกลางเป็นผู้สนับสนุน เนื่องจากแม้ว่าจะมีลักษณะเป็นชั้นที่มีการศึกษาและมีบทบาทในการกำหนดค่านิยมและรากฐานต่างๆ ทางสังคม แต่กลับไม่มีความสามารถในการจัดองค์กร และต้องพึ่งพาการบริการจากรัฐอย่างมาก ทำให้ต้องการรัฐที่จะตอบสนองความต้องการของตน และรู้สึกไม่สบายใจหรือถูกละเลยเมื่อเห็นว่ารัฐให้ความสำคัญกับชนชั้นอื่นมากกว่า อาทิเช่นการมีนโยบายประชานิยม เป็นต้น
ขณะที่การจัดสรรทรัพยากรของชนชั้นสูงนั้น มีการวางกติกาและการจัดสรรให้ได้รับกันอย่างทั่วถึง หรือหากมีความขัดแย้งก็จะไม่ลุกลามไปสู่การทำลายล้างกันอย่างหนัก โดยมีการคอร์รัปชันเป็นเครื่องมือที่ช่วยแพร่ขยายการเข้าถึงทรัพยากร ไม่ให้ทรัพยากรกระจุกตัวอยู่เฉพาะกับชนชั้นสูงเพียงกลุ่มเดียว ดังนั้น การคอร์รัปชันจึงเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองของชนชั้นนำมาโดยตลอด
แต่การเมืองดังกล่าวมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เมื่อมีการใช้รัฐธรรมนูญ 2540 และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถนำชนชั้นอื่นมาใช้เป็นคะแนนเสียงของตนได้ ขณะเดียวกัน ก็ก่อให้เกิดกลุ่มทุนใหม่ๆ ที่ก้าวเข้ามาสะสมทุนได้มากกว่ากลุ่มเดิมๆ โดยไม่มีการแบ่งสรรตามกติกาเดิมที่มี เมื่อประกอบกับการที่กลุ่มการเมืองและกลุ่มทุนไม่สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดการขัดขวางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ศ.ดร.นิธิ ยังกล่าวถึงการเมืองในภาคประชาชนด้วยว่า สิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การจัดสรรทรัพยากรส่วนกลางมาสู่ชนชั้นล่างในสังคม ทำให้คนกลุ่มนี้ตระหนักว่าตนเองมีบทบาทในระบบการเมือง ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความตั้งใจของ พ.ต.ท.ทักษิณเลย แต่การที่ชนชั้นอื่นๆ เห็นความสำคัญของความจำเป็นในการมีบทบาททางการเมืองก็ถือเป็นผลพลอยได้ที่ดี และในอนาคตแม้ว่าระบบการเลือกตั้งอาจจะนำมาซึ่งนักการเมืองที่ไม่ดี แต่ในเมื่อก่อนหน้านี้การเมืองก็มีการต่อรองและจัดสรรทรัพยากรในกลุ่ม ซึ่งก็ทำอย่างสกปรกอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่สำคัญกว่า คือ การทำให้ประชาชนมีอำนาจที่จะควบคุมการเมืองได้อย่างแท้จริง และมีพื้นที่และเวทีที่จะต่อรองผลประโยชน์ของตนเองได้โดยไม่ถูกแทรกแซงจากปัจจัยอื่นๆ