สูตรใหม่ว่าด้วยตัวเลขจำนวนส.ส.ที่ “พรรคภูมิใจไทย” นำเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งโดยกำหนดให้มี ส.ส.เขต 400 ส.ส.สัดส่วน 125 เพื่อผ่าทางตัน
หลังตกลงกันไม่ได้ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลที่ต้องการตัวเลข 400 + 100 ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ ยืนตามร่างของคณะกรรมการชุดสมบัติ ธำรงค์ธัญวงศ์ คือ 375 + 125
ถือเป็นหลักคิดที่สะท้อนภาพความเห็นแก่ตัวของนักเลือกตั้งซ้ำซาก
เพราะตัวเลขใหม่ที่เสนอในสูตร 400 + 125 ที่อ้างว่าเป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างสูตร 375 + 125 กับ 400 + 100 นั้น แท้จริงแล้วผลของมันจะ วิน-วินเฉพาะในหมู่นักเลือกตั้งเท่านั้น
แต่คนทีสูญเสียประโยชน์คือ ประชาชนและประเทศชาติ เพราะพื้นฐานความคิดนี้ไม่มีหลักวิชาการใด ๆ มารองรับว่า การเพิ่มจำนวน ส.ส.เข้าไปอีก 45 คน จากรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่กำหนดให้มีส.ส.เขต 400 และสัดส่วน 80 รวม 480 คนนั้น ประชาชนได้อะไรจากการเพิ่มส.ส.ดังกล่าว
ไม่มีคำอธิบายในเชิงเปรียบเทียบที่จะทำให้เห็นชัดเจนถึงประโยชน์ของประเทศชาติ แต่กลับมีคำอธิบายที่น่าขยะแขยงเกี่ยวกับประโยชน์ทางการเมือง โดยที่นักเลือกตั้งในนามพรรคภูมิใจไทยมิได้ละอายใจแม้แต่นิดเดียว
คิดกันแบบตัวเลขกลม ๆ หากรัฐสภาบ้าจี้จบปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบเลือกตั้งด้วยสูตร 400 + 125 ก็จะทำให้ประเทศชาติสูญเสียงบประมาณให้กับ ส.ส.ที่เพิ่มเข้ามาอีก 45 คน ประมาณ 4 ล้าน 5 แสนบาทต่อเดือน (คิดเฉลี่ยเงินเดือน ส.ส.ที่ 1 แสน) ปีละ 54 ล้านบาท ยังไม่นับรวมสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่ ส.ส.พึงจะได้รับอีก
เป็นตัวเลขที่มีความชัดเจนถึงรายจ่ายจากงบประมาณ โดยไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่า ส.ส. 45 คนที่เพิ่มเข้ามาหนักอาคารรัฐสภา จะทำงานคุ้มค่ากับค่าตอบแทนที่เป็นภาษีจากหยาดเหงื่อแรงกายของประชาชน แต่น่าจะเป็นการพาพวกเสือหิวมาปล้นชาติมากกว่า
หากพิจารณาจากภาพรวมของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีพฤติการณ์ที่สะท้อนวิธีคิดของสมาชิกรัฐสภาได้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าในส่วนของพรรคการเมืองก็มุ่งที่จะสร้างกติกาใหม่ที่ตัวเองได้ประโยชน์สูงสุด ขณะที่สมาชิกวุฒิสภาซึ่งควรจะเป็นที่พึ่งหรือเป็นหลักในการแก้ไขกฎหมายสำคัญของชาติบนวิธีคิดที่ยึดประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ทางการเมืองกลับอยู่ในภาวะ
ห่วงสถานะของตัวเอง มากกว่าที่จะเป็นหลักให้กับบ้านเมือง
โดยวุฒิสภาสรรหาส่วนหนึ่งก็กังวลอยู่กับการครบวาระของตัวเองและกระวีกระวาดที่จะต่อท่อเพื่อให้ตัวเองได้รับการคัดเลือกกลับเข้ามาเป็นวุฒิสภาอีกรอบ หลังจะครบวาระ 3 ปี ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ ถึงขนาดบางคนเตรียมลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระเพื่อป้องกันไม่ให้คุณสมบัติมีปัญหาหากได้รับการคัดเลือกกลับเข้ามาอีกครั้ง
โดยมิพักที่จะคิดถึงหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ ส.ว.ที่สิ้นสุดสมาชิกภาพตามวาระต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี ส.ว.ใหม่
น่าขำที่คนเหล่านี้จ้องจะกลับมาทำหน้าที่วุฒิสภาอีกครั้ง แต่กลับปฏิเสธที่จะทำหน้าที่วุฒิสภาเดิมที่ตัวเองมีภาระผูกพันอยู่ตามรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่การตัดสินใจลาออกเพื่อกลับมาใหม่
เป็นอีกหนึ่งหลักคิดที่สะท้อนถึงความเห็นแก่ตัวมากกว่าประโยชน์ของส่วนรวม เพราะถ้า ส.ว.กลุ่มนี้อยู่บนฐานความคิดทำประโยชน์เพื่อชาติมากกว่าที่จะยึดติดกับตำแหน่งแห่งหน แนวทางการตัดสินใจก็คงเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง และความกังวลต่อสถานภาพก็คงไม่ออกอาการประเจิดประเจ้อจนเป็นที่น่าสังเวชใจเท่าที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้
ส่วนมุมทางการเมืองซึ่ง ชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา จะบรรจุวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 25 มกราคมนี้ ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลนัดถกกันในวันที่ 24 มกราคม ก็เชื่อได้ว่าจะไม่มีอะไรสั่นคลอนการอยู่ร่วมกันของรัฐบาล
แต่คงจะออกมาในรูปแบบที่ว่าให้แต่ละพรรคมีอิสระในการตัดสินใจ เพราะเป็นเรื่องของรัฐสภาไม่เกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาล เนื่องจากภาระของรัฐบาลในฐานะผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในนามของคณะรัฐมนตรีจบลงนับจากมีการรับหลักการในวาระที่ 1 แล้ว หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภาจะพิจารณา
แน่นอนว่า พรรคประชาธิปัตย์ คงไม่พลิกไปสนับสนุนสูตร 400 + 100 หรือแม้แต่สูตรใหม่ 400 + 125 แต่คงยืนกรานตามร่างของคณะกรรมการชุด “อาจารย์สมบัติ” คือ 375 + 125 ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลก็จะยึดสูตร 400 + 100 เพราะตามรัฐธรรมนูญวาระที่2กำหนดว่า เสียงชี้ขาดคือเสียงข้างมากไม่ใช่ต้องเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเหมือนในวาระแรกและวาระที่3
เกมชักคะเย่อตัวเลขซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญ จะเป็นปัจจัยหลักกำหนดท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะดันทุรังสูตร 400 + 100 หรือ ยอมอ่อนข้อให้ได้ระบบเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียวแต่ยอมเฉือนส.ส.เขตลงเหลือ 375 คนตามร่างที่มีการรับหลักการไปในวาระแรก
หากพรรคเพื่อไทยเอาด้วยร่วมหักหน้าประชาธิปัตย์บวกกับ ส.ว.อีกประมาณ 50 เสียงก็มีความเป็นไปได้ที่ 400 + 100 จะเข้าวิน
แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยเล่นเกมการเมืองโดยใช้วิธีไม่ร่วมสังฆกรรมกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 2 พรรคร่วมรัฐบาลก็คงฝันค้างและกลับสู่สภาพความเป็นจริงยอมรับตัวเลข 375+ 125 ดีกว่าที่จะให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งตกไป จนต้องใช้กติกาเดิมคือระบบเขตใหญ่
ไม่ว่าจะออกมาในรูปไหนฟันธงได้ว่าไม่มีผลสะเทือนต่อรัฐบาล และประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการแก้ไขระบบเลือกตั้ง