xs
xsm
sm
md
lg

“สุขุมพันธุ์” ขอตำรวจป้องคันกั้นน้ำ ห้าม ปชช.รื้ออีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร
ผู้ว่าฯ กทม.ขอกำลัง บช.น.ดูแลการซ่อมคันกั้นน้ำในเขตสายไหม และห้ามทำลายคันกั้นน้ำ และประตูระบายน้ำ เหตุจากการพังคันกั้นน้ำ 2 จุด ส่งผลน้ำทะลักเข้า กทม.เพิ่มวันละ 4.4 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ห่วงกระทบนิคมฯบางชัน และกทม.ฝั่งตะวันออก เพราะระบายน้ำไม่ทัน

เมื่อเวลา 20.00 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร แถลงว่า เย็นวันนี้ (17 พ.ย.) ตนได้ลงนามในคำสั่งกรุงเทพมหานคร 2 ฉบับ โดยฉบับแรก ให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปดำเนินการรักษาความสงบเรียบร้อย และป้องกันมิให้ประชาชนเข้าไปทำลายแนวกระสอบทรายที่เป็นคันกั้นน้ำชั่วคราว และประตูระบายน้ำในพื้นที่เขตสายไหม ที่กรุงเทพมหานครดำเนินการไว้โดยด่วนที่สุด รวมทั้งจัดกำลังเจ้าหน้าที่คุ้มครองดูแลความปลอดภัยให้แก่เจ้าหน้าที่ของ กทม. ที่จะเข้าไปดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมแนวคันที่ถูกรื้อ

ส่วนคำสั่งฉบับที่ 2 สั่งห้ามมิให้บุคคลใดๆ เข้าไปในพื้นที่ทำลายคันกั้นน้ำชั่วคราว และประตูระบายน้ำในพื้นที่เขตสายไหม บริเวณคลองหกวาสายล่าง คลองสอง และคลองพระยาสุเรนทร์

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า สืบเนื่องจากปัญหาที่คันกั้นน้ำในสองพื้นที่ คือ จุดพหลโยธิน ซึ่งขณะนี้เปิดกว้างประมาณ 5 เมตร ประเมินสถานการณ์ว่าจะทำให้น้ำเข้าพื้นที่ด้านใน 4 แสน ลบ.ม./วัน จะเกิดผลกระทบต่อคลองสอง สนามบินดอนเมือง และถนนวิภาวดี-รังสิต โดยจะมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 20 ซม.ขึ้นไป ในเรื่องนี้กทม.จะติดตามต่อไปว่าการเปิดคันกั้นน้ำจะเป็นส่งกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในอย่างไร

ส่วนจุดที่น่าเป็นห่วงมาก คือ จุดที่มีการปรับสภาพคันกั้นน้ำ และระบบบริหารจัดการน้ำ ที่คลองสอง คลองหกวาสายล่าง และประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์ เนื่องจากมีประชาชนจากปทุมธานีจำนวนหนึ่งเข้ารื้อคันกันน้ำเป็นระยะทางยาว 70 เมตร กทม.จึงได้ส่งรองปลัดกทม. 2 คน คือ นายสมภพ ระงับทุกข์ และนายจุมพล สำเภาพล เข้าไปเจรจากับชาวบ้าน ซึ่งมีข้อตกลง 3 ประการ ได้แก่

1. กทม.พร้อมที่จะเปิดประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์ เป็น 1 เมตร เมื่อ 17.00 น.ที่ผ่านมา และตกลงกันว่าจะปิดอีกครั้งในเวลา 12.00 น. ในเสาร์นี้
2. ลดระดับคันกั้นน้ำให้มีส่วนต่างระหว่างด้านนอกและด้านในคันกั้นน้ำห่างกัน 40 ซม. จากเดิม 70 ซม. ซึ่งขณะยังมีไม่ข้อสรุป
3. ข้อเรียกร้องของชาวบ้านที่ต้องการให้เยียวยาเป็นพิเศษ ทาง กทม.ได้เสนอ ศปภ.ไปเรียบร้อยแล้ว

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ตนได้หารือร่วมกับ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อย่างใกล้ชิดทางโทรศัพท์ โดยมีจุดยืนร่วมกันว่าจะต้องไม่มีการปรับสภาพคันกั้นน้ำ หรือกลไกที่จะบริหารจัดการน้ำโดยพลการ หากจะมีการปรับสภาพคันกั้นน้ำ หรือการเปิด-ปิดกว้างขึ้นหรือแคบลง ต้องเกิดจากการหารือเป็นมติร่วมกันเท่านั้น โดย พล.ต.อ.ประชาได้ประสานขอให้กองทัพ และบชน.เข้าไปดูแลสถานการณ์

โดยผู้ว่าฯ กทม.ได้มีคำสั่งที่ 4386/2554 อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ให้ บช.น.สั่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลความเรียบร้อยและคุ้มกันเจ้าหน้าที่เข้าไปซ่อมแซมคันกั้นน้ำชั่วคราว และประตูระบายน้ำในพื้นที่เขตสายไหม โดยการรื้อคันกั้นน้ำเป็นดังกล่าว เป็นระยะทาง 70 เมตร เป็นการรื้อในจุดที่ต่ำสุด มีผลให้มีน้ำปริมาณ 4 ล้าน ลบ.ม.ต่อวันเข้าไปในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อนิคมอุตสาหกรรมบางชัน และเกินความสามารถในการระบายน้ำออกของ กทม.

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ในวันนี้สถานการณ์ค่อนข้างล่อแหลม และอันตราย เนื่องจากในเย็นวันนี้ มีประชาชนชาวกทม.เข้าไปซ่อมแซมคันกั้นน้ำเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันตนเอง แต่ไม่อยากให้การกระทำดังกล่าวนำไปสู่การปะทะกันระหว่างพี่น้องชาวปทุมธานี และพี่น้องชาวกทม. ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปดูแลแล้ว ขณะเดียวกัน กทม.ได้ส่งเจ้าหน้าที่สำนักการะบายน้ำเข้าไปประเมินและแก้ไขสถานการณ์ด้วย

“ถ้ามีความเดือดร้อน หรือความต้องการอย่างไร วิธีการที่ดีที่สุดขณะนี้ คือ การเจรจาหาทางออกร่วมกัน ที่ผ่านมามีการให้ข่าวว่า กทม.ไม่ทำตามสัญญาเรื่องไม่ยอมเปิดปตร.คลองพระยาสุเรนทร์ 1 เมตร ซึ่งไม่เป็นความจริง โดยผมยืนยันว่า กทม.ยังคงเปิดประตูระบายน้ำตามสัญญา แม้ว่า กทม.จะสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายในการหรี่ประตูระบายน้ำให้แคบลง แต่ผมก็ไม่ได้ใช้อำนาจนั้นแต่อย่างใด” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าว

พร้อมทั้งย้ำว่า อย่างไรก็ตาม หลังจากการประเมินหากการเปิดคันกั้นน้ำจะส่งผลกระทบต่อนิคมอุตสาหกรรมบางชัน และบ้านเรือนของประชาชนด้านตะวันออกอีกจำนวนมาก ก็จำเป็นจะต้องหรี่ประตูระบายน้ำให้แคบลง เพราะการกระทบของนิคมฯ ไม่ได้ส่งผลแค่ในพื้นที่ กทม. และชาว กทม.เท่านั้น แต่จะกระทบเป็นวงกว้างต่อประชาชนชาวไทยอีกจำนวนมากที่จะต้องตกงาน เนื่องจากการปิดนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งการที่ตนชี้ให้เห็นปัญหานี้ไม่ได้เป็นการท้าทายแต่อย่างใด แต่เป็นจุดยืนที่ ศปภ. และ กทม.จะต้องมีร่วมกันในการแก้ไขปัญหานี้
กำลังโหลดความคิดเห็น