ลูกจ้างอยุธยาร้องกระทรวงแรงงานช่วยเจรจานายจ้างรักษาสภาพจ้างงาน หวั่นถูกลอยแพหลังน้ำลด ชมรมบริหารงานบุคคลอยุธยาชงรัฐช่วยทั้งนายจ้างลูกจ้าง ลดส่งเงินสมทบประกันสังคมทั้งสองฝ่าย ยกเว้นภาษีเงินได้ จ่ายเงินช่วยเหลือ 5 พันบาทครอบคลุมแรงงานนอกทะเบียนราษฎรในพื้นที่ที่อยุธยา
วันนี้ (15 พ.ย.) นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นำตัวแทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอ ซึ่งนำโดยนายชูกูโกะ โคยามา (Mr.Shukuko Koyama) ผู้เชี่ยวชาญด้านการแก้ปัญหาวิกฤตของไอแอลโอ เข้าร่วมหารือกับนายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตัวแทนจากนิคมอุตสาหกรรมต่างๆในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในการประชุมแนวทางช่วยเหลือลูกจ้างที่ประสบภัยน้ำท่วมที่ศูนย์ราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
แรงงานอยุธยาห่วงถูกลอยแพ
นายอุดม ไกรยราช ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานในอยุธยาและใกล้เคียง กล่าวว่า ขณะนี้ในจังหวัดอยุธยาเริ่มมีการนำมาตรา 75 มาใช้ในการจ่ายค่าจ้าง และลูกจ้างกังวลจะถูกเลิกจ้าง จึงอยากให้มีการรักษาสภาพการจ้างงานไว้ เนื่องจากนายจ้างมีเงินประกันธุรกิจและเงินกองทุนสำรองขอบริษัทให้สามารถดำเนินธุรกิจไปได้ ทั้งนี้ หากที่ผ่านมาธุรกิจมีผลกำไร นายจ้างก็ไม่ควรจ่ายค่าจ้างแค่ร้อยละ 75 เพราะมีผลกระทบทำให้ลูกจ้างมีรายรับไม่มาก ซึ่งรัฐบาลควรเติมในส่วนนี้ให้แก่แรงงาน เพื่อไม่ให้แรงงานตกงานและมีรายได้เพื่ออยู่ได้ ส่วนมาตรการช่วยจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างแทนนายจ้างคนละ 2,000 บาทนั้น เป็นมาตรการที่จะช่วยรักษาสภาพการจ้างงานได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น
“แรงงานเองยังมีปัญหาเรื่องรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ เนื่องจากขณะนี้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้นกว่าปกติ ทั้งที่เกิดสถานการณ์น้ำท่วม ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลจัดงบสนับสนุนในนายจ้างจ่ายค่าจ้างเต็มจำนวน เพื่อให้แรงงานมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต รวมถึงการดูแลสุขภาพของแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วม โดยให้เข้ารับการตรวจสุขภาพฟรี เนื่องจากการตรวจสุขภาพผ่านระบบประกันสังคมต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง หากแพทย์ไม่เป็นผู้สั่งการนอกจากนี้ ยังฝากภาครัฐดูแลลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากบริษัทแม่ประสบปัญหาน้ำท่วมด้วย เนื่องจากปัจจุบันมีหลายโรงงานที่ไม่ประสบอุทกภัยจ่ายค่าจ้างร้อยละ75 ของค่าจ้างปกติ” นายอุดมกล่าว
ชงลดเงินสมทบประกันสังคม-เว้นภาษี
น.ส.บงกรช แจ่มทวี ประธานชมรมบริหารงานบุคคลอยุธยา กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการหารือกับฝ่ายบุคคลของบริษัทต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยได้ข้อสรุปที่เป็นข้อเสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือลูกจ้างในหลายประเด็น โดยเฉพาะอยากให้มีการลด เลื่อน รวมทั้งงดการจ่ายเงินสมทบ หรือให้รัฐบาลจ่ายแทนในส่วนของลูกจ้างจำนวนร้อยละ 5 รวมทั้เงินช่วยเหลือ 5,000 บาทกรณีลูกจ้างบ้านน้ำท่วม ให้ครอบคลุมไปถึงกลุ่มที่เช่าบ้านและประสบปัญหาน้ำท่วมจนทรัพย์สินเสียหาย ส่วนการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้จัดเก็บผู้มีรายได้ 30,000 บาทขึ้นไป จากเดิมที่เริ่มในฐานเงินเดือน 15,000 บาท ขณะเดียวกันให้ลูกจ้างที่บ้านประสบอุทกภัยให้นำหลักฐานมาลดหย่อนภาษีได้
โอดแรงงานนอกทะเบียนราษฎรไม่ได้รับการช่วยเหลือ
นายจำลอง ชาติบำรุง ผอ.ศุนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ระสบอุทกภัย กล่าวว่า ศูนย์ฯให้การช่วยเหลือแรงงาน ใน 6 นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่ที่ทำงานไม่มีภูมิลำเนาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และได้รับการช่วยเหลือไม่ทั่วถึง และยังติดอยู่ภายในที่น้ำท่วมสูงจำนวนมาก ทั้งนี้ ในส่วนการกู้นิคมอุสาหกรรมต่างๆ ประชาชนและผู้ใช้แรงงานรู้สึกกังวลในการสูบน้ำที่อาจมีสารเจือปน เพราะน้ำมีสีขุ่นดำลักษณะคล้ายน้ำมัน และควรตรวจสอบว่าจะกระทบต่อสุขภาพประชาชนหรือไม่ จึงอยากเรียกร้องให้มีการสูบน้ำอย่างเป็นระบบไม่กระทบสุขภาพของประชาชน
ตั้งกองทุนพิเศษช่วยเหลือแรงงาน
ขณะที่ นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือข้อเรียกถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านปลัดระทรวงแรงงาน ใน 4 ประเด็น ได้แก่ ขอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือลูกจ้างในกรณีพิเศษและฉุกเฉินให้แก่ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ในกรณีถูกนายจ้างเลิกจ้างและไม่จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างตามกฎหมาย, ขอให้รัฐบาลพักชำระหนี้อันเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายในการผ่อนซื้อสินค้าต่างๆ ทั้งบ้าน รถยนต์ และหนี้บัตรเครดิต, รวมไปถึงหาแหล่งเงินทุนให้กับนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมาฟื้นฟูโรงงาน และลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรมาทดแทนเครื่องจักเดิมที่เสียหายจากน้ำท่วม
ส่วนความต้องการระยะสั้น นายจ้างไม่มีเงินจ่ายค่าจ้าง รัฐบาลต้องขึ้นทะเบียนให้กับลูกจ้างที่กระทบและหาเงินมาช่วยเหลือในช่วงที่ขาดรายได้ เนื่องจากหยุดงาน ส่วนโครงการฝึกอาชีพได้เบี้ยเลี้ยงวันละ 120 บาทมันไม่เพียงพอ ระยะกลางควรนำเงินจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานที่มีกว่า 60 ล้านบาทมาเติมในส่วนนี้ และระยะยาวเห็นด้วยกับแนวคิดการตั้งกองทุนประกันการจ้างงาน ของปลัดกระทรวงแรงงาน เพื่อรักษาสภาพการจ้างงานลูกจ้าง
ยันมาตรการหลักรักษาสภาพจ้างงาน
นพ.สมเกียรติ กล่าวว่า มาตรการหลักของกระทรวงแรงงาน จะทำทุกวิถีทางไม่ให้มีการเลิกจ้าง หรือเลิกจ้างให้น้อยที่สุด โยขณะนี้ได้รับรายงานว่าในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีสถานประกอบการกว่า 5,296 แห่ง ผู้ใช้แรงงานกว่า 373,590 คน และได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั้งหมด และมีแรงงานถูกเลิกจ้างแล้วกว่า 3,143 คน ในสถานประกอบการ 10 แห่ง โดยนายจ้างได้จ่ายเงินค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างแล้วรวมกว่า 83 ล้านบาท ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือในการจ่ายค่าจ้างช่วยนายจ้างให้แก่ลูกจ้างรายละ 2,000 บาท เนื่องจากเกรงว่าสถานประกอบการจะมีกำลังในการจ่ายค่าจ้างไม่เพียงพอในระยะยาวนั้น สถานประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องจ่ายค่าจ้างร้อยละ75 จึงจะร่วมโครงการได้ ซึ่งสามารถยื่นคำร้องเข้าร่วมโครงการได้แล้ว
นพ.สมเกียรติกล่าวอีกว่า ส่วนลูกจ้างแม้จะได้รับค่าจ้างไม่เต็มจำนวน เพราะขาดรายได้จากการทำงานล่วงเวลานั้นกระทรวงแรงงานได้มีโครงการอื่นๆช่วยให้แรงงานมีรายได้ เช่น โครงการเพื่อนช่วยเพื่อนให้แรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมไปทำงานเป็นการชั่วคราว การฝึกอบรมของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานโดยได้ค่าเบี้ยเลี่ยงวันละ 120 บาท และกระทรวงแรงงานจะเร่งให้มีการเปิดงานให้คนงานสามารถกลับเข้าไปทำงานตามปกติได้ อีกทั้งตนจะเสนอต่อคณะกรรมการประกันสังคม (สปส.) ให้นำงบบริหารกองทุนประกันสังคมมาเป็นเงินช่วยเหลือแรงงานที่เดือดร้อนจากน้ำท่วมคนละ 3 พันบาท จะเสนอบอร์ดในการประชุมวันที่ 22 หรือ 29 พ.ย.นี้ และจะให้ สปส.จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มาให้บริการตรวจสุขภาพฟรีแก่แรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วม ส่วนข้อเสนอการตั้งกองทุนช่วยเหลือแรงงานนั้น จะต้องมีการกำหนดโจทย์การช่วยเหลือที่สามารถครอบคลุมแรงงานในทุกกลุ่ม
นายอาทิตย์กล่าวว่า นายจ้างที่จะเข้าร่วมโครงการจ่ายเงินช่วยจ่ายค่าจ้าง 2 พันบาทนั้น จะต้องมาทำข้อตกลงกับกระทรวงแรงงานว่าจะไม่มีการเลิกจ้างคนงานในระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งในงวดเดือนพฤศจิกายนนี้สามารถยื่นเข้าร่วมโครงการได้แล้วที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ทั้งนี้ ในส่วนของนายจ้างที่จ่ายเติมจำนวนก็อยากขอความร่วมมือให้จ่ายเต็มจำนวนต่อไป ซึ่งกระทรวงแรงงานจะมีการมอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้ด้วย เพราะเป็นสถานประกอบการที่ดูแลลูกจ้างในยามวิกฤต โดยไม่มีการเลิกจ้าง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการแล้วสามารถเปิดงานได้จะขอหยุดการช่วยเหลือ เพื่อนำเงินไปช่วยสถานประกอบการรายอื่นที่ยังฟื้นตัวไม่ได้