xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ลุยเยี่ยมชาวบ้านปากน้ำโพ เย้ยคนเชื่อโจรปล้นบ้านปลัด คค.มากกว่านายกฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อภิสิทธิ์” ลงพื้นที่นครสวรรค์ เยี่ยมประชาชนหลังน้ำท่วม ตลกร้ายกลางวงข้าว ชาวบ้านเชื่อโจรปล้นบ้านปลัดคมนาคม มากกว่านายกฯ และคนในรัฐบาล เดินหน้าเตรียมหาแนวทางระบายน้ำเสนอรัฐพรุ่งนี้ เห็นใจปริมณฑลจมน้ำนานนับเดือน ผลพวงจากนโยบายรัฐ จี้ “ยิ่งลักษณ์” เพิ่มเงินชดเชยอย่างเป็นระบบ แทนตามแก้หลังชาวบ้านลุกฮือ พร้อมแนะเร่งระบายน้ำให้ปทุมธานีและนนทบุรีด้วย

วันที่ 20 พ.ย.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่โรงเรียนวัดคลองคาง ตำบลบึงเสนาท อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อร่วมทำกิจกรรมฟื้นฟูหลังน้ำลดร่วมกับทางโรงเรียนและวัด พร้อมกับมอบสีให้กับวัดและโรงเรียน 5 แห่ง รวมทั้งมอบข้าวสารให้ผู้สูงอายุจำนวน 630 คน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังได้ร่วมทาสีโบสถ์ และตรวจเยี่ยมเต๊นท์บริการประชาชนทั้งการตัดผม อาหาร ซ่อมแซมรถยนต์ และตรวจสุขภาพฟรี โดยมีประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 800 คน

นายอภิสิทธิ์ ได้กล่าวให้กำลังใจประชาชนที่กำลังจะกลับคืนสู่ชีวิตปกติ และเตือนให้ใช้ชีวิตอยู่บนความไม่ประมาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติ ซึ่งมีการเปลี่ยนแแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะในขณะที่หลายพื้นที่ยังประสบภัยน้ำทวม แต่บางพื้นที่กลับเผชิญกับภัยหนาวและอีกหลายจังหวัดกำลังประสบปัญหาภัยแล้ง โดยเห็นว่า สภาพธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเตรียมมาตรการรองรับเพื่อบรรเทาปัญหา พร้อมกับยืนยันว่า แม้ทำหน้าที่ฝ่ายค้านก็จะเป็นปากเป็นเสียงสะท้อนปัญหาประชาชนผ่านระบบรัฐสภาให้รัฐบาลได้รับทราบและนำไปแก้ไข

จากนั้น นายอภิสิทธิ์ และคณะ ได้เดินทางไปศาลเจ้าแม่ทับทิม ซึ่งเป็นจุดต้นทางของแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อตรวจสถานการณ์น้ำพบว่าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในภาวะทรงตัว แต่กระแสน้ำยังคงไหลเชี่ยว

ในระหว่างการเยี่ยมราษฎรมีชายวัยกลางคนรายหนึ่งจับมือนายอภิสิทธิ์ไปแนบที่หน้าผาก พร้อมกับกล่าวว่า “อยากให้กลับมาเป็นผู้นำอีกครั้ง เพื่อจะได้วางรากฐานที่แข็งแรงให้กับประเทศ” ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เพียงแต่ยิ้มรับและตบบ่าให้กำลังใจ

นายอภิสิทธิ์ และคณะ ยังได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับคณะนักธุรกิจสภาหอการค้าจังหวัดนครสวรรค์ โดยประเด็นที่นักธุรกิจให้ความห่วงใย คือ มาตรการในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัด และการสนับสนุนภาคธุรกิจในการฟื้นฟูให้กลับมาประกอบธุรกิจตามปกติ เนื่องจากในขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในหลายประเด็น เช่น มาตรการทางภาษี หรือแม้แต่นโยบายด้านการเกษตร จึงอยากให้รัฐบาลทำความชัดเจนในประเด็นเหล่านี้

นายอภิสิทธิ์ แสดงความเห็นว่า พรรคมีข้อเสนอให้รัฐบาลทบทวนการลดภาษีนิติบุคคลธรรมดาจาก 23% เป็น 30% ในปีหน้า เพราะแก้ปัญหาไม่ตรงจุดโดยอาจพิจารณานำเงิน 7% ที่จะลดภาษีนิติบุคคลธรรมดาเพิ่มให้กับผู้ประกอบการมาจัดตั้งเป็นกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัยจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดมากกว่า ส่วนนโยบายด้านการเกษตรที่จะเปลี่ยนเป็นนโยบายจำนำข้าวแทนนโยบายประกันรายได้เกษตรกรรัฐบาลจะมีแนวทางชดเชยเยียวยาอย่างไร และจะจ่ายเงินส่วนต่าง 1,437 บาท ให้กับเกษตรกรอย่างไร ทางพรรคจะได้สอบถามรัฐบาลเพื่อให้เกิดความชัดเจนด้วย

นายอภิสิทธิ์ ยังเห็นว่า รัฐบาลขาดมาตรการที่จะสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศในการป้องกันไม่ให้เกิดอุทกภัยเช่นนี้ในอนาคต โดยรัฐบาลไม่ควรโยนว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของภัยธรรมชาติทั้งหมด เพราะต้องยอมรับความจริงว่าความเสียหายมหาศาลที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาลด้วย

ในขณะที่มีนักธุรกิจบางราย วิจารณ์การบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ว่า ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและภาคธุรกิจได้ โดยเล่าถึงความรู้สึกของชาวนครสวรรค์ที่ไม่มีความเชื่อมั่นในรัฐบาล จนเกิดการตั้งคำถาม 5 ข้อ ว่า ประชาชนจะเชื่อว่าใครพูดความจริง ระหว่าง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ศปภ.ปลัดคมนาคม และโจรปล้นบ้านปลัดคมนาคม โดยชาวบ้านระบุว่า เชื่อโจรปล้นบ้านปลัดคมนาคมมากกว่า ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อน ว่า การที่รัฐบาลไม่ให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับประชาชนทำให้ชาวบ้านไม่มีความเชื่อมั่นในตัวผู้นำ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ว่า ยังมีประชาชนจำนวนมากที่ยังจมน้ำนานนับเดือนและความเสียหายก็มีค่อนข้างมาก ในส่วนของบ้านเรือนประชาชนและทรัพย์สมบัติสาธารณะยังต้องใช้เวลาฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันต้องช่วยเหลือประชาชนให้ครบทุกขั้นตอน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขังต้องหาหนทางระบายออกไป เพราะกว่าจะเริ่มต้นทำนาได้อาจต้องใช้เวลาอีกเป็นเดือน ซึ่งรัฐบาลควรมีมาตรการที่ชัดเจนและครอบคลุมด้วย เพราะแม้แต่มาตรการชดเชยเยียวยาประชาชนก็ยังมีความสับสน ทั้งกรณีบ้านเสียหายครัวเรือนละ 5 พันบาท เงินส่วนต่างและเงินชดเชย รวมถึงการชดเชยค่าที่อยู่อาศัย 3 หมื่นบาทนั้น ประชาชนยังเข้าใจหลักเกณฑ์ไม่ตรงกันว่าจะต้องใช้หลักฐานอย่างไร แม้แต่ผู้นำชุมชนก็ยังเข้าใจไม่ตรงกัน รัฐบาลจะต้องเร่งให้ความชัดเจน ที่สำคัญยังมีบางพื้นที่ โดยเฉพาะปริมณฑลที่ยังต้องอยู่ในสภาพเดือดร้อนมากเป็นพิเศษ เพราะมีแนวทางกั้นน้ำ จึงต้องเร่งพิจารณาการเยียวยาอย่างเป็นระบบ มากกว่าใช้วิธีเจรจาเป็นจุดๆ ในพื้นที่ที่เกิดปัญหา

“ผมคิดว่าตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ พรุ่งนี้ผมจะเชิญหลายฝ่ายมาพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางการระบายน้ำของทุกพื้นที่จะประสานสอดคล้องให้รวดเร็วที่สุด และไม่ให้ความเดือดร้อนไปเป็นภาระของพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งมากเกินไปจะทำอย่างไร อีกทั้งรัฐบาลควรจะชดเชยให้ปริมณฑลมากกว่าพื้นที่ กทม.เพราะต้องรับน้ำโดยหลักเกณฑ์ 5 พันบาทที่รัฐบาลผมเคยเริ่มต้นไว้ พิจารณาจากประชาชนไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติกรณีท่วมเกิน 7 วัน น้ำมาแบบฉับพลันขนของไม่ทัน แต่กรณีที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ 5 พันบาทมาช่วยประทังชีวิต แต่หลายพื้นที่จมน้ำกันเป็นเดือน ที่สำคัญคือเกิดจากนโยบายเพื่อบริหารจัดการการไหลของน้ำทำให้หลายพื้นที่จมน้ำนาน รัฐบาลควรนำสองส่วนนี้มาประกอบกันและกำหนดหลักเกณฑ์ชดเชยเยียวยาเป็นพิเศษ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับการระบายน้ำ โดยกล่าวว่า จากการลงพื้นที่ฝั่งธนบุรีพบว่าการระบายน้ำยังมีข้อจำกัด จึงคิดว่าน่าจะมีแนวทางเพิ่มเติมที่ควรดำเนินการ เพราะรับทราบความทุกข์ยากของประชาชนทั้งที่บางกรวย เมืองเอก เพราะในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีและนนทบุรีซึ่งยังจมน้ำอยู่ เมื่อเห็นข่าวว่า พื้นที่ กทม.บางพื้นที่น้ำเริ่มแห้งเริ่มลด ในขณะที่ชาวบ้านเหล่านั้นจมน้ำมานาน จึงควรดูช่องทางเพิ่มเติมที่จะดูแลระบายน้ำให้กับประชาชนเหล่านี้ด้วย










กำลังโหลดความคิดเห็น