มธ.ศูนย์รังสิต กำหนดเปิดเทอม 2 วันที่ 9 ม.ค.55 พร้อมใช้เวลาช่วงเย็นจัดสอบปลายภาคเรียนที่ 1 ที่ค้างอยู่กว่า 300 วิชา ขณะที่ จุฬาฯ เลื่อนเปิดเทอมวันที่ 13 ธ.ค.54 นี้ ด้านอธิการ มธ.เผย คาดมหา’ลัยเสียหายไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท
ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยถึงผลการหารือร่วมกับคณบดีทุกคณะของ มธ.ว่า ในส่วน มธ.ศูนย์รังสิต นั้น พร้อมจะเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.2555 ถึงวันที่ 15 เม.ย.2555 สำหรับการสอบของภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2554 ที่ยังค้างอยู่ประมาณ 300 วิชา มธ.ได้กำหนดให้ใช้เวลาในช่วงเย็น คือ ตั้งแต่เวลา 17.00-20.00 น.ระหว่างวันที่ 9-29 ม.ค.55 ดำเนินการจัดสอบ ส่วนกลางวันนักศึกษาก็เรียนวิชาของภาคเรียนที่ 2 ทั้งนี้ คาดว่า จะต้องสอนชดเชยเพิ่มเติมอีก 1 สัปดาห์ พร้อมกันนี้ ได้กำหนดสอบภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 ในวันที่ 16 เม.ย.ถึง 4 พ.ค.2555 ส่วนการฝึกงานและการเรียนของนักศึกษาปีที่ 4 ได้สอบถามทุกคณะแล้วยืนยันว่าไม่มีคณะใดมีปัญหาในเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ที่ มธ.ศูนย์รังสิต จะเปิดสอนภาคฤดูร้อน ระหว่างวันที่ 15 พ.ค.ถึงวันที่ 21 มิ.ย.2555 ด้วย
อธิการบดี มธ.กล่าวถึงแนวทางการฟื้นฟู มธ.ศูนย์รังสิต ว่า ขณะนี้ยังไม่มีใครให้ข้อมูลที่ชัดเจนได้ว่า จะมีมวลน้ำก้อนใหม่เข้ามาอีกหรือไม่ และมีปริมาณมากน้อยเพียงใด บางหน่วยงานก็ระบุว่ามี บางหน่วยก็ว่าไม่มี มธ.จึงต้องช่วยเหลือตัวเอง แต่จากการสังเกต พบว่า ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง เฉพาะโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ขณะนี้น้ำลดจนแห้งแล้ว มธ.ได้ติดต่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้ามาดูเรื่องไฟฟ้า เพื่อที่จะได้เปิดให้บริการได้ ซึ่งสัปดาห์หน้าจะทราบผลที่ชัดเจน ส่วนระดับน้ำภายในมหาวิทยาลัย ก็มีการสูบน้ำออกตลอดเวลา แต่มีปัญหาใหญ่ คือ มธ.มีเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 6 เครื่อง แต่เปิดเครื่องสูบได้ 2 เครื่อง เนื่องจากหากเดินเครื่องสูบเต็มอัตรา ก็จะทำให้ มธ.แห้ง แต่รอบข้างยังท่วมอยู่ ก็เกรงว่าเขื่อนดินจะพัง
“จากสถานการณ์น้ำท่วม คาดว่า เสียหายไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ความเสียหายเป็นเรื่องเครื่องมือวิทยาศาสตร์ เครื่องมือวิศวกรรมศาสตร์ แท่นพิมพ์ใหม่ที่ มธ.เพิ่งซื้อมา อาคารเรียนต่างๆ แต่สิ่งที่เสียหายมากที่สุด คือ หม้อแปลงไฟฟ้า ซึ่งเสียหายจำนวนมากมายมหาศาล และเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องซ่อม และต้องใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมากด้วยเช่นกัน ทั้งหม้อแปลงบางจุดมีขนาดใหญ่ ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ หากไม่สามารถซ่อมเรื่องไฟฟ้าได้ ก็จะมีปัญหาเรื่องไฟฟ้าสำหรับการเรียน แอร์ ประปา เป็นต้น” ศ.ดร.สมคิด กล่าวและว่า ทาง มธ.ได้ทำประกันภัยซึ่งรวมประกันน้ำท่วมด้วย ซึ่งต้องเร่งให้ประกันภัยมาสำรวจความเสียหาย อีกส่วนหนึ่งก็จะขอเงินสนับสนุนจากรัฐบาลด้วยอีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะงบที่ มธ.ใช้ช่วงน้ำท่วม ที่จะขอ 10 ล้านบาท
ขณะที่ ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณบดี จุฬาฯ มีมติเลื่อนเปิดเทอม 2 ปีการศึกษา 2554 ไปเป็นวันที่ 13 ธ.ค.2554 เปิดภาคการศึกษาฤดูร้อนวันที่ 18 เม.ย.2555 ซึ่งคิดว่าจะไม่กระทบต่อการเรียนการสอนแน่นอน และที่ประชุมยังมีมติให้คณะ/วิทยาลัย/สถาบันจัดหาที่พักให้นิสิตที่ประสบปัญหาเรื่องที่พักอาศัย หรือการเดินทางเข้ามหาวิทยาลัยจนกว่าปัญหาจะคลี่คลาย รวมถึงให้นักศึกษาที่ไม่มีเครื่องแบบนักศึกษาใส่สามารถใส่ชุดไปรเวทมาเรียนได้ ส่วนค่าเทอมนั้น ทางจุฬาฯ จะมีมาตรการผ่อนผันให้นักศึกษาจ่ายค่าเทอมช้าได้ หรือหากใครที่มีปัญหาเรื่องค่าเล่าเรียนจริงๆ ทางมหาวิทยาลัยก็มีทุนการศึกษาให้ ซึ่งทุนดังกล่าวมีเตรียมไว้จำนวนมากพอสมควรโดยจะให้ทั้งค่าเทอมและค่าครองชีพแต่จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป
อย่างไรก็ตาม ทางมหาวิทยาลัย ยืนยันว่า จะให้ความช่วยเหลือนักศึกษาอย่างเต็มที่ เพราะเท่าที่ดูจากตัวเลขมีนิสิตของจุฬาฯได้รับความเดือดร้อนถึง 30% จากตัวเลขนิสิตทั้งหมด 40,000 คน ซึ่งถือว่ามากพอสมควร ทั้งนี้ ในส่วนของคณะแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะสหเวชศาสตร์ ที่มีผลการศึกษาครบถ้วนสมบูรณ์ตามหลักสูตร คณะสามารถพิจารณาการสำเร็จการศึกษาได้ภายในเดือนมีนาคม 2555 โดยนิสิตสามารถขอสำเร็จการศึกษาผ่านอินเทอร์เน็ตได้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2555
นายพินิติ รตะนานูกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมหารือเพื่อวางแผนการจัดการศึกษาในภาคเรียนที่ 2/2554 ของสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และมีมติมหาวิทยาลัยที่ได้รับผลกระทบมากจะต้องเลื่อนไปเปิดภาคเรียนถึงเดือน ม.ค.2555 ดังนั้น ในที่ประชุมมีข้อเสนอว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่มหาวิทยาลัยทั้งหมดจะไปเลื่อนการเปิดภาคเรียนไปเป็นเดือน ส.ค.2555 เพื่อจะได้ตรงกับมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศอาเซียน และรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558 ด้วย แต่ที่ประชุมเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่ และเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ดังนั้นถ้าจะมีการปรับเปลี่ยนใดๆหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องมาคุยกันก่อน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบตามมาทีหลัง เช่น ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย (ทปอ.มรภ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) สภาวิชาชีพต่างๆ รวมถึงสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เป็นต้น