xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตการศึกษาหลังน้ำลด เวลาเรียนน้อยห่วงคุณภาพตกต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ

มหาอุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศ แผ่ขยายวงกว้างทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่เว้นแม้แต่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ทุกพื้นที่ ได้รับผลกระทบถ้วนหน้า เกิดความเสียหายในทรัพย์สิน บางรายต้องสูญเสียชีวิต หรือต้องอพยพออกจากพื้นที่ นอกจากนี้ยังทำให้กิจกรรม กำหนดการต่างๆ ที่วางแผนไว้นั้นต้องหยุดชะงักและเลื่อนออกไป ซึ่งรวมถึงกำหนดการเปิดภาคเรียน (เปิดเทอม) ที่ 2 ของปีการศึกษา 2554 ที่ต้องเปิดเรียนในวันที่ 1 พ.ย.2554 มีอันต้องเลื่อนออกไปด้วย

ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการที่ 908/2554 เรื่อง ปิดสถานศึกษาในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย จำนวน 13 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา นครปฐม และกรุงเทพมหานคร โดยให้เปิดภาคเรียนที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2554 ในวันที่ 15 พ.ย.2554 ซึ่ง ทั้ง 13 จังหวัดยังอยู่ในภาวะน้ำท่วมหนักจึงต้องประกาศเลื่อนเปิดเทอมเพื่อลดผลกระทบ ที่อาจส่งผลต่อนักเรียน นักศึกษาในการเดินทางไปสถานศึกษา และล่าสุด เตรียมที่จะให้โรงเรียนในจังหวัดที่น้ำเริ่มลดสามารถเปิดเรียนได้ในวันที่ 7 พ.ย.นี้

ก่อนหน้านั้น ศธ.ยืนยันไม่ประกาศเลื่อนเปิดเทอม แต่ให้อำนาจการประกาศเลื่อนเปิดเทอมขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้อำนวยการ สถานศึกษา แต่เพราะสถานการณ์น้ำรุนแรงเกินกว่ารัฐบาลจะรับมือและแก้ไขปัญหาไหว สุดท้าย นายวรวัจน์ จึงยอมออกประกาศเลื่อนเปิดเทอม หลังจากกทม.ประกาศให้โรงเรียนในสังกัดเลื่อนเปิดเทอมไปก่อนหน้านี้ ในวันที่ 15 พ.ย.

อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่า การเลื่อนเปิดเทอมย่อมส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนของนักเรียน เนื่องจากตารางการเรียนการสอนที่เตรียมการไว้จะต้องรื้อปรับแก้ใหม่ อีกทั้งก่อนหน้าที่เกิดปัญหาน้ำท่วมมีหลายโรงเรียนที่ต้องปิดเรียนโดยที่ยัง ไม่ได้สอบปลายภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2554

เบื้องต้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดย นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) วางแผนว่า ทันทีที่เปิดเทอมจะเร่งรัดให้โรงเรียนที่ยังไม่ได้สอบปลายภาคเรียน ที่ 1 ปีการศึกษา 2554 ใช้เวลาช่วง 2 สัปดาห์แรก จัดสอบให้แล้วเสร็จ จากนั้นก็เดินหน้าการเรียนการสอนเทอม 2 ต่อไป แต่นั่นยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา แต่ที่ต้องไม่ลืม คือ ชั่วโมงเรียนที่เหลืออยู่นั้นอาจจะไม่มากพอที่จะให้ครูเดินตามแผนการสอนที่เตรียมไว้ และนั่นอาจส่งผลต่อคุณภาพและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน

เพราะ ฉะนั้น ศธ.ต้องหันมาเตรียมการไว้ให้พร้อม หาวิธีการสนับสนุนส่งเสริมไม่ว่าจะเป็นการสร้างเครื่องมือ หรือกำหนดรูปแบบการสอนที่เหมาะสมที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพผู้เรียนภายใต้ระยะ เวลาการเรียนที่เหลือน้อยลงได้อย่างสมบูรณ์แบบครบเครื่องตามหลักสูตรและตรงตามเป้าหมายของแต่ละสาระการเรียนรู้

ขณะเดียวกัน จำเป็นต้องหาวิธีการแก้ไขปัญหาไร้หนังสือเรียน เนื่องจากในสมัย นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีต รมว.ศึกษาธิการ ได้มีนโยบายให้ยกเลิกการยืมหนังสือเรียนแล้วเปลี่ยนมาแจกหนังสือเรียนฟรีให้ เด็กทุกคนติดตัวเป็นของตนเองเพื่อใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจากเหตุการณ์ครั้งนี้เชื่อว่าจะมีนักเรียนจำนวนมากที่บ้านประสบภาวะน้ำท่วมและเมื่อต้องอพยพออกมาก็ไม่สามารถนำหนังสือเรียน หรือแม้แต่เครื่องแบบนักเรียนติดตัวออกมาได้ ซึ่งหากเปิดเทอมแล้วเด็กกลุ่มนี้จะไม่มีหนังสือเรียน ครั้นจะสั่งพิมพ์หนังสือเรียนเพิ่มล็อตใหม่ในช่วงเวลาที่เหลือเพื่อให้ทันใช้เมื่อเปิดเทอมเกรงจะไม่ทัน อีกทั้งโรงพิมพ์ส่วนใหญ่ก็คาดว่าจะจัดจำหน่ายไปหมดแล้ว

ดังนั้น ระหว่างทางที่ต้องอดทนรอให้แผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการจัดการน้ำของรัฐบาลให้ เกิดประสิทธิผลแท้จริง ศธ.คงต้องเริ่มคิดแผนการสางปัญหาไว้เสียแต่เนิ่นๆ เพื่อที่เมื่อเวลาสถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลาย ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะได้รีบทำงานตามแผนได้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น