xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.เตรียมเสนอ “วรวัจน์” อนุมัติเปิดเทอม 7 พ.ย.ในโรงเรียนที่น้ำเริ่มลด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สพฐ.เล็งชง “วรวัจน์” อนุมัติเปิดเทอมวันที่ 7 พ.ย.ในบางจังหวัดที่ระดับน้ำลดและพร้อมเปิดเรียน โดยสั่งเขตพื้นที่ฯเร่งสำรวจและส่งข้อมูล ขณะที่ “ชินภัทร” เผยประชาชนในศูนย์ต้องการให้อบรมความรู้ด้านงานช่าง และด้านอาชีพ เพื่อหลังน้ำลดจะได้มีความรู้ติดตัวออกไป เตรียมประสานอาชีวะช่วยเหลือ ด้าน “ชัยพฤกษ์” ขานรับพร้อมช่วยเหลือและจะให้วิทยาลัยนับเวลาการออกไปทำกิจกรรมของนักศึกษาเป็นเวลาเรียน

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้มีการทบทวนเรื่องการเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 อีกครั้งตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เคยออกประกาศ ศธ.เลื่อนเปิดภาคเรียนใน 13 จังหวัดออกไปเป็นวันที่ 15 พ.ย.เนื่องจากขณะนี้บางจังหวัดน้ำเริ่มลด และในบางจุดก็ลดลงอย่างรวดเร็วซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดเทอมได้ก่อน เช่น จังหวัดนครสวรรค์, พิจิตร, อุทัยธานี และ ลพบุรี ดังนั้น จึงให้สำนักเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ประมาณการและรายงานกลับมายัง สพฐ.ว่า จังหวัดที่ระดับน้ำเริ่มลดแล้วมีเขตพื้นที่จำนวนเท่าไรที่พร้อมและไม่พร้อมจะเปิดเทอมวันที่ 7 พ.ย.และหากโรงเรียนใดพร้อมก็จะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รับทราบและให้โรงเรียนเปิดการเรียนการสอนตามปกติ
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
“เวลาเรียนในเทอม 2 ถือว่ามีความสำคัญ เพราะมีหลายกิจกรรมที่สำคัญที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ เช่น งานศิลปหัตถกรรม ที่มีการจัดประกวดงานฝีมือของนักเรียนในพื้นที่ต่างๆ นอกจากนั้น ยังมีการทดสอบระดับชาติที่สำคัญด้วย ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต การทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT และการทดสอบความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ หรือ PAT ซึ่งหากโรงเรียนใดที่มีความพร้อมก็สามารถเปิดได้ก่อน แต่ในส่วนของโรงเรียนที่ยังไม่สามารถเปิดเทอมได้เป็นหน้าที่ของผู้บริหารและครูในโรงเรียน ที่จะต้องไปไล่สอนนักเรียนให้ทุกคนได้เรียนครบทุกสาระการเรียนรู้ในเวลาที่กำหนด โดยอาจจะใช้วิธีสอนเสริมหรือให้เรียนนอกเวลาเรียน” นายชินภัทร กล่าว

นายชินภัทร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ สพฐ.ได้สำรวจความต้องการของผู้ประสบภัยระหว่างที่อยู่ในศูนย์พักพิงของ ศธ.พบว่า ประชาชนมีความต้องการแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรก ต้องการพัฒนาทักษะในการกลับไปแก้ไขที่อยู่อาศัย ซึ่ง สพฐ.จะจัดอบรมให้ความรู้โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มาร่วมพัฒนาทักษะ ทั้งในส่วนงานช่างไม้ ช่างปูน การทาสีบ้าน การซ่อมรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ รวมถึงหลักสูตรเกี่ยวกับการซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนที่ 2 คือ การสอนอาชีพเสริม เช่น การเย็บเสื้อผ้า ตกแต่งภายใน โดยเบื้องต้นจะเปิดสอนในระหว่างที่ประชาชนกำลังอยู่ในศูนย์พักพิงเพื่อให้มีความรู้ติดตัวและมีอาชีพเสริมน้ำภายหลังนำลด นอกจากนั้น ในศูนย์พักพิงจังหวัดชลบุรี นั้นมีเด็กกว่า 540 คน ซึ่งได้มอบให้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ชลบุรี เขต 1 จัดกิจกรรมการเรียนการสอนเสริมทักษะโดยมีองค์การระหว่างประเทศอาสาให้ความสนับสนุนสื่อการเรียนการสอนต่างๆ ด้วย

ด้านนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เปิดเผยว่า สอศ.พร้อมจะจัดครูและบุคลากรรวมถึงนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เข้าไปช่วยฝึกอาชีพให้กับนักเรียนและประชาชนตามศูนย์พักพิงของศธ.ทั้งหมดโดยเบื้องต้นคิดว่าน่าจะเป็นอาชีพระยะสั้น แต่หากความต้องการบางอาชีพสูงมากก็อาจต้องหาครูสอนอาชีพเพิ่งจากสำนักงานบริหารงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เข้ามาช่วย ทั้งนี้ สอศ.จะให้วิทยาลัยนับเวลาที่นักศึกษาออกไปทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้นเป็นเวลาเรียน เพราะถือว่านักศึกษาได้นำความรู้ที่มีไปใช้ในการปฏิบัติจริง
กำลังโหลดความคิดเห็น