xs
xsm
sm
md
lg

ทปอ.ออก 3 มาตรการ “ผ่อนผันค่าเทอม” ให้ นศ.ที่ประสบภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร. ประสาท สืบค้า
ทปอ.กำหนด 3 มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม พร้อมพิจารณาผ่อนผันค่าเทอมให้นิสิตนักศึกษาที่ประสบภัยและจัดหาทุนการศึกษาหรือหางานให้ทำภายในสถาบัน

ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวถึงผลการประชุมเพื่อกำหนดมาตรการร่วมกันในการช่วยเหลือ แก้ไข ฟื้นฟู เยียวยา ผู้ประสบมหาอุทกภัย เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ทปอ.ได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ออกเป็น 3 มาตรการ ดังนี้ 1. มาตรการเร่งด่วนเสนอใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยเป็นที่พักพิง โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยและสถาบันสมาชิก ทปอ. ได้เปิดเป็นศูนย์พักพิงให้กับผู้ประสบอุทกภัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ขณะนี้ มหาวิทยาลัยที่อยู่ในรัศมีประมาณ 100 กิโลเมตรและมากกว่าเล็กน้อยได้ดำเนินการเร่งด่วนแล้ว เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) สามารถรับผู้ประสบภัยได้ประมาณ 1,000 คน สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) รับได้ 600 คน มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี สามารถรับผู้อพยพได้ประมาณ 300 คน มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม และวิทยาเขตสารสนเทศ จังหวัดราชบุรี สามารถรับผู้ประสบอุทกภัยได้ประมาณ 500 คน สำหรับการแก้ไขปัญหาเรื่องสัตว์เลี้ยง และปศุสัตว์ นั้น ขณะนี้คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ กำลังประชุมหารือกันเพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือต่อไป

ประธาน ทปอ.กล่าวต่อว่า มาตรการที่ 2 คือเรื่องการช่วยเหลือนักเรียน นิสิต นักศึกษา ในส่วนของการจัดทดสอบความถนัดทั่วไปหรือ GATความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการหรือPAT ที่ได้เลื่อนมาเป็นวันที่ 19 - 20 และ วันที่ 26-27 พ.ย.2554 และการสอบรายวิชาสามัญ 7 วิชา ที่กำหนดไว้วันที่ 7-8 ม.ค. 2555 และการจัดสอบของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ประกาศเลื่อนสอบวิชาเฉพาะจากเดิมวันที่ 5 พ.ย.ไปเป็นวันที่ 25 ธ.ค.นั้น อย่างไรก็ตาม ทปอ.จะหารือกับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณากำหนดการสอบต่างๆ ทั้งนี้ จะพิจารณากรอบเวลาที่นักเรียนที่อยู่ในจังหวัดที่เกิดอุทกภัยเผชิญอุปสรรคไม่สามารถศึกษาอ่านหนังสือตามปกติด้วย

ขณะที่การเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัยต่างๆ นั้น ขอให้เป็นดุลพินิจและเอกสิทธิ์ของแต่ละมหาวิทยาลัย นอกจากนั้นในส่วนยกเว้นหรือการผ่อนผันค่าลงทะเบียนและค่าธรรมเนียมการศึกษามหาวิทยาลัย/สถาบันสมาชิก ทปอ.ทั้ง 27 แห่ง ได้มีข้อตกลงร่วมกันการที่จะพิจารณาเป็นพิเศษสำหรับนิสิต นักศึกษาที่ประสบอุทกภัย รวมทั้งการจัดสรรทุนช่วยเหลือค่าครองชีพ การให้วงเงินกู้ยืมเพื่อการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ตลอดจนการจัดหางานพิเศษให้ทำในสถาบันด้วย

และมาตรการที่ 3 คือการช่วยเหลือภายหลังสถานการณ์ดีขึ้น ทาง ทปอ.มีแผนฟื้นฟูระยะยาว โดยการจัดตั้งคณะทำงานที่มีความรู้ ความสามารถในแต่ละสาขาวิชา เพื่อการพัฒนาฟื้นฟู ในด้านต่างๆ เช่นการฟื้นฟูด้านวิศวกรรมโดยการจัดตั้งคณะทำงานที่มีความรู้ความสามารถด้าน วิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสมาชิก ทปอ.จำนวน 200 ทีมๆ ละ ประมาณ 20 คน ให้คำปรึกษา แนะนำ ฟื้นฟู แก่บริษัทที่อยู่ในเขตอุตสาหกรรม ที่ประสบอุทกภัย การฟื้นฟูด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาด้านการเกษตร ร่วมกันจัดทำหลักสูตรการอบรมเรื่องการเพาะปลูกพืชระยะสั้นให้ได้ผลผลิตภายใน 5 สัปดาห์ การฟื้นฟูดินหลังอุทกภัยเพื่อการเพาะปลูก การฟื้นฟูด้านสาธารณสุข ตั้งแต่ระดับครอบครัวถึงระดับสังคม โดยการส่งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และบุคลากรด้านสาธารณสุขอื่น ไปตรวจ รักษา แจกยา และให้ความรู้แก่ประชาชน การฟื้นฟูด้านจิตใจ โดยการส่งนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ ลงพื้นที่ให้คำปรึกษา การฟื้นฟูด้านอาชีพ เนื่องจากภาวะตกงานคงเพิ่มสูงขึ้น และด้านอื่น ๆ เป็นต้น

“ต่อจากนี้ ทปอ.จะจัดตั้งฟอรั่มการบริหารจัดการและการป้องกันอุบัติภัย (Disaster Management and Prevention Forum) และตั้งคณะทำงานซึ่งเป็นนักวิชาการและผู้รู้ ผู้เล่น ขึ้นมาดำเนินการศึกษา วิเคราะห์และวิจัย เพราะเรื่องภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Chang) และภาวะโลกร้อน (Global Warming) มนุษยชาติคงต้องเผชิญต่อไปอีกหลายปี ประสบการณ์มหาอุทกภัยที่คนไทยได้รับในปีนี้น่าจะเป็นบทเรียนให้เกิดการศึกษาเพื่อกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ มาตรการป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำอีกในอนาคต ซึ่งทาง ทปอ.จะสนับสนุนงบประมาณในลักษณะที่เป็นการดำเนินงานของคณะทำงาน เช่น ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายในการประชุม เป็นต้น แต่สำหรับเรื่องครุภัณฑ์ต่าง ๆ ยังต้องขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลอยู่ และในระยะยาว ทปอ.จะนำเสนอรัฐบาลจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการและป้องกันอุบัติภัย (Disaster Management and Prevention Center) มีความทันสมัยในการรวบรวมข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ สังเคราะห์และให้ข่าวสารที่แม่นตรงต่อประชาชนและหน่วยงานที่ต้องการข่างสารดังกล่าว” ศ.ดร.ประสาท กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น