xs
xsm
sm
md
lg

7 เดือนผ่าน! “เหยื่อฟูกูชิมะ” ยังไร้บ้าน-สิ้นหวัง-โกรธแค้น กับค่าชดเชยไม่เป็นธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ประสบภัยรายนี้ปาดน้ำตา ขณะสงบนิ่งไว้อาลัยให้ผู้เสียชีวิตในเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิ วันที่ 11 มีนาคม
เอเจนซี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - แม้ว่าผู้ประสบภัยวิกฤตนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ กำลังจะได้รับค่าเสียหายจากเท็ปโกในที่สุด แต่พวกเขายังคงโกรธไม่หายกับการกระทำของผู้ดำเนินกิจการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รายนี้

เหยื่ออุบัติภัยฟูกูชิมะไม่พอใจอย่างยิ่งกับข้อบังคับเข้มงวด ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคในการรับความช่วยเหลือเบื้องต้น ท่ามกลางความสิ้นหวัง กลุ่มผู้เคราะห์ร้ายยังไม่สามารถตั้งหลักชีวิตใหม่ หลังผ่านภัยพิบัติครั้งใหญ่มานานกว่า 7 เดือน

เสียงตะโกนแสดงความไม่พอใจดังลั่นศูนย์พักพิงชั่วคราว ขณะเจ้าหน้าที่ 7 คน คุกเข่าลงต่อหน้าผู้อพยพ 70 คน ซึ่งจำใจต้องทิ้งบ้านในจังหวัดฟูกูชิมะ หลังจากแกนกลางเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลายจากการโจมตีของคลื่นยักษ์สึนามิ

“เราไม่รู้ว่าควรเชื่อใคร!” ชายคนหนึ่งตะโกนสวนขึ้นมา ท่ามกลางบรรยากาศภายในศูนย์ที่ตึงเครียด ระหว่างเจ้าหน้าที่พยายามอธิบายขั้นตอนการเรียกร้องค่าชดเชยที่แสนซับซ้อน ทั้งนี้ ชาวจังหวัดฟูกูชิมะประมาณ 80,000 คน ถูกสั่งให้อพยพออกจากรัศมี 20 กิโลเมตร จากโรงไฟฟ้า และกระจายตัวไปอยู่ตามศูนย์อพยพในเมืองต่างๆ

ทว่า กระบวนการเรียกร้องค่าชดเชยที่ซับซ้อนและยุ่งยากยิ่งทำให้สถานการณ์ต่างๆ แย่ลง

ผู้เสียหายต้องอ่านหนังสือคำแนะนำ 160 หน้า แล้วจึงกรอกเอกสารอีก 60 หน้า พร้อมทั้งแนบใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล, ค่าเดินทาง หรือที่พักชั่วคราว

“มันยากเกินไป ผมจะรอดูว่ามันจะไปอย่างไรต่อ ผมไม่อยากเป็นตัวป่วนสถานการณ์หรอกครับ” โทชิยูกิ โอวาดะ ผู้อพยพวัย 65 ปี กล่าว เขาเป็นหนึ่งในผู้เสียหายจำนวนมากที่ยังไม่ยื่นคำร้องค่าชดเชย ทั้งๆ ที่ต่างก็ตกงานและกำลังสิ้นเนื้อประดาตัว

ซับซ้อนและไม่เป็นธรรม

ขั้นตอนที่ยุ่งยากเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่ง ส่วนการรับรู้ว่า “เท็ปโก” ผู้ดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ จ่ายเงินชดเชยที่ไม่เป็นธรรมก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ตะขิดตะขวงใจผู้อพยพ

ตั้งแต่เกิดเหตุช่วงแรกๆ ประชาชนต่างเสื่อมศรัทธาในรัฐบาล กรณีการรับมือสถานการณ์ที่ “ไร้ประสิทธิภาพ” หลังเกิดแผ่นดินไหววันที่ 11 มีนาคม ประกอบกับข้อครหาเรื่องการปิดบังข้อเท็จจริง ส่วน บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ โค (เท็ปโก) ก็ถูกกล่าวหาว่า ไร้มาตรการป้องกันภัยที่เพียงพอ แม้รู้อยู่แก่ใจว่า โรงไฟฟ้าตั้งอยู่ในจุดเสี่ยง และยังเพิกเฉยต่อพัฒนาการของอุบัติภัยที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ เงื่อนไขหนึ่งในหนังสือคำแนะนำหนา 160 หน้า ระบุว่า ผู้ประสบภัยต้องสละสิทธิ์การเรียกร้องจำนวนค่าชดเชย หากต้องการรับค่าเสียหาย เงื่อนไขนี้สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนอย่างยิ่ง จนรัฐบาลต้องออกมาเตือน เท็ปโกจึงยอมตัดเงื่อนไขดังกล่าวทิ้ง ก่อนออกหนังสือคำแนะนำฉบับใหม่ที่มีเพียง 4 หน้า พร้อมทั้งมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ 1,000 คน ช่วยผู้อพยพดำเนินการ

คณะกรรมาธิการดูแลเรื่องค่าเสียหายของรัฐบาลประเมินว่า ค่าชดเชยของผู้อพยพอาจสูงถึง 3.6 ล้านล้านเยน (ประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท) อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ มีบุคคลยื่นร้องขอค่าชดเชยเพียง 7,100 ราย เท่านั้นจากทั้งหมด 80,000 ราย ส่วนภาคธุรกิจราว 10,000 แห่ง ก็มีเพียง 300 แห่ง เท่านั้นที่เดินเรื่องค่าเสียหาย

ผู้ประสบภัยทุกคนมีสิทธิ์ฟ้องร้องบริษัทเท็ปโกเท่าเทียมกัน แต่ปัจจุบัน เท็ปโกเพิ่งถูกฟ้องดำเนินคดีไปเพียง 10 คดี

ยูอิชิ คาอิดะ เลขาธิการสมาคมทนายความแห่งญี่ปุ่น แสดงความเห็นไว้ว่า การฟ้องร้องดำเนินคดีมักเป็นทางออกสุดท้ายของชาวชนบททางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ แต่ในที่สุดจะมีการฟ้องคดีจำนวนมากตามมาแน่นอน

หนทางกลับบ้านยังเลือนลาง

ทั้งนี้ ค่าเสียหายขึ้นอยู่กับว่า ผู้ประสบภัยจะได้กลับบ้านหรือไม่และเมื่อไร ขณะที่คนจำนวนมากเริ่มหมดหวังกับการกลับเข้าพื้นที่เดิม พื้นที่ซึ่งทั้งเมืองร้างผู้คน และเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพระยะยาวจากกัมมันตภาพรังสี

ช่วงเดือนนี้เอง โพลของหนังสือพิมพ์อาซาฮี เปิดเผยว่า มีผู้ประสบภัยเพียง 43 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่ต้องการกลับบ้าน ลดลงมาจากช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งมี 62 เปอร์เซ็นต์

ด้าน เท็ปโก แถลงว่า จะจ่ายค่าเสียหายประมาณ 100,000 เยน (ราว 39,700 บาท) ต่อเดือน ไปจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2012 เป็นค่าความทุกข์ทรมานด้านจิตใจ หลังจากนั้น เงินค่าชดเชยรายเดือนก้อนนี้จะลดลงครึ่งหนึ่ง

ซูมิโกะ โทโยกูชิ ผู้อพยพวัย 75 ปี เจ้าของร้านอาหารในเมืองนามิเอะ กล่าวว่า “หลังจากชีวิตเราถูกทำลาย พวกเขาบอกว่า เราจะได้ค่าทำขวัญ 100,000 เยน แค่นั้นหรือ ... ต้นตอความโกรธแค้นของเราคือเราไม่รู้เลยว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร”
กำลังโหลดความคิดเห็น