รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ของกระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าแผน 6 ข้อ เพื่อดูแลผู้ป่วยรับมือน้ำท่วมโรงพยาบาลในเขต กทม. ทั้งรัฐและเอกชน พร้อมทั้งให้โรงพยาบาลในพื้นที่น้ำลดแล้ว สำรองเตียงเตรียมรับผู้ป่วยจาก กทม. โดยวันนี้คาดว่าจะย้ายผู้ป่วยหนักที่อาการคงที่ออกจาก กทม. 50-100 ราย
วันนี้ (26 ต.ค.) ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและการจัดระบบบริการทางการแพทย์ในพื้นที่น้ำท่วม
นายวิทยาให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้พื้นที่วิกฤตน้ำท่วมอยู่ที่ 3 จังหวัด คือ กทม. ปทุมธานี และนนทบุรี ในวันนี้ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดสำรองอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ และตรวจสอบสถานบริการสาธารณสุขที่น้ำลดแล้ว ให้เตรียมการรองรับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลในส่วนกลาง ทั้งสังกัด กทม. เอกชน กองทัพและตำรวจ มหาวิทยาลัย และกรมการแพทย์ ซึ่งการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขร้อยละ 99 มีความเข้มแข็ง ถือเป็นผลงานของทุกคน
นายวิทยากล่าวต่อว่า ในวันนี้ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติงานตามแผน 6 ข้อ เพื่อรับมือน้ำท่วมใน กทม.ดังนี้ 1.ให้เตรียมการป้องกันน้ำท่วมโรงพยาบาลในกทม.ทุกสังกัด 2.ติดตามการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหนักที่อาการคงที่แล้วออกไปยังต่างจังหวัด 3.จัดทีมเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ โดยให้มีหน่วยสุขศึกษาเคลื่อนที่ตามจุดพักพิงต่างๆ และรพ.สนาม 4.ส่ง อสม.ปฏิบัติงานในศูนย์พักพิงและโรงพยาบาลสนามทุกแห่ง 5.ให้กองวิศวกรรมการแพทย์ กองแบบแผน สำรวจสถานที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ที่จะถูกน้ำท่วมตามที่ศปภ.ระบุ เช่น ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และ 6.ตรวจสอบระบบการสื่อสารยานพาหนะ ให้พร้อมใช้งานในการสนับสนุนทั้ง ยา เวชภัณฑ์ ออกซิเจน อาหารและน้ำ แก่โรงพยาบาล โดยได้มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และองค์การเภสัชกรรม สำรวจโรงงานผลิตยาและเวชภัณฑ์ที่ถูกน้ำท่วมและรายการที่ผลิต เพื่อจัดทำแผนสำรองยาและเวชภัณฑ์ อาหาร กรณีจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป ไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลน
ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ในการวางแผนย้ายผู้ป่วยจากโรงพยาบาลใน กทม. ไปโรงพยาบาลในภูมิภาค จะเน้นกลุ่มผู้ป่วยหนักที่อาการคงที่ก่อน โดยเริ่มจากจังหวัดในปริมณฑล ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และโรงพยาบาลอ่างทอง ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี คาดว่าจะเริ่มย้ายในวันนี้ประมาณ 50-100 ราย โดยมีเครื่องมือแพทย์พร้อมบุคลากรการแพทย์ติดตามไปดูแลด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัย พร้อมทั้งได้สั่งการให้โรงพยาบาลในต่างจังหวัด เลื่อนการนัดผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง สามารถรอได้ออกไปก่อน และขอความร่วมมือกับญาติ และผู้ป่วยที่อาการปลอดภัยแล้ว ไปนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ เพื่อสำรองเตียงให้ว่างไว้เพื่อรับผู้ป่วยหนักจาก กทม.