รพ.พระนครศรีอยุธยาเ ริ่มเปิดบริการผู้ป่วยนอก-ผู้ป่วยฉุกเฉินแล้ว ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ส่วนที่ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ คาด จะเริ่มเปิดรับผู้ป่วยได้ใน วันที่ 21 ตุลาคม 2554 นี้
วันนี้ (19 ต.ค.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้บริหารส่วนกลาง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ ที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ผ่านระบบวิดีโอ ที่กรมการแพทย์ โดยได้ติดตามสถานการณ์ และความคืบหน้าการช่วยเหลือประชาชน ที่จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี นครสวรรค์ และอุทัยธานี
นายวิทยา กล่าวว่า ผลการประชุมพบว่า ทุกจังหวัดดำเนินการเป็นไปตามแผนที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ 9 ข้อ อย่างน่าพอใจ ในส่วนของโรงพยาบาล (รพ.) ที่ถูกน้ำท่วม 2 แห่ง คือ รพ.พระนครศรีอยุธยา ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลว่าเจ้าหน้าที่ได้กู้โรงพยาบาลได้แล้ว ระบบไฟฟ้า น้ำประปาใช้การได้ เริ่มเปิดให้บริการตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยฉุกเฉินตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยบริการที่ชั้น 2 ของอาคารผู้ป่วยนอก ซึ่งได้จัดทำสะพานไม้ เข้าออกโรงพยาบาล เนื่องจากระดับน้ำท่วมยังสูง และอีก 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ ล่าสุด เมื่อเช้าวันนี้ระดับน้ำท่วมลดลง ยังท่วมที่พื้นอาคารผู้ป่วยนอกสูงประมาณ 20 เซนติเมตร เจ้าหน้าที่เร่งทำความสะอาด ตรวจสอบความพร้อมอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ต่างๆ สูบล้างบ่อน้ำใต้ดิน เพื่อเตรียมพร้อมการรับผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล คาดว่า จะพร้อมรับได้ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2554 เป็นต้นไป ส่วนบริการผู้ป่วยนอกและฉุกเฉิน ขณะนี้ยังตั้งจุดบริการที่บริเวณสี่แยกทางไปจังหวัดพิษณุโลกมีผู้ป่วยวันละ 500-600 รายจะคงให้บริการไปจนถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2554
นายวิทยา กล่าวต่อว่า สำหรับที่จังหวัดปทุมธานีและนนทบุรี ซึ่งอยู่ในภาวะฉุกเฉิน ได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดจัดบริการดูแลให้ทั่วถึง ทั้งผู้ป่วย และกลุ่มเสี่ยงที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ และผู้พิการ โดยที่จังหวัดปทุมธานี ให้แบ่งพื้นที่ดูแลออกเป็น 2 โซน คือโซนตะวันออก และโซนตะวันตก เนื่องจากพื้นที่กว้างและมีประชาชนจำนวนมาก เพื่อให้การดูแลอย่างทั่วถึง
นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการดูแลรักษาผู้เจ็บป่วยในกทม.และปริมณฑล ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานโรงพยาบาลรัฐและเอกชนในกทม.สำรองเตียงว่างร้อยละ 5หรือประมาณ 1,500 เตียง และในวันนี้ได้สั่งการให้โรงพยาบาลในจังหวัดใกล้เคียงรอบรัศมีกทม. ให้สำรองเตียงว่างไว้ร้อยละ 5 ด้วย เพื่อรองรับผู้ป่วยจาก กทม.ซึ่งได้แก่ รพ.ราชบุรี, รพ.พหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี, รพ.สมุทรสาคร, รพ.สมุทรสงคราม, รพ.ระยอง, รพ.มหาราช นครราชสีมา, รพ.ฉะเชิงเทรา, รพ.นครนายก และ รพ.ชลบุรี