xs
xsm
sm
md
lg

ปล่อยคาราวาน อสม.ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ปู” นำทีมปล่อยขบวนคาราวาน อสม.200 คน พร้อมเป้เวชภัณฑ์และถุงยังชีพ ปฏิบัติการภาคสนาม ออกช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมในจุดอพยพ และผู้ที่ยังอยู่ในบ้าน ใน 5 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ปทุมธานี และ อ่างทอง

วันนี้ (15 ต.ค.) ที่ลานจอดเฮลิคอปเตอร์รับส่งผู้ป่วย ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ท่าอากาศยานดอนเมือง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นายแพทย์ สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมปล่อยขบวนคาราวานอาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม.จำนวน 200 คน พร้อมเป้เวชภัณฑ์และถุงยังชีพปฏิบัติการภาคสนาม เพื่อไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ใน 5 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สิงห์บุรี ปทุมธานี และอ่างทอง ซึ่งใน 5 จังหวัดนี้ จะมีอสม.ปฎิบัติงานในพื้นที่ ประมาณ 40,000 คน และจะดำเนินการให้ครอบคลุมพื้นที่น้ำท่วมทั้งหมด เพื่อให้การดูแลผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึง รวมถึงการป้องกันควบคุมโรคระบาดที่มากับน้ำท่วมด้วย

นายวิทยา กล่าวว่า คาราวานของ อสม.ชุดนี้ จะไปประจำการดูแลสุขภาพของประชาชน ที่จุดอพยพ ทั้งปัญหาการเจ็บป่วยทั่วๆไปและดูแลสุขภาพจิตเบื้องต้น และออกเยี่ยมบ้านประชาชนที่ยังสามารถอาศัยอยู่ในบ้านได้ หากในบ้านหลังใดมีผู้สูงอายุ คนป่วยโรคเรื้อรังอยู่ในบ้าน ก็จะติดธงสีเขียวไว้หน้าบ้าน เพื่อให้เป็นสัญญลักษณ์ในการให้ความช่วยเหลือก่อนเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน โดยจะออกปฏิบัติการทุกวันจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย นอกจากนี้ กระทรวงยังได้ระดมกำลัง อสม.จากพื้นที่น้ำไม่ท่วม เช่น จาก จ.สมุทรสาคร กระบี่ อุดรธานี ไปช่วยพื้นที่น้ำท่วมด้วย เนื่องจาก อสม.บางส่วน ถูกน้ำท่วมบ้านเช่นกัน

สำหรับถุงเวชภัณฑ์ ที่ อสม.ใช้ปฏิบัติงานภาคสนามครั้งนี้ ประกอบด้วย 17 รายการ อาทิ ยาแก้ปวดศีรษะ ยาแก้ท้องเสีย ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร ยาแก้แพ้ลดน้ำมูก ยากันยุง ยาทาบรรเทาอาการปวดเมื่อย ชุดทำแผล ส่วนถุงยังชีพของ อสม.ประกอบด้วย ผ้าเช็ดตัว ผ้าขาวม้า ไฟฉาย เชือก นกหวีด ยาหม่อง ยาดม โดยขณะนี้ได้จัดทำเป้เวชภัณฑ์และถุงยังชีพส่งไปที่ไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแล้ว 10,000 ชุด

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของกระทรวงสาธารณสุขออกตรวจรักษาประชาชนในพื้นที่ประสบภัยทุกวัน วันละกว่า 100 ทีม จนถึงขณะนี้รวม 4,905 ครั้ง พบผู้ป่วยสะสม 516 ,748 ราย โรคที่พบ 5 อันดับแรก ได้แก่ น้ำกัดเท้า ปวดกล้ามเนื้อ ไข้หวัด โรคผิวหนัง และปวดศีรษะ ยอดผู้รับบริการสะสมสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ จ.พิจิตร 112,524 ราย จ.นนทบุรี 82,182 ราย จ.นครสวรรค์ 60,280 ราย จ.สิงห์บุรี 44,805 ราย และ จ.นครนายก 27,753 ราย

ส่วนการประเมินปัญหาสุขภาพจิต ได้ดำเนินการไปแล้วใน 35 จังหวัด เยี่ยมครอบครัวผู้เสียชีวิต จำนวน 190 ครอบครัว มียอดรวมสะสม 88,334 ราย พบว่ามีความเครียดสูง 4,723 ราย มีภาวะซึมเศร้า 5,007 ราย มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 679 ราย และต้องติดตามดูแลพิเศษ 1,023 ราย


กำลังโหลดความคิดเห็น