แนะประชาชนอย่าตระหนกน้ำท่วม ให้ตื่นตัวเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ เผย รพ.อยุธยา พร้อมเปิดบริการผู้ป่วยนอกเต็มรูปแบบในวันพรุ่งนี้
จากกรณีที่ขณะนี้ประชาชนบางส่วนเกิดภาวะตื่นข่าวสถานการณ์น้ำท่วม จนทำให้เกิดความเครียดนั้น ล่าสุด วันนี้ (18 ต.ค.) นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ทุกคนต้องพยายามตั้งอยู่ในความสงบ เมื่อรับข่าวสารขอให้วิเคราะห์ ขณะเดียวกัน ขอให้เตรียมความพร้อม มีความตื่นตัวแต่ไม่ตื่นตระหนก ให้นำข่าวมาวิเคราะห์ว่าเกิดเหตุการณ์จริงหรือไม่ หากเกิดจริงจะมีการเตรียมตัวอย่างไร ขอให้ดูข่าวเป็นระยะ ไม่ควรเฝ้าหน้าจอเสพข่าวตลอดเวลา ควรพักทุก 2-3 ชม.ค่อยดูใหม่ ขณะเดียวกัน ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ว่าอาศัยอยู่ในพื้นที่ใด หากเป็นพื้นที่เสี่ยงเช่นคลอง 8 อาจจะต้องติดตามตลอดเวลา แต่หากเป็นพื้นที่ กทม.ชั้นในอาจดูทุก 2-3 ชม.เพื่อให้ทันเหตุการณ์
นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า สำหรับโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ขณะนี้ระบบประปาใช้งานได้แล้ว อยู่ระหว่างการทำสะพานทางเข้าโรงพยาบาลเนื่องจากน้ำยังท่วมสูงอยู่ โดยจะเร่งทำสะพานให้เสร็จในวันนี้ เพื่อจะเปิดให้บริการแผนกผู้ป่วยนอกโรคทั่วๆไป ได้เต็มรูปแบบในวันพรุ่งนี้ ส่วนแผนกผู้ป่วยในและผู้ป่วยเฉพาะทาง ยังไม่สามารถให้บริการได้ ซึ่งโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาได้ ขอใช้พื้นที่โรงพยาบาลนวนคร 2 เปิดให้บริการรองรับผู้ป่วยโรคเฉพาะทาง และผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัด มีเตียงรองรับจำนวน 40 เตียง มีแพทย์เฉพาะทาง 4 สาขาหลัก ได้แก่ อายุรกรรม ศัลยกรรม สูติกรรมและกุมารเวชกรรม หมุนเวียนไปวันละ 8 คน พยาบาล 20 คน ส่วนใหญ่ที่ไปรับบริการเป็นผู้ป่วยโรคทางอายุรกรรมและบาดแผลที่เกิดจากน้ำท่วม
ปลัด สธ.กล่าวต่อว่า ด้าน จ.ทุมธานี ขณะนี้มีน้ำท่วมใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.สามโคกและ อ.ลาดหลุมแก้ว ซึ่งมีน้ำท่วมหนักที่สุด มีโรงพยาบาลปิดทำการ 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลลาดหลุมแก้ว และโรงพยาบาลสามโคก ซึ่งจะย้ายไปเปิดให้บริการด้านตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนโรงพยาบาลปทุมธานีขณะนี้ยังเปิดให้บริการได้ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก พร้อมกันนี้ได้สำรองเวชภัณฑ์ ระบบออกซิเจน ระบบไฟฟ้าไว้อย่างเพียงพอ แต่เริ่มมีรอยรั่วของคันกันน้ำ ได้จัดเจ้าหน้าที่ดำเนินการซ่อมแซมและติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง
นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อไปว่า ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จนถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2554 หน่วยแพทย์ได้ออกปฏิบัติการทั้งหมด 5,575 ทีม เฉลี่ยวันละกว่า 100 ทีม พบผู้เจ็บป่วยสะสม 622,909 ราย เพิ่มเฉลี่ยวันละ 14,000 ราย โรคที่พบ 5 อันดับแรกได้แก่ น้ำกัดเท้า ปวดเมื่อย ไข้หวัด โรคผิวหนัง และปวดศีรษะ ส่วนการดูแลทางสุขภาพจิตได้เยี่ยมครอบครัวผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมแล้ว 200 ครอบครัว พบผู้มีความเครียดสูง 3,706 ราย มีภาวะซึมเศร้า 5,313 ราย มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 727 ราย และต้องติดตามดูแลเป็นพิเศษ 1,091 ราย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะได้เร่งดำเนินการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตของประชาชนทุกคนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่