xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตน้ำท่วมลุ่มน้ำเจ้าพระยา 2554

เผยแพร่:   โดย: ดำรง นภาพร

วิกฤตน้ำท่วมลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่รวมถึงแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำป่าสักนั้น มีความรุนแรงและยาวนานนับแรมหลายเดือน น้ำเริ่มท่วมตั้งแต่ต้นน้ำจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร อุทัยธานี นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และรุนแรงมากที่อยุธยาเนื่องจากเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมชุมชนหนาแน่นใหม่ ต่อเนื่องมาที่ปทุมธานี นนทบุรีและอาจจะก่อให้เกิดมหาวิกฤตน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพมหานคร

รัฐบาลได้ออกมายอมรับว่าวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้เกิดจากการประเมินปริมาณน้ำผิดพลาดจึงไม่ได้จัดการบริหารน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแยกกันทำงานโดยไม่อ้างอิงหลักวิชาการ มุ่งเน้นแต่จะป้องกันไม่ให้น้ำท่วมพื้นที่ตัวเอง

การป้องกันน้ำท่วมด้วยการสร้างคันดิน กำแพงจะมีประสิทธิภาพดีสำหรับพื้นที่เศรษฐกิจหรือชุมชนที่มีพื้นที่ขนาดเล็ก แต่ถ้าหลายๆ พื้นที่ป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าไปและยิ่งถ้าพื้นที่มีขนาดใหญ่ก็จะทำให้เหลือพื้นที่ที่น้ำท่วมเล็กลงในขณะที่ปริมาณน้ำเท่าเดิม น้ำจึงยกระดับสูงขึ้นมากและท่วมพื้นที่ส่วนที่ต่ำกว่าอย่างรุนแรง ดังนั้นการบริหารน้ำสำหรับพื้นที่ขนาดใหญ่จะต้องป้องกันน้ำท่วมเฉพาะพื้นที่ที่มีความสำคัญซึ่งอาจจะมีหลายระดับพร้อมกับจัดทำหรือจัดหาพื้นที่พักน้ำหรือแก้มลิง เช่น เขื่อน บึง หรือการปล่อยให้น้ำท่วมตื้นๆ ในพื้นที่ขนาดใหญ่ ไว้รองรับน้ำปริมาณมากแล้วจึงค่อยทยอยระบายออก

การระบายน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาโดยปกติจะควบคุมและปล่อยให้น้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาตามปริมาณน้ำที่ไหลมาจากลำน้ำสาขา ปิง วัง ยม น่านที่เขื่อนเจ้าพระยา และที่ชัยนาทผันน้ำบางส่วนไปยังแม่น้ำท่าจีนที่อยู่ฝั่งตะวันตกไหลผ่านสุพรรณบุรี นครปฐมแล้วไหลลงทะเลที่สมุทรสงคราม และผันน้ำอีกส่วนหนึ่งอ้อมไปตามคลองชลประทานฝั่งตะวันออกเพื่อพักเก็บไว้ที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เป็นการกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อเกษตรกรรมและชะลอน้ำให้ไหลผ่านอยุธยาทางแม่น้ำป่าสักในช่วงระยะเวลาหลังจากมวลน้ำสูงสุดที่ไหลมาทางแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านอยุธยาจนถึงกรุงเทพมหานครไปแล้ว ซึ่งเป็นการลดระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ดี

ในปีนี้การบริหารน้ำผิดพลาดตั้งแต่เริ่มมีฝนตกในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามากกว่าปกติแต่ไม่มากกว่าปี พ.ศ. 2538 แต่กรมชลประทานไม่จัดทำแผนปฏิบัติการบริหารการปล่อยน้ำเข้าสู่แม่น้ำและคลองชลประทานที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ และไม่ได้ทำการประเมินปริมาณน้ำทั้งหมดหรือประมาท จึงปล่อยน้ำไปทางแม่น้ำท่าจีนเพียงเล็กน้อย ทั้งๆ ที่ฝนตกในพื้นที่ดังกล่าวน้อยกว่าพื้นที่อื่นเกือบเท่าตัว ผันน้ำบางส่วนไปตามคลองชลประทานด้านตะวันออกเพื่อไปพักที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และปล่อยให้น้ำส่วนใหญ่ไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาจึงมีระดับที่สูงขึ้นกว่าปี พ.ศ.2538 น้ำจึงท่วมพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรีอย่างรุนแรงและระดับน้ำที่สูงนี้ทำให้ไหลข้ามคันกั้นน้ำที่ประตูน้ำบางโฉมศรีและกัดเซาะจนคันกั้นน้ำขาด

น้ำปริมาณมากไหลทะลักเข้าท่วมทุ่งนาพื้นที่ลพบุรีและต่อเนื่องมาอ่างทองสมทบกับน้ำที่ล้นระบายจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มาตามแม่น้ำป่าสักเข้าท่วมอยุธยาอย่างรวดเร็วและรุนแรง น้ำได้ท่วมทั้งชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรมจึงสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล และยังไหลทะลักต่อเนื่องเข้าท่วมพื้นที่จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานครก่อนจะไหลลงทะเล

เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ไม่น่าจะรุนแรงกว่าปี พ.ศ. 2538 เพราะปริมาณน้ำนั้นใกล้เคียงกัน (ข้อมูลที่ได้รับจากนักวิชาการ รศ.ชูเกียรติ์และปราโมท ไม้กลัด)  ถ้ากรมชลประทานหรือหน่วยงานที่มีอำนาจของรัฐบริหารการกระจายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและบางพื้นที่ เช่น ลุ่มน้ำท่าจีนมีความเห็นแก่ส่วนรวมของประเทศชาติโดยยอมให้น้ำกระจายเข้าท่วมบ้างประมาณ 0.5-1เมตร (เป็นระดับน้ำท่วมที่อาจจะมีความเสียหายแต่ไม่มาก) ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นแก้มลิงขนาดใหญ่รับน้ำไว้ส่วนหนึ่ง ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาก็จะไม่สูงจนสร้างความเสียหายร้ายแรงและเป็นวงกว้างอย่างที่เกิดขึ้นในวันนี้

ส่วนพื้นที่กรุเทพมหานครนั้นจะรอดจากน้ำท่วมได้นั้น นอกจากต้องรักษาคันกั้นน้ำโดยเฉพาะด้านทิศเหนือแล้วต้องระบายน้ำให้ไหลบ่ากระจายไปตามพื้นที่เกษตรกรรมเหนือกรุงเทพฯ ทั้งด้านตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งจะต้องเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายภายหลัง โดยที่น้ำจากทุ่งอยุธยาด้านทิศตะวันออกที่ไหลผ่านปทุมธานีมุ่งสู่กรุงเทพฯ ด้านทิศเหนือจะต้องระบายไปทางทิศตะวันออกผ่านทุ่งรังสิต บางน้ำเปรี้ยว ฉะเชิงเทราไปลงแม่น้ำบางประกง  

และอีกส่วนหนึ่งจะไหลผ่านหนองจอก มีนบุรีเข้าสมุทรปราการและระบายลงทะเลด้วยระบบสูบน้ำของกรมชลประทานที่ตั้งอยู่ริมทะเลอยู่แล้ว ส่วนน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาก็จะต้องปล่อยให้ไหลบ่าเข้าทุ่งทางทิศตะวันตกของปทุมธานี ผ่านบางเลน นครปฐมลงสู่แม่น้ำท่าจีนลงทะเลที่สมุทรสาครซึ่งจะทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไม่เพิ่มระดับจนสูงเกินคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา และมวลน้ำที่กำลังท่วมนครสวรรค์อยู่ขณะนี้กำลังไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยานั้น จะต้องระบายบางส่วนไปลงแม่น้ำท่าจีนผ่านสุพรรณบุรีที่ชัยนาทก็จะลดอัตราการไหลและปริมาณน้ำที่ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาจึงจะลดระดับน้ำท่วมสิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรีลงได้เร็วขึ้น และกรุงเทพมหานครก็จะรอดพ้นจากภัยน้ำท่วม
กำลังโหลดความคิดเห็น