xs
xsm
sm
md
lg

สวนล้างไต สุ่มสี่ สุ่มห้า ระวังเชื้อรา-แบคทีเรีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สวนล้างไต สุ่มสี่ สุ่มห้า ระวังเชื้อรา-แบคทีเรีย
โดยจารยา บุญมาก

ช่วงที่พี่น้องชาวไทยกำลังเผชิญวิกฤตน้ำท่วมหลายแห่ง สิ่งที่น่าวิตกกังวลอีกอย่างหนึ่ง คือ โรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาตัวอย่างต่อเต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน แต่ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือ โรคไตวายเรื้อรัง

สำหรับโรคไตวายเรื้อรัง นอกจากต้องกินยาแล้วยังจำเป็นต้องรับการฟอกไต ล้างไต ซึ่งต้องอยู่ภายใต้ความดูแลของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตลอดเวลาที่ทำการฟอกไต ล้างไต เพื่อให้การรักษาตัวเป็นไปอย่างถูกต้องและปลอดภัย

ทว่า ในภาวะฉุกเฉินที่น้ำท่วมนั้นโอกาสที่ผู้ป่วยจะติดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย จากการล้างไต ย่อมมีมากกว่าภาวะปกติอย่างแน่นอน
พญ.ธาริณี
พญ.ธาริณี ศรีพัฒน์พิริยกุล แพทย์อายุรกรรมโรคไต รพ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การการล้างไตทางช่องท้อง (PD) เป็นการทำความสะอาดเลือดและขจัดของเหลวส่วนเกินออกจากร่างกายโดยใช้ตัวกรองที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งก็คือ เยื่อบุผนังช่องท้องของร่างกายนั่นเอง เยื่อบุผนังช่องท้องเป็นเยื่อบางๆ ที่ห่อหุ้มช่องท้อง หรือเป็นเยื่อที่แบ่งช่องในท้อง ซึ่งบรรจุอวัยวะต่างๆ ทั้งกระเพาะอาหาร ม้าม ตับ และลำไส้ น้ำยาล้างไตจะถูกใส่เข้าไปในช่องท้อง เยื่อบุผนังช่องท้องจะทำหน้าที่กรองของเสียและของเหลวออกจากเลือดไปสู่น้ำยาล้างไต หลังจากนั้น 2-3 ชม.น้ำยาล้างไตที่มีของเสียอยู่จะถูกปล่อยออกจากช่องท้องและถูกแทนที่ด้วยน้ำยาใหม่ที่เติมเข้าไป ทั้งหมดนี้เรียกว่า การเปลี่ยนถ่ายน้ำยาล้างไตและการแลกเปลี่ยนของเสีย (Exchange) ซึ่งปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่การพยาบาลคอยบริการผู้ป่วยและถ่ายทอดให้ผู้ป่วยทำเองที่บ้าน แต่ต้องดูแลอุปกรณ์ เช่น สายท่อล้างไตทางช่องท้อง (Peritoneal Dialysis Catheter) และกระเป๋าเก็บสายให้มีความสะอาดอย่างดี ซึ่งส่วนมากผู้ป่วยในชนบทที่อาจต้องคลุกคลีกับฝุ่น กับดิน มักเสี่ยงต่อความผิดพลาดในการติดเชื้อจากการล้างไตทางช่องท้องมากกว่ากลุ่มอื่น
ผู้ป่วยฟอกไต
“กรณีที่เคยพบ คือ ผู้ป่วยมักทำความสะอาดร่างกายน้อย และมักจะนำสิ่งของเครื่องใช้ไปเก็บไว้ในกกระเป๋าผ้าซึ่งใช้สำหรับการเก็บพับสายท่อสำหรับสวนล้าง เช่น เก็บเงิน เก็บกระดาษ หรือเมื่อจำเป็นต้องใช้สายท่อสวนเข้าไปในช่องท้องก็เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือบางรายติดเชื้อรา ซึ่งก่อให้เกิดพังผืดในช่องท้องที่หนา ทำให้การรักษาเป็นไปได้ยาก ของเสียอาจสะสม ดังนั้นนอกจากการฝึกให้ต้มน้ำสะอาด สำหรับผสมน้ำยาแล้วบุคคลากรต้องกำชับเรื่องนี้ให้ผู้ป่วยสามารถเรียนรู้อย่างถูกต้อง” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญกล่าวเสริม

สำหรับอาการติดเชื้อแบคทีเรียนั้น พญ.ธาริณี กล่าวเพิ่มเติม ว่า อาการเบื้องต้นผู้ป่วยอาจมีไข้สูง ปวดท้อง ปวดหัว มีอาการถ่ายเหลว เซลล์อักเสบ ซึ่งแพทย์แจะรักษาโดยการให้ยาฆ่าเชื้อแต่ถ้ากรณีผู้ป่วยอาการรุนแรงก็อาจช็อกและเสียชีวิตได้ ทั้งนี้สำหรับผู้ป่วยที่รักษาตัวเองทั้งในยามปกติและยามสถานการณ์ที่ประสบภัยแนะนำให้สังเกตอาการตัวเองให้ดี หากมีอาการข้างต้นก็ต้องรีบปรึกษาแพทย์ นอกจากนี้ยังมีวิธีการสังเกตอีกอย่าง คือ ให้สังเกตน้ำยาล้างไต หากมีสีขุ่นมัว ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที เพื่อให้การรักษาเป็นไปได้ทันท่วงที แน่นอนว่า ในภาวะที่หลายพื้นที่เผชิญปัญหาอุทกภัยที่ยังไม่ทราบชะตากรรมว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด ดังนั้น สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ยังรักษาตัวอยู่ ก็จำเป็นต้องพึ่งตนเองซึ่งวิธีที่ล้างไตอย่างถูกต้องมีความจำเป็น โดยต้องผสมน้ำยาอย่างระมัดระวัง ทำความสะอาดอุปกรณ์สม่ำเสมอ โดยต้องดำเนินการล้างไต 2 ครั้งต่อวัน ครั้งละไม่เกิน 30 นาที แต่หากพบว่าตัวเองติดเชื้อบ่อยๆ ก็ต้องเปลี่ยนวิธีเป็นการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้ในช่วงวิกฤตน้ำท่วมควรติดต่อสอบถามและหาโรงพยาบาลไว้เตรียมฟอกไตตั้งแต่เนิ่นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น