ถ้าจะถามถึงผลิตภัณฑ์เพื่อเด็กอ่อน อย่างหนึ่งที่หลายคนนึกถึงหนีไม่พ้น “แป้งเด็ก” ที่ทุกวันนี้กระบวนการผลิตล้วนแล้วแต่ใช้นวัตกรรมที่ทันสมัย มีสารพัดสีหลากหลายกลิ่นให้ได้เลือกสรรตามใจทั้งคุณแม่คุณลูก แต่หากถามว่า ทราบไหมว่าในสมัยโบร่ำโบราณที่เทคโนโลยีการผลิตไม่ดีเหมือนทุกวันนี้ คนสมัยนั้นใช้อะไรทาตัว?
อุสา มังคะลา หมอพื้นบ้านจากอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ถ่ายทอดภูมิปัญญาที่สืบทอดมาจากปู่ย่าตายาย ในเรื่องของ “แป้งสมุนไพร” ว่า คนโบราณฉลาดและช่างสังเกต ได้มีการคิดตำรับแป้งสมุนไพรเพื่อแม่และเด็ก และที่พิเศษกว่าแป้งในยุคปัจจุบันก็คือ เป็นแป้งที่ “กินก็ได้-ทาก็ได้” ฟังแบบนี้ ผู้อ่านหลายท่านคงจะเริ่มรู้สึกกันบ้างแล้วว่า เจ้าแป้งที่ว่า มันน่าสนใจอยู่ไม่น้อยจริงๆ
“สมัยก่อนไม่มีแป้งฝุ่นหอมๆ อย่างในปัจจุบัน การทำแป้งทาตัวเด็กนี้เป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ที่สืบต่อกันมา แต่ส่วนผสมแต่ละสูตรจะแตกต่างกันไปตามภูมิประเทศ อย่างชุมชนของชาวนาที่ปลูกข้าวเอง ข้าวหาง่าย จึงทำแป้งจากข้าวสารที่แช่น้ำผสมสมุนไพรแล้วนำมาบดกับโม่หิน ในขณะที่ชุมชนริมทะเลจะทำแป้งจากหอยมือเสือที่นำไปเผาไฟแล้วบดละเอียดผสมสมุนไพร ก็แตกต่างกันไป แต่สูตรที่ได้สืบทอดกันมานั้นเป็นสูตรแป้งข้าวเจ้าผสมพืชสมุนไพรในท้องถิ่นเกาะยาว ทำงานได้ประโยชน์ แถมไม่ปนเปื้อนสารเคมี”
ป้าอุสา อธิบายต่อไปว่า สูตรของคนเกาะยาวนั้นประกอบไปด้วย แป้งข้าวเจ้า เปลือกต้นชะลูด รากแฝกหอม เปราะหอม ใบพิมเสนต้น และขมิ้น
“แป้งข้าวเจ้า ช่วยแก้ผดผื่นลมพิษ เปลือกต้นชะลูดมีกลิ่นหอม สรรพคุณบำรุงหัวใจ หัวเปราะหอมช่วยแก้หวัดคัดจมูก ใบพิมเสนต้นเป็นยาเย็น ป้องกันเชื้อราและแบคทีเรีย ส่วนขมิ้นนอกจากจะช่วยป้องกันผดผื่นแล้วยังช่วยสมานแผลที่ผิวหนังด้วย สูตรนี้ใช้ทาตัวได้ทั้งแม่และเด็กอ่อน มีกลิ่นหอม ใช้ล้างกลิ่นน้ำคาวปลาได้ดี สาวๆ ใช้พอกหน้าก็ไร้สิวฝ้า ราคาถูก ไม่ต้องไปซื้อเครื่องสำอางแพงๆ นอกจากนี้ ยังใช้กินได้อีกด้วย โดยกินเพื่อบำรุงหัวใจ เดี๋ยวนี้ในชุมชนเกาะยาวก็ยังมีคนใช้ ยังทำขายกันอยู่ แม้จะน้อยลงแล้วก็ตาม ด้วยเพราะมีผลิตภัณฑ์สมัยใหม่ออกมามาก ประกอบกับสมุนไพรวัตถุดิบในท้องถิ่นน้อยลงไปตามสัดส่วนการเปลี่ยนพื้นที่การเกษตรเป็นสิ่งปลูกสร้างและอาคารบ้านเรือน”
หมอพื้นบ้านจากอำเภอเกาะยาว ยังแถมท้ายสรรพคุณที่ไม่เหมือนใครของแป้งตำรับพื้นบ้านตำรับนี้ด้วยว่า ภูมิปัญญาดังกล่าวเป็นภูมิปัญญาธรรมชาติแท้ๆ ย่อยสลายได้ ไม่มีฝุ่นแป้งตกค้างในระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะทางเดินหายใจของเด็กอ่อนซึ่งบอบบางมาก ในขณะที่แป้งฝุ่นยุคปัจจุบันที่ทำจาก Talc ซึ่งเป็นแร่ธาตุหินชนิดหนึ่งที่ได้จากธรรมชาติ และหากใช้ทาเป็นเวลานานๆ ติดต่อกัน ก็มีโอกาสที่จะสูดฝุ่นเข้าไปในระบบทางเดินหายใจ และเข้าไปสะสมกันอยู่ในปอดได้ โดยที่เซลล์บุผิวปอดจะดักจับแป้งไว้เป็นก้อน จนเกิดเป็นภาวะ pneumoconiosis ทำให้มีปัญหากับการหายใจได้