ภูมิปัญญาไทยอันทรงคุณค่าที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นนั้น เป็นที่ยอมรับกันในวงกว้างแล้วในยุคปัจจุบัน ว่ามีประโยชน์และสามารถนำมาปรับใช้ได้ดี โดยเฉพาะภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยเพื่อการดูแลสุขภาพ ที่ทุกวันนี้ผู้รักสุขภาพทั้งหลายเลือกที่จะนำมาใช้กันในครัวเรือน แถมหลายสามารถนำไปประกอบอาชีพ กลายเป็นการสร้างรายได้ให้ครอบครัวอีกทางหนึ่ง เพราะความโดดเด่นของภูมิปัญญาด้านสุขภาพของไทยเรานั้น อยู่ที่ราคาถูกแต่มีประโยชน์หลากหลาย แถมโดยมาแล้วสามารถหาวัตถุดิบได้ในท้องถิ่นด้วย
ป้าประไพ วงศ์โต หมอสมุนไพรแห่งต.พนางตุง จ.พัทลุง แนะนำเมนู “ขนมเป็นยา” ตำรับเก่าแก่ที่ได้รับการสืบทอดมาจากพ่อซึ่งเป็นหมอสมุนไพรเช่นกัน โดยขนมที่ว่านี้คือ “ข้าวตูรำข้าว” ที่ใช้กรรมวิธีการทำแบบ “ยากวน” ซึ่งใช้ส่วนผสมหาง่ายในท้องถิ่น รสชาติอร่อยแถมบำรุงสุขภาพอีกด้วย
“ใช้รำข้าว ใบยอ งาดำ ข้าวฟ่าง น้ำตาลโตนด รำข้าวในที่นี้คือจมูกข้าวสังข์หยด มีมากในภาคใต้ เอาใบยอใบตากแห้งแล้วบดละเอียด ผสมกับรำข้าวจากจมูกข้าวสังข์หยด จากนั้นเอาน้ำตาลโตนดขึ้นตั้งไฟเคี่ยว เมื่อเหนียวดีแล้วก็เทใส่รำข้าวที่คลุกกับใบยอดีแล้ว กวนรวมกัน ระหว่างกวนก็ชิมรสให้ออกหวานเหมือนขนม อย่าให้ขมจนกินยาก กวนเสร็จรอให้เย็นก็เอามาปั้นหรือกดเป็นพิมพ์ ปิดท้ายด้วยการโรยหน้าด้วยข้าวฟ่างและงาดำเพื่อเพิ่มกลิ่นหอมชวนกินและรสที่อร่อยขึ้น”
หมอยาสมุนไพรจากเมืองลุงรายนี้กล่าวต่ออีกว่า ยากวนรำข้าวนี้จะมีลักษณะและรสคล้ายขนมข้าวตู แต่อาจเฝื่อนกว่านิดหน่อยเพราะผสมใบยอลงไปด้วย หากเป็นของบำรุงสุขภาพ กินเป็นยาเลยก็ได้ หรือจะกินเป็นขนมคู่กับน้ำชาก็ดี
“โบร่ำโบราณเวลาแข้งขาไม่มีแรง เป็นเหน็บชา หรือเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาต ผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะทำยากวนนี้ให้กิน เดิมของเก่าไม่ได้ใส่งาดำและข้าวฟ่าง ป้ามาประยุกต์เอาใหม่ เพราะมันมีคุณประโยชน์เยอะแถมอร่อย และกลิ่นชวนกิน ทำให้เหมือนขนมมากขึ้น กินง่าย เด็กๆ ก็กินได้ สรรพคุณของมันจะช่วยบำรุงเส้นเอ็น เสริมความแข็งแรงของกระดูก แก้เหน็บชา วัตถุดิบหาง่าย วิธีทำไม่ยาก แถมราคาถูก ไม่ต้องไปเสียเงินซื้อวิตามินแก้เหน็บชาของฝรั่งกินแพงๆ ภูมิปัญญาไทยใช้มานานแล้ว”
ป้าประไพ ทิ้งท้ายด้วยว่า ก่อนหน้านี้วัตถุดิบในท้องถิ่นยังมีเหลือเฟือ แต่ภายหลังการลดพื้นที่สีเขียวเพื่อปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนทำให้สมุนไพรต่างๆ เริ่มลดลง แม้จะยังไม่ขาดแคลนแต่ก็น้อยกว่าสมัยก่อน จึงอยากฝากให้คนในท้องถิ่นชุมชนต่างๆ รักษาพื้นที่สีเขียวเอาไว้เพื่อใช้ประโยชน์จากพืชพันธุ์สมุนไพรที่ในแต่ละท้องที่จะมีแตกต่างกันไป ซึ่งนั่นทำให้ภูมิปัญญาไทยมีความหลากหลาย และมีประโยชน์หลายทาง