รมว.สธ.มอบกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ ผลิตยาสมุนไพร ชุดภูมิปัญญาไทยช่วยน้ำท่วม มีตัวยา 5 ชนิด ใช้ประจำครัวเรือน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ รักษาไข้หวัด บรรเทาอาการท้องอืด และผลิตยาหม่องสูตรรวม 3 สมุนไพร ทาแก้ปวดเมื่อย กันยุงกัด บำรุงผิว สำรองส่วนกลาง 50,000 ขวด
วันนี้ (18 ก.ย.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) พร้อมด้วย นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิง วิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายแพทย์ สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นำคณะแพทย์ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ อำเภอบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา โดยไปที่วัดวิเวกวายุพัด ตำบลคลองจิก และเทศบาลตำบลปราสาททอง ตำบลบางเลน ซึ่งถูกน้ำท่วมประมาณ 1,400 หลังคาเรือน เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อน และเร่งให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่
นายวิทยา กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ขณะนี้มี 15 อำเภอจากทั้งหมด 16 อำเภอ สถานบริการสาธารณสุขถูกน้ำท่วมทั้งหมด 30 แห่ง ใน 6 อำเภอ ได้แก่ อ.บางบาล 10 แห่ง อ.บางไทร 9 แห่ง อ.บางปะอิน 7 แห่ง อ.ผักไห่ 2 แห่ง อ.เสนา และ อ.นครหลวง อำเภอละ 1 แห่ง แต่ยังสามารถเปิดให้บริการได้ เกือบทั้งหมดเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)
นายวิทยา กล่าวต่อไปว่า หลังจากเกิดน้ำท่วมขังตามจังหวัดต่างๆ กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งยาและเวชภัณฑ์จากส่วนกลาง ไปช่วยประชาชน โดยเป็นยาชุดช่วยผู้ประสบภัย 827,500 ชุด ยาตำราหลวง 35,500 ชุด ยารักษาน้ำกัดเท้า จำนวน 151,000 หลอด และสำรองไว้ที่ส่วนกลางอีก 600,000 ชุดรวมทั้งยารักษาน้ำกัดเท้า พร้อมกันนี้ได้ให้กรมพัฒนาแพทย์แผนไทยฯ ผลิตยาสมุนไพร ชุดยาภูมิปัญญาไทย เพื่อนำมาช่วยเหลือครอบครัวผู้ประสบภัยน้ำท่วม ยาดังกล่าวประกอบด้วยยา 5 ชนิด ซึ่งผู้สูงอายุรู้จักกันดี ได้แก่ 1.ยาฟ้าทะลายโจร บรรเทาอาการเจ็บคอ ไข้หวัด แก้ท้องเสีย 2.ยาขมิ้นชัน บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ 3.ยาจันทน์ลีลา แก้ไข้ตัวร้อน 4.บาล์มตะไคร้ ทาบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ลดการอักเสบของผิวหนัง แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย ป้องกันยุง และ 5.ครีมพญายอ ทาบรรเทาอาการของเริม และงูสวัด และมียาหม่องทาแก้ปวดเมื่อยด้วย เบื้องต้นในวันนี้ได้ให้หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่ อ.บางปะอิน นำไปให้ผู้ประสบภัยแล้วจำนวน 300 ชุด สำรองไว้อีก 1,000 ชุด
นอกจากนี้ยังได้ผลิตยาหม่องสมุนไพรสูตรพิเศษให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมใช้บรรเทาอาการได้หลายอย่าง มีตัวยา 3 ชนิด ได้แก่ไพล มีสรรพคุณแก้ปวดเมื่อย ตะไคร้หอม ป้องกันยุงกัด และน้ำมันมะพร้าว ลดการอักเสบ และบำรุงผิว ผลิตจำนวน 50,000 ขวด และผลิตครีมใบพลู ใช้บรรเทาอาการแพ้แมลงสัตว์กัดต่อย แก้ลมพิษ จำนวน 500 หลอด ข่าทิงเจอร์ แก้น้ำกัดเท้า จำนวน 400 ขวด ทองพันชั่งทิงเจอร์ ทาแก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน อักเสบ 400 ขวด คาราไมล์จากเสลดพังพอน บรรเทาอาการผดผื่นคัน 500 ขวด ครีมพญายอแก้งูสวัด 500 หลอด และยาหม่องทาแก้ปวดเมื่อย 6,000 ขวด
นายวิทยา กล่าวต่ออีกว่า ตั้งแต่น้ำท่วมเป็นต้นมา กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่รักษาผู้เจ็บ ป่วยในพื้นที่ประสบภัยรวม 1,874 ครั้ง รวมจำนวนผู้รับบริการสะสม 246,757 ราย โรคที่พบ 5 อันดับแรก ได้แก่ น้ำกัดเท้า ไข้หวัด ปวดกล้ามเนื้อ โรคผิวหนัง และโรคเครียด ไม่มีโรคระบาดที่มากับน้ำท่วม