“วิทยา” นั่ง ปธ.ประชุมบอร์ด สสส.ประเดิมนัดแรก ผ่านแผนหลักปี 55-57 ย้ำแผน 1 ปี ให้สอดรับนโยบายเร่งด่วนรัฐบาล เพิ่ม “แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ” รับมือวิกฤตอาหาร-สุขภาพ เน้นสร้างแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย หลังพบเด็กไทยดื่มน้ำหวาน 110 ขวด/ปี กินผักน้อยกว่า 1 ทัพพีต่อวัน ไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์ ขณะที่ 1ใน3 คนไทยเคยป่วยอาหารเป็นพิษ ตั้งเป้า 3 ปีลด “เหล้า-บุหรี่-อุบัติเหตุ” ลดท้องไม่พร้อม และการติดเชื้อเอชไอวี
ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานคนที่ 1 สสส.เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุน สสส. เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบแผนการดำเนินงาน สสส.ประจำปี 2555-2557 และแผนการดำเนินงานประจำปี 2555 โดยได้มอบหมายที่ประชุมให้ปรับแผนการดำเนินงานรายปี ให้สอดรับกับนโยบายเร่งด่วน 1 ปีของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงแผนการดำเนินงาน 3 ปี ให้สอดคล้องกับแผนรายปี และการดำเนินงานตามวาระ 4 ปีของรัฐบาล ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ยกระดับแผนงานด้านอาหารและโภชนาการเป็น “แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ” โดยตนเน้นย้ำเรื่องการให้ความสำคัญกับการดูแลแหล่งกำเนิด และแหล่งผลิตอาหารในภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย
“ที่ผ่านมา การผลิต-บริโภคอาหารของไทย ส่งผลเสียต่อสุขภาพสูงมาก ทั้งภาวะอ้วนลงพุงที่มีอัตราเพิ่มอย่างรวดเร็วตั้งแต่วัยเด็ก พฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม พบว่า เด็กไทย 25.3% ดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มที่มีรสหวานทุกวัน คิดเป็น 110 ขวด/คน/ปี ในขณะที่บริโภคผักผลไม้เพียง 0.7-1.3 ส่วนมาตรฐานต่อวัน นำไปสู่เด็กไทยอ้วนและมีระดับเชาว์ปัญญาลดลงเหลือเพียง 88-91 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ คือ 90-110 นอกจากนี้ ข้อมูลทางระบาดวิทยาจากการตรวจพิษสารเคมีเกษตรในเลือดของเกษตรกรและผู้บริโภค พบระดับความเสี่ยงในระดับไม่ปลอดภัยมากกว่า 50% ในทุกกลุ่ม สะท้อนถึงปัญหาการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสมและไม่ปลอดภัย ดังนั้น สสส.จึงพัฒนายกระดับให้มีแผนอาหารเพื่อสุขภาวะขึ้น เพื่อร่วมมือและร่วมสนับสนุนภาคีภาครัฐและภาคส่วนต่างๆ เตรียมพร้อมรับมือวิกฤตอาหารและสุขภาพในอนาคต” นายวิทยา กล่าว
นายวิทยา กล่าวอีกว่า เป้าหมายปี 2555-2557 จะเน้นบูรณาการทำงานลดปัจจัยเสี่ยงด้านต่างๆ ร่วมกับชุมชนท้องถิ่นให้มากขึ้น โดยการดำเนินงานลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ อาทิ แผนควบคุมยาสูบ ตั้งเป้าลดอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทย ที่ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 32.0% ในปี 2534 เป็น 20.7% ปี 2552 ให้ลดลงอีกจนเหลือ 18.6 % ภายในปี 2557 แผนควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติด ต้องการลดอัตราการดื่มของคนไทยในปี 2557 ให้เหลือน้อยกว่า 28.5% จาก 30% ในปี 2550
ส่วนแผนการจัดการความปลอดภัยทางถนนและภัยพิบัติ ตั้งเป้าหมายภายใน 3 ปี จะต้องบูรณาการงานป้องกันและลดอุบัติเหตุในพื้นที่อย่างมีประสิทธิผล ครอบคลุมอย่างน้อย 75 จังหวัด เพื่อนำไปสู่การลดอัตราตายบนท้องถนนลงครึ่งหนึ่งในทศวรรษหน้า ตามเป้าหมายร่วมของประเทศ ในประเด็นการจัดการภัยพิบัติ จะต้องเกิดกลไกและแผนเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติร่วมกันในชุมชน อย่างน้อย 3 รูปแบบ เพื่อให้ท้องถิ่นจัดการตนเองและช่วยพื้นที่ใกล้เคียงได้ รวมทั้งการสนับสนุนระบบบริการและการป้องกันการท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น แก้ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย เพื่อลดการระบาดของเอชไอวีลง นอกจากนั้นตนได้มอบนโยบายให้วางแนวทางในการจัดทำระบบให้คำปรึกษาวัยรุ่น โดยอาจเป็นลักษณะของศูนย์ให้คำปรึกษา หรือการให้คำปรึกษาผ่านระบบ sms หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก รวมทั้งสนับสนุนให้มีการสื่อสารและให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพกับประชนและป้องกันโรคเบาหวาน และความดันในสถานพยาบาล หรือ รพ.สต.โดยผ่านระบบมัลติมีเดียด้วย