รายงานพิเศษโดย : เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ
ไม่เกินความคาดหมาย เมื่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มาทำหน้าที่บริหารประเทศแล้วจะหวนกลับมาหยิบโครงการสำคัญๆ ที่เป็นต้นกำเนิดนโยบายประชาชนิยมที่ได้เคยดำเนินการมาเมื่อครั้งรัฐบาลสมัย ไทยรักไทย ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่
หากมองเฉพาะนโยบายด้านการศึกษา ที่ได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 23-24 ส.ค.ที่ ผ่านมานั้น ในเรื่องการสร้างโอกาสทางการศึกษา รัฐบาลมุ่งเน้นกระจายโอกาสทางการศึกษาในสังคมไปสู่ประชากรทุกกลุ่ม หมายรวมถึงผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส และผู้พิการ ซึ่งแน่นอนว่ายังเน้นการลดข้อจำกัดในการเข้าถึงการศึกษาด้วยการ คืนชีพ “โครงการเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต” หรือ กรอ.ให้กลับมามีบทบาทอีกครั้งหลังจากยุติการปล่อยกู้ กรอ.ไปในปี 2550
ทั้งนี้ ก่อนหน้าแถลงนโยบายของรัฐบาล นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้เรียกผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ. พร้อมด้วยตัวแทนกระทรวงการคลัง ที่ทำหน้าที่ดูแลกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามารับนโยบายที่จะให้มีการ ฟื้นกองทุน กรอ.และให้ยุติการดำเนินโครงการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) พร้อมสั่งให้มีการพักหนี้ของผู้กู้ กยศ.โดยไม่ให้มีการดำเนินคดีความ และมีแนวคิดจะให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เข้ามามีบทบาทสำคัญในการนำผู้กู้ กยศ.ที่ยังไม่มีงานทำมาอบรมสร้างอาชีพ ด้วยมองว่าสาเหตุที่ผู้กู้ กยศ.ไม่สามารถใช้หนี้คืนกองทุนได้นั้นเนื่องมาจากไม่มีงานทำอีกทั้งปัญหาหลักของ กองทุน กยศ.คือ การปล่อยกู้ที่ไม่เน้นให้กู้ในสาขาที่มีงานทำ ทำให้จบมาไม่มีงานทำ พร้อมให้หลักการเบื้องต้นว่า กองทุน กรอ.จะเน้นการปล่อยกู้ในสาขาที่จบแล้วมีงานทำแน่นอน และให้เริ่มชำระหนี้เมื่อมีรายได้ตามเกณฑ์ขั้นต่ำ 16,000 บาท เพื่อจูงใจให้ผู้เรียนกล้าที่จะเข้ามาขอกู้กองทุน กรอ.มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม การฟื้นกองทุน กรอ.ขึ้นมาอีกครั้งยิ่งตอกย้ำว่าการสานต่อหรือก่องานใดก็ตาม ล้วนขึ้นอยู่ว่า ณ ขณะนั้นใครคือผู้ที่มีเสียงข้างมาก และมีอำนาจในมือมือที่สุด เพราะฉะนั้นการนำ กรอ.กลับมาแม้จะต้องเสียเวลาในการไปจัดทำกฎหมาย ระเบียบ และรายละเอียดอีกมากเพื่อนำมาปล่อยกู้ให้ทันในปีการศึกษา 2555 ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลชุดนี้ยอมทำ เช่นเดียวกับการประกาศยุติให้ปล่อยกู้กองทุน กยศ.ซึ่งเป็นกองทุนที่เกิดจากแนวคิดของพรรคประชาธิปัตย์ คงเป็นไปเรื่องยากที่รัฐบาลซึ่งอยู่คนละขั้วจะสานต่องาน ทั้งที่กองทุน กยศ.ดำเนินการภายใต้มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติปี 2538 และพระราชบัญญัติ พ.ร.บ.กยศ.พ.ศ.2541 ปล่อยกู้ครั้งแรกปีการศึกษา 2539 จนถึงปัจจุบันปีการศึกษา 2554 เป็นระยะเวลา 14 ปี ข้อมูลจาก กยศ.ระบุว่า งบประมาณที่ใช้ในการกู้ยืม กยศ.จำนวนทั้งสิ้น 357,000 ล้านบาท รองรับผู้กู้ยืมรวม 3,700,000 ราย โดยมีผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระคืน 2,400,000 ราย มาชำระ 1,800,000 ราย คิดเป็นร้อยละ75
ในทางกลับกัน กองทุน กรอ.สามารถปล่อยกู้ได้เพียงรุ่นเดียวเท่านั้น โดยเริ่มนำร่องปล่อยกู้ให้แก่นักศึกษาชั้นปี 1 เป็นครั้งแรกในปีการศึกษา 2549 ในครั้งนั้นมีผู้ยื่นกู้กว่า 300,000 ราย ส่วนระดับชั้นอื่น ๆ ยังให้กู้ในกองทุน กยศ.แต่ท้ายที่สุดกองทุน กรอ.ต้องยุติการปล่อยกู้ให้ผู้กู้รายใหม่ในปีการศึกษา 2550 ตามที่ ครม.มีมติอนุมัติให้เลิกกองทุน กรอ.แต่ให้ดูแลผู้กู้รายเก่าไปจนกว่าจะจบการศึกษาซึ่งไม่เกินปีการศึกษา 2554 เหตุ ที่ต้องเลิกเพราะเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญ รัฐบาลขิงแก่นำโดย พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ เป็นนายกฯ ทำหน้าที่บริหารงานประเทศ ขณะที่ ศธ.ได้ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน 1 ใน 9 อรหันต์ที่มีบทบาทสำคัญต่อการร่างนโยบายปฏิรูปการศึกษามานั่งเก้าอี้เสมา 1 ก็ ได้มีการพิจารณาให้นำกองทุน กยศ.มาให้บริการเพียงกองทุนเดียว และแม้ว่าช่วงหนึ่งสมัยรัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ และ รมว.ศธ.จะได้พยายามฟื้นกองทุน กรอ.ขึ้นมาใหม่แต่เพราะรัฐบาลมีอายุการทำงานไม่นานท้ายที่สุดการนำ กรอ.กลับมาใช้จึงไม่เป็นผลสำเร็จ
ความจริงแล้วเป้าหมายของกองทุน กรอ.และ กยศ.คือ การขยายโอกาสทางการศึกษาเพียงแต่ว่า กยศ.จะเน้นการปล่อยกู้ให้กับผู้ด้อยโอกาสขาดแคลนทุนทรัพย์ รายได้ครอบครัวต่ำกว่า 200,000 บาทต่อปีมีโอกาสเรียนต่อโดยปล่อยกู้ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อนุปริญญา และระดับอุดมศึกษา คิดดอกเบี้ย ร้อยละ 1 และเมื่อครบกำหนด 2 ปีต้องใช้หนี้คืนทันที ส่วน กรอ.ยึดหลักการให้เด็กทุกฐานะที่ประสงค์จะกู้เงินมีสิทธิ์กู้เงินเรียนได้ เน้นเฉพาะระดับอุดมศึกษา ส่วนระดับมัธยมศึกษาที่ยากจนจะเป็นทุนให้เปล่า และการผ่อนชำระหนี้คืนจะสัมพันธ์กับการมีงานทำ เมื่อใดก็ตามที่ผู้กู้มีรายได้ต่อเดือนตามเกณฑ์ขั้นต่ำ 16,000 บาท จึงค่อยผ่อนชำระเงิน ซึ่ง กรอ.นั้น ไม่คิดอัตราดอกเบี้ยแต่ปรับมูลค่าของหนี้เงินกู้ตามอัตราเงินเฟ้อใน แต่ละปีโดยกำหนดเพดานไม่เกินร้อยละ 3 โดยให้กรมสรรพากรทำหน้าที่ติดตามชำระหนี้
แต่ปัญหาสำคัญของกองทุน กยศ.ที่ประสบอยู่ คือ การค้างชำระหนี้ส่งผลให้ทางกองทุน กยศ.จำเป็นต้องฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กู้ที่ค้างชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะพยายามจัดโครงการไกล่เกลี่ยหนี้แล้วก็ตาม ซึ่งปัจจุบันมีผู้ค้างชำระหนี้ กยศ.ที่ถูกบอกเลิกสัญญาและเข้าข่ายถูกฟ้องดำเนินคดีมากกว่า 1.6 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้ที่ค้างชำระ 1.59 หมื่นล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้ค้างชำระหนี้มากที่สุด5.89 หมื่นราย และยังคงมีหนี้เสียที่นักศึกษาขาดการติดต่อกับ กยศ. อีกมากกว่า 5 แสนราย คิดเป็นยอดเงินรวม 7,000 ล้านบาท ซึ่งปัญหาการฟ้องร้องดำเนินคดีนี่เองเป็นเหตุผลประกอบที่รัฐบาลชุดปัจจุบัน มองว่าเป็นจุดบอดของกองทุน กยศ.ในส่วนของการติดตามหนี้ของผู้กู้กองทุน กรอ.นั้นปีนี้ (2554)จะเป็นปีแรกที่ครบกำหนดผู้กู้ จะต้องติดต่อเพื่อชำระหนี้ แต่ก่อนหน้าก็มีการพูดถึงเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่จะส่งผลต่อการชำระหนี้ซึ่ง เรื่องดังกล่าวจะถูกนำมาทบทวนในการฟื้นกองทุน กรอ.ในคราวนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแทบจะหยิบเอาข้อดีข้อเสียของทั้ง 2 กอง ทุนมาศึกษาและบูรณาการจัดทำระบบให้ดีอย่างแท้จริงทั้งที่รู้ว่าอะไรคือปัญหา ที่ต้องแก้ไข นั่นเพราะล้วนแต่ยึดนโยบายของตนเองเป็นที่ตั้งจนทำให้การพัฒนาคุณภาพการ ศึกษาขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาของรัฐบาล โดยไม่ได้คำนึงเลยว่าการประกาศให้มีอยู่หรือยุติการดำเนินการกองทุนใดกองทุน หนึ่งลงไปนั้น จะสร้างความสับสนให้ผู้ใช้บริการ รวมไปถึงการสร้างความลำบากให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน และนับจากนี้รัฐบาลต้องเร่ง สร้างความกระจ่างใจแก่ผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษาว่าทิศทางของกองทุน กรอ.จะเป็นเช่นไร สาขาวิชาใดบ้างที่จะเปิดให้ขอกู้ นอกจากนี้ เรื่องมาตรการการดูแลผู้กู้รายเก่ากองทุน กยศ.จะทำเช่นไร รวมถึงมาตรการการพักหนี้นั้นจะดำเนินการรูปแบบใด เพราะทุกคนยังเฝ้ารอความชัดเจน