xs
xsm
sm
md
lg

“ชินวรณ์” ติงฟื้น กรอ.เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ชินวรณ์” ติงนโยบายฟื้น กรอ.เห็นชัดเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ จี้ นายกฯตอบคำถาม เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนถามมากที่สุด ชี้พรรค พท.ตั้งรัฐมนตรีด้านสังคมผิดฝาผิดตัว

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (อดีต รมว.ศธ.) กล่าวว่า เท่าที่ดูนโยบายทางการด้านสังคม การศึกษา และคุณภาพชีวิตของรัฐบาลนั้น ซึ่งแต่ละฝ่ายคงไปเขียนกันไปโดยขาดการบูรณาการ ขาดการมองไปถึงการปฏิบัติจริง ทั้งนี้ เพราะรัฐบาลนี้ไม่ให้ความสำคัญกับนโยบายด้านสังคมทัดเทียมกับนโยบายด้านเศรษฐกิจ การมอบหมายงานให้รัฐมนตรีกระทรวงด้านสังคม จึงใช้คนไม่ตรงกันงาน อย่างนายสันติ พร้อมพัฒน์ เชี่ยวชาญด้านก่อสร้างกลับตั้งเป็น รมว.พม.ขณะที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ทั้ง 3 คน ก็แต่งตั้งแบบผิดฝาผิดตัว น่าเป็นห่วงว่า นโยบายด้านสังคมของรัฐบาลนี้จะเอาจริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของนโยบายรัฐบาล คือ พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและนำประเทศไปสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งหัวใจสำคัญ คือ การศึกษา ขณะที่นายกฯ แถลงว่า จะมีการปฏิรูปองค์ความรู้ หลักสูตร แต่จริงๆ แล้ว ควรกำหนดให้เรื่องการพัฒนาการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ทุกคนทุกภาคส่วนมีความเข้าใจในเป้าหมายหลักตรงกัน รัฐบาลที่ผ่านมา ได้ทำปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 วางระบบรากฐานที่ดีไว้ รัฐบาลนี้ควรใจกว้างควรเดินหน้าปฏิรูปการศึกษาต่อ

นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการกระจายโอกาสและความเสมอภาคทางด้านการศึกษานั้น ตนอ่านนโยบายรัฐบาลแล้ว เห็นชัดว่า คนเขียนนโยบายเข้าใจเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ การเข้าถึงโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาในโลกยุคใหม่ คือ การเข้าถึงคุณภาพทางการศึกษาแต่รัฐบาลนี้ไม่พูดถึงเรียนฟรี 15 ปี ว่า จะเอาอย่างไร เด็กนักเรียนในชนบทยังมีโอกาสที่จะได้รับจัดสรรชุดนักเรียน อุปกรณ์ ตำราเรียนฟรี เงินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนหรือไม่ ที่น่าเป็นห่วง คือ นายกฯพูดใหม่ๆ จะยกเลิกตำราเรียนฟรีไปซื้อแท็บเล็ต ทั้งๆ ที่งบตำราเรียนแค่ 6 พันล้าน จากงบเรียนฟรีทั้งหมด 7.6 หมื่นล้าน เพราะฉะนั้น อยากให้รัฐบาลยืนยันชัดเจนว่า เด็กทุกกลุ่ม ไม่ว่าอยู่ห่างไกล ด้อยโอกาสอย่างไร จะมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

“อีกเรื่องที่ได้รับคำถามจากประชาชนอย่างมาก คือ กรณีที่รัฐบาลเตรียมยกเลิก กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปลี่ยนมาเป็น กองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) นั้น เมื่อสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีนโยบายชัดเจนจะเพิ่มเงินกองทุน กยศ.ให้นักเรียนที่ด้อยโอกาสอีก 250,000 ราย ปัจจุบันมีเงินปล่อยกู้ทั้งหมด 1.3 แสนล้านบาท จำนวนผู้กู้ 2.3 แสนคน มีลูกหนี้ กยศ.ที่จบและมีงานทำ 4 แสนกว่าคน ทั้งนี้ อยากถามรัฐบาลว่า คิดแล้วหรือไม่ว่า จะยกเลิก กยศ.ต้องอาศัยกฎหมายอะไร ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ และเตรียมงบประมาณไว้อย่างไร ผมไม่อยากจะพูดโดยความคิดเห็นของตัวเอง แต่ดูข่าวพาดหัววันนี้ คลังกุมขมับ ฟื้น กรอ.เพราะมีอีกหลายประเด็นที่ต้องขบคิดหากจะฟื้น กรอ.โดยเฉพาะกรณีที่ กรอ.ให้ลูกหนี้ใช้เงินคืนเมื่อมีรายได้ถึงเดือนละ 16,000 บาท ฉะนั้น อยากถามว่าหากผู้กู้ยืมไม่มีรายได้ถึง 16,000 บาท กรอ.จะทวงเงินคืนอย่างไร เพื่อภาษีของประชาชนกลับไปสู่การหมุนเวียน นอกจากนั้น ยังมีคำถามด้วย กรอ.ดีกว่า กยศ. อย่างไร ถึงต้องการจะเปลี่ยนแปลง ไม่ใช้ว่า รัฐบาลไม่อยาก กยศ.ให้กินใจ เพราะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนถึง 2.3 ล้านคน” นายชินวรณ์ กล่าวและว่า หัวใจสำคัญการศึกษาทัดเทียมนานาประเทศ อยู่ที่ครู และรัฐบาลที่ผ่านมาได้เตรียมขึ้นเงินครู 13% พร้อมพัฒนาทั้งครูทั้งระบบ แต่รัฐบาลนี้กับยกเลิกโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ เช่นนี้แล้วจะพัฒนาครูอย่างไรให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น