ปชป.ชำแหละนโยบายสังคม การศึกษาไร้รูปธรรม วางคนไม่ตรงกับงาน อัด งานแรก “วรวัจน์” สั่งเปลี่ยนพรมทางเดินเข้าห้องทำงาน รมต.3 ล้านบาท จวก แจกแท็บเล็ตทำเด็กติดเกม ไม่พัฒนาทักษะการอ่าน อัดพฤติกรรมเดิมๆ วางนโยบายแบ่งภาค แยกแผ่นดิน
การประชุมรัฐสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 176 ของรัฐธรรมนูญเป็นวันที่สอง เป็นไปอย่างราบรื่น โดยตอนนี้เป็นการสลับกันขึ้นอภิปรายระหว่าง ส.ส.และ ส.ว.เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลในด้านการศึกษา ซึ่งฝ่ายค้านมีความเห็นว่ายังไม่มีความชัดเจน และไม่มีทิศทางในการดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรมได้
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อดีต รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า นโยบายด้านสังคมของรัฐบาลชุดนี้ เหมือนเป็นนโยบายแก้บนหาเสียง ไม่บูรณาการ และรัฐบาลชุดนี้ไม่ให้ความสำคัญในการมอบหมายงานให้รัฐมนตรี เพราะวางคนไม่ตรงกับงาน อย่าง นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ แทนที่จะดูกระทรวงสาธารณสุข ก็ไปเป็น รมต.สำนักนายกฯ นายสันติ พร้อมพัฒน์ เชี่ยวชาญด้านรับเหมาก่อสร้าง ก็ไปดูกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นายชินวรณ์ อภิปรายต่อว่า เป็นห่วงนโยบายปรับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ว่า จะไปเอาเงินตรงไหนมาใช้ในกองทุน และที่บอกว่า คนรวยก็กู้ยืมเงินเรียนได้จริงหรือไม่ แล้วรัฐบาลได้มีการเตรียมการอย่างไรในเรื่องนี้ ส่วนนโยบายแจกแท็บเล็ตให้เด็ก ป.1 นั่น จริงๆ แล้วหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา คือ เราต้องสร้างคือบัณฑิตยุคใหม่ หัวใจก็คือครู รัฐบาลที่ผ่านมาจึงได้อนุมัติเห็นชอบให้ขึ้นเงินเดือนครู 13% และมีการพัฒนาครูเป็นสายวิชาชีพเชียวชาญ แต่รัฐบาลนี้จะยกเลิกครูพันธุ์ใหม่ อยากให้ตอบให้ได้ว่าแล้วเราจะพัฒนาครูอย่างไร
นายประกอบ รัตนพันธ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายนโยบายด้านการศึกษาโดยได้ตำหนิ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศึกษาธิการ ว่า จะมีวิสัยทัศน์ในการปฏิรูปการศึกษาขนาดไหน เพราะก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ปรากฏว่า มีการสั่งให้เปลี่ยนสีพรมทางเข้าห้องทำงานจากสีชมพูเป็นสีแดง โดยใช้เงินประมาณ 2-3 ล้านบาท แทนที่จะเอาเงินจำนวนนี้ไปสร้างโรงเรียนได้ถึง 1 แห่ง หรือเอาไปเป็นทุนอาหารกลางวันเด็ก และนมโรงเรียนจะดีกว่า
นายประกอบ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีความสับสนในนโยบายหลายด้าน เช่น เงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 15,000 บาท ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะครอบคลุมผู้จบการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาหรือเทียบเท่าหรือไม่ เพราะถือว่าเป็นความเหลื่อมล้ำ และปฏิบัติไม่เท่าเทียมกัน เช่นเดียวกับการจัดตั้งกองทุนตั้งตัวได้ ในวงเงินประมาณ 1 พันล้านบาท ให้กับสถาบันอุดมศึกษาที่ร่วมโครงการสนับสนนุสร้างผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่กระทรวงศึกษาฯ จะดำเนินการได้หรือไม่ และจะแน่ใจได้อย่างไรว่าการตั้งกองทุนดังกล่าวจะสามารถไปสร้างอาชีพได้จริง
“ที่น่ากลัวที่สุด คือ การให้สัมภาษณ์ของ รมว.ศึกษาฯ ว่า จะยกเลิกระบบวิทยฐานะให้กับครู ซึ่งจากเดิมที่ประเมินโดยฝ่ายวิชาการของภาคราชการ แต่จะเปลี่ยนเป็นให้ผู้ปกครองประเมินแทน แนวคิดนี้จะส่งผลเสียอย่างรุนแรง จะทำให้ครูวิ่งเข้าหาผู้ปกครองมากกว่าจะผลิตผลงานทางวิชาการออกมาเพื่อพัฒนาระบบการศึกษา จึงอยากขอความชัดเจนจากรัฐบาล เพราะจะกระทบต่อกำลังใจของครูทั่วประเทศ” นายประกอบ กล่าว
นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นโยบายจัดหาแท็บเล็ตพีซีให้นักเรียนในชั้นประถมปีที่ 1 เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะยังเป็นระดับชั้นที่ต้องการพัฒนาทักษะการอ่านการเขียน การให้แท็บเล็ตที่ใช้มือสัมผัสในการอ่านการเขียน จึงไม่ช่วยพัฒนาทักษะการอ่านการเขียน เด็กในชั้นนี้ต้องการครูมากกว่าต้องการแท็บเล็ต ผลเสียที่ตามมาคือผลกระทบกับพัฒนาการทางสายตา และการมองเห็น ปัญหาสิ่งยั่วยวนทางอินเทอร์เน็ตที่จะมีต่อเด็กอายุ 6 ปีที่ยังไม่มีความสามารถในการกลั่นกรองสิ่งที่พบในโลกอินเทอร์เน็ต ปัญหาเหล่านี้จะส่งผลกระทบกับโรงเรียนและสังคมไทยในที่สุด
“อนาคตเด็กนอกจากจะติดเกมแล้ว ยังจะติดแท็บเล็ต เพราะมีโอกาสใช้เล่นเกมได้ตลอดเวลา หากจำเป็นต้องแจกแท็บเล็ตตามที่หาเสียง ควรแจกกับเด็กชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีความพร้อมจะเหมาะสมกว่า ประเด็นสำคัญเนื้อหาที่จะใช้ในแท็บเล็ตยังไม่มีใครทำ การปฏิบัตินโยบายโดยการอบรมครูเพื่อการสอนโดยใช้แท็บเล็ตจะทำอย่างไร ถ้าครูไม่พร้อมจะทำอย่างไร และความไม่พร้อมของโรงเรียนในชนบทเรื่องอินเทอร์เน็ตไร้สายจะทำอย่างไร หากทำต่อไปเกรงว่าจะเกิดปัญหาสองมาตรฐานเกิดขึ้นกับเด็กในชนบทได้”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอภิปรายของ ส.ส.ฝ่ายค้านยังได้วิจารณ์ถึงความไม่เป็นธรรมในการจัดนโยบาย โดยยังคงพฤติกรรมพัฒนาเฉพาะกลุ่มคนที่ให้การสนับสนุนพรรคเพื่อไทยเท่านั้น ส่วนกลุ่มที่ไม่ให้การสนับสนุนจะถูกเพิกเฉย เช่น นายวิฑูรย์ นามบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ หยิบยกกรณีโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยอง และ รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-สายใต้ ซึ่งเป็นโครงการเดิมที่เกิดในรัฐบาลชุดก่อน แต่เป็นพื้นที่ที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้รับชัยชนะเลือกตั้ง แต่ก็ถูกตัดออกไป
หากรัฐบาลอยากให้เกิดความปรองดองสามัคคี อย่าเลือกภาค อย่าทำหินแตกอย่าแยกประชาชน จะเติมเข้าไปใหม่ก็ยังไม่สาย รัฐบาลไม่ควรจะตอกย้ำความรู้สึกแปลกแยก จังหวัดไหนที่เลือกพรรคเพื่อไทยก็จะได้จังหวัดไหนไม่เลือกไม่ทำ ในจังหวัดอีสาน 20 จังหวัดเลือกพรรคเพื่อไทย แต่ทำไมโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย หรือ กรุงเทพฯ- อุบลราชธานี ไม่ปรากฏอยู่ในนโยบาย จะตอบพี่น้องอย่างไร เขาทั้งรัก ทั้งทุ่มเทให้โอกาส แม้จะมีการเขียนโครงการรถไฟความเร็วสูง กทม.-เชียงใหม่ แต่อย่าพึ่งดีใจว่าจะในเกิดยุคนี้ เพราะกำหนดไว้เพียงการศึกษาเตรียมการ ทั้งที่เวลานี้ไม่ใช่แค่มาศึกษา รัฐบาลอย่าซื้อเวลาเหมือนกรณีโครงการแหลมผักเบี้ยสมัยรัฐบาลทักษิณ ใช้งบสำรวจไปพันกว่าล้านบาท ท้ายสุดระบุว่าไม่เหมาะสม เงินที่หายไปเป็นเงินภาษีจากประชาชนทั้งนั้น จึงอยากให้เร่งดำเนินการจะสร้างสายไหนก่อนไม่ว่าแต่ขอให้เกิดในยุคนี้