xs
xsm
sm
md
lg

“วรวัจน์” เผยต้องปรับรูปแบบบริหาร ศธ.ใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล
“วรวัจน์” ปรับรูปแบบการบริหารงานกระทรวงใหม่ ดึงมหา’ลัย มานำงานการศึกษาในแต่ละจังหวัด กระจายงาน รมช.ศธ.ดูแลตามภูมิภาคมีอำนาจสั่งการเบ็ดเสร็จ ยันสานต่อเรียนฟรี 15 ปี แต่ขอทบทวนว่าควรแจกอะไรบ้าง ส่วนปฎิรูปการศึกษา รอบ 2 ปรับโฉมใหม่เป็นการปฏิรูปการศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศ ขณะที่แท็บเล็ตมอบ สกอ.ไปทำรายละเอียดภาพรวม ขณะเดียวกันให้เตรียมพร้อมเรื่องภาษาอังกฤษให้เด็กเพื่อใช้ประโยชน์ได้สูงสุด
               

ที่โรงแรมรอยัลปรินเซส หลานหลวง นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมพร้อมด้วย นางบุญรื่น ศรีธเรศ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. และผู้บริหาร 5 องค์กรหลักของ ศธ.ว่า ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลปัจจุบันธงนำในการบริหารการศึกษาของ ศธ.จะยึดหลักการการศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยมีเป้าหมายว่าภายใน 2 ปีจะต้องยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต้องสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวกันได้มีการกำหนดดัชนีวัดความสำเร็จของการศึกษาว่า ผู้สำเร็จการศึกษาจะต้องมีศักยภาพที่จะหางานทำและใช้ชีวิตอยู่ได้ การจบการศึกษาไม่ได้หมายถึงแค่การมีใบปริญญารับรอง 
              

ทั้งนี้ ผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.ต่างเห็นพ้องเพราะเป็นสิ่งที่แต่ละแท่งอยากจะดำเนินการมานานแต่ติดขัดกฎระเบียบ ข้อจำกัดบางประการจึงไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งพวกตนจะเข้ามาขจัดอุปสรรคเหล่านี้ นอกจากนี้ ศธ.จะพลิกโฉมรูปแบบการบริหารจัดการใหม่เริ่มตั้งแต่การแบ่งงานของรัฐมนตรีทั้ง 3 คนจะแบ่งตามภาค โดยตนจะรับผิดชอบ ภาคเหนือ ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร นางบุญรื่น รับผิดชอบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออีสาน และนายสุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล รับผิดชอบภาคกลาง ซึ่งรัฐมนตรีแต่ละคนมีอำนาจบริหารสั่งการหน่วยงานของ ศธ.ทุกสังกัดที่อยู่ในภูมิภาคที่รับผิดชอบ โดยไม่ต้องรอคำสั่งการจาก รมว.ศธ. ยกเว้นงานในเชิงยุทธศาสตร์นโนยบายยังคงอยู่ที่ส่วนกลาง และหากเกิดปัญหาในภาพรวม เช่น ข้อสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) รมว.ศธ.ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
               

“สาเหตุที่แบ่งการทำงานตามภูมิภาคเช่นนี้ เพราะต้องการให้รัฐมนตรีแต่ละคนบูรณาการทุกหน่วยงานให้ทำงานร่วมกัน ให้เกิดความช่วยเหลือร่วมมือระหว่างหน่วยงาน โดยให้มีการวางแผนว่าจะยกให้มหาวิทยาลัยที่กระจายในแต่ละจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบการจัดการศึกษาในแต่ละจังหวัด นโยบายนี้คาดหวังให้เกิดความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยสู่สถานศึกษาระดับอื่นๆ” รมว.ศธ.กล่าว
               

นายวรวัจน์กล่าวต่อว่า ส่วนโครงการ One Tablet Pc Per Child ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปดูแลรายละเอียดในภาพรวมและให้มีการเตรียมความพร้อมของนักเรียนรองรับ โดยเฉพาะทักษะวิชาภาษาอังกฤษ เพราะหากเด็กยังทักษะภาษาอังกฤษการใช้แทปเล็ตให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตนอยากเน้นก็คือ การจัดซื้อแทปเล็ต แจกนักเรียนนั้นจะเริ่มขึ้นเมื่อใด จำนวนเท่าไร  ต้องดูความพร้อม 2 ส่วนที่สำคัญ คือ ความพร้อมของตัวเด็ก และความพร้อมเกี่ยวกับเนื้อหา (content) ที่จะนำมาใช้หากแจกเครื่องไปโดยที่ยังไม่มีควาพร้อมทั้ง 2 ส่วนก็จะกลายเป็นเอาแท็บเล็ตไปเล่นเกม นอกจากนั้นจะเน้นว่าแท็บเล็ตไม่ใช่ของวิเศษที่จะมาใช้แทนหนังสือเรียนได้ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น หนังสือเรียนและการพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ให้แก่เด็กยังมีความจำเป็นอยู่
               

รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า สำหรับโครงการที่ดำเนินการมาในรัฐบาลชุดก่อน เช่นโครงการเรียนฟรี เรียนดี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ รัฐบาลจะต้องสานต่อเป็นกฎหมายที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ แต่อาจจะต้องมีการหารือรายละเอียดอีกครั้งว่า ตำราเรียน เครื่องแบบนักเรียน อุปกรณ์การเรียน กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และค่าเล่าเรียน ที่เคยแจกให้ผู้ปกครองฟรีนั้น ควรจะมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่ เพราะของแจกบางอย่างอาจไม่ตรงความต้องการคือมีแล้วแต่เราก็ไปแจกซ้ำอีก ดังนั้นจะหารืออีกครั้งว่าเพื่อให้เด็กได้เรียนฟรีอย่างแท้จริงควรจะต้องช่วยเหลือเพิ่มเติมด้านใดบ้างจึงจะตอบสนองเป้าหมายดังกล่าวได้อย่างแท้จริง แต่ยันยันหลักการว่าเด็กทุกคนจะต้องได้ไม่น้อยกว่าที่เคยได้ ขณะเดียวกันจะมีการขยายการดูแลการศึกษาไปยังกลุ่มเด็กเล็กและผู้สูงอายุ เช่นเดียวกับการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2 ที่จะปรับเป้าหมายเป็นการพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศ มุ่งตอบสนองการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและการมีงานทำ
กำลังโหลดความคิดเห็น