ศธ.เปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนโครงการเรียนฟรี ผ่านสายด่วน 1579 หากไม่ได้รับการช่วยเหลือ ทั้งค่าเรียน-ชุด นร.-หนังสือ-อุปกรณ์-ค่ากิจกรรม เน้นห้ามเก็บเงินเพิ่มเติม เว้นหลักสูตรภาษา ตปท.“ชินวรณ์” เผย ได้งบกว่า 80,000 ล้าน สนับสนุนโครงการ ยันหนังสือเรียนใหม่ทุกเล่ม พร้อมติดตามรายงานทุกสัปดาห์ถึง 10 มิ.ย.นี้
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) แถลงข่าวเปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนโครงการเรียนฟรี เรียนดี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ว่า ศธ.จะเปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนโครงการเรียนฟรี ผ่านสายด่วน ศธ.หมายเลข 1579 เพื่อให้ผู้ปกครอง นักเรียน ที่ได้รับผลกระทบและไม่ได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนตามนโยบายสามารถโทรศัพท์มาแจ้งได้ ทั้งนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการโครงการดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 ปีโดยในปีนี้ ได้รับงบประมาณเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ทำให้มีงบประมาณถึง 80,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนและลดรายจ่ายแก่ผู้ปกครอง ใน 5 เรื่องหลัก ได้แก่ ค่าเล่าเรียน, เครื่องแบบนักเรียน 2 ชุด, ตำราเรียนที่ปีนี้แจกให้นักเรียนทุกคนฟรีไม่ต้องยืมเรียนเช่นที่ผ่านมา, อุปกรณ์การเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
ในส่วนของงบประมาณองค์กรหลัก ได้ดำเนินการโอนงบประมาณให้แก่สถานศึกษาในสังกัด เพื่อนำไปดำเนินการโดยในส่วนของเครื่องแบบนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนจะต้องมอบเงินให้แก่ผู้ปกครองเพื่อไปเลือกซื้อเอง แต่ในเรื่องค่าเล่าเรียน ห้ามไม่ให้มีการเก็บเงินเพิ่มเติม หากจะเก็บเพิ่มจะต้องเป็นไปตามบัญชีแนบท้าย หรือเพื่อจ่ายสำหรับการเรียนการสอนนอกเหนือจากที่รัฐอุดหนุนให้ เช่น หลักสูตร English Programe : EP หรือหลักสูตร Mini EP การสอนภาษาต่างประเทศอื่นๆ อย่างภาษาญี่ปุ่น หรือ การสอนว่ายน้ำ เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะมีเพียงโรงเรียนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ผู้ปกครองเต็มใจจ่าย
“ส่วนหนังสือเรียนยืนยันว่าเป็นหนังสือใหม่ ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 และปีนี้รัฐบาลซื้อแจกให้เด็กทุกคน และปีนี้หนังสือทั้ง 8 กลุ่มสาระสำนักวิชาการและมาตรฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้อนุมัติรับทราบการจัดพิมพ์หนังสือของทุกช่วงชั้น เพราะฉะนั้นที่มีบางคนมาพูดว่าหนังสือเรียนเป็นหนังสือเก่าจึงไม่เป็นความจริง ผมมีหนังสือเรียนฉบับเก่ามาให้ดูซึ่งผมต้องไปหามาจากห้องเก็บของของโรงเรียน อย่างไรก็ตาม หากผู้ปกครองท่านใดมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้สามารถร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน 1579 หรือที่นายสืบแสง พรหมบุญ ผู้ช่วย รมว.ศธ.และนายเฉลี่ยว อยู่สีมารักษ์ ที่ปรึกษา รมว.ศธ.ซึ่งทั้ง 2 ท่านจะเป็นผู้รวบรวมประเด็นและนำรายงานผมรวมทั้งส่งไปให้แต่ละองค์กรหลักดำเนินการตรวจสอบแก้ไข ในส่วนองค์กรหลักเองก็ต้องรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการเรียนฟรีฯ และการรับนักเรียนต่อที่ประชุมองค์กรหลักทุกสัปดาห์ไปจนถึงวันที่ 10 มิ.ย.นี้” นายชินวรณ์ กล่าว
ด้าน นายชินภัทร ภูมิรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้า สพฐ.จะประชุมทางไกลผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เร้นส์ เพื่อทำความเข้าใจเรื่องหนังสือเรียนที่ยังได้ไม่ครบ 100% ทั้ง 8 กลุ่มสาระวิชาในบางโรงเรียน แต่ก็ได้ย้ำแล้วว่า ทุกโรงเรียนจะต้องได้ครบไม่เกินกลาเดือน มิ.ย.และเรื่องการเก็บเงินที่จะต้องย้ำให้ปฏิบัติตามประกาศ ศธ.ที่ได้กำหนดไว้ชัดเจน
นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาธิการ กกอ.) กล่าวว่า โรงเรียนสาธิตได้รับงบประมาณเรียนฟรีฯ จำนวน 357,800,000 บาท ครอบคลุมนักเรียน 66,210 คน โดยในจำนวนนี้ 57,907 คนเป็นนักเรียนสาธิตสังกัดมหาวิทยาลัย ในกำกับ สกอ.61 แห่ง อีกจำนวน 8,803 คนเป็นนักศึกษาสังกัดวิทยาลัยชุมชน 2 แห่ง และจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่เกิดจากการรวมตัวกันอีก 7 แห่ง ขณะนี้โรงเรียนสาธิตยังไม่เปิดภาคเรียนและจะเปิดประมาณปลายเดือนมิ.ย.ส่วนหนังสือเรียนนั้น เพราะโรงเรียนสาธิตเป็นเหมือนโรงเรียนทางเลือกวิธีการสอนและตำราจึงแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไป มีหนังสือที่พัฒนาขึ้นเองแต่อัตราการจำหน่ายนั้นก็คิดตามอัตราที่ ศธ.กำหนด โดยทางโรงเรียนมีการทำความเข้าใจกับผู้ปกครองต่อเนื่องตั้งเดือน ก.พ.2554
นายอภิชาติ จีระวุฒิ ปลัด ศธ. กล่าวว่า ในส่วนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ภาคเรียนที่ 1/2554 มีนักศึกษาใหม่ทั่วประเทศ 1,150,000 คนได้รับงบเรียนฟรี 851 ล้านบาท สำหรับหนังสือเรียนมอบให้ศูนย์ กศน.อำเภอ 927 แห่ง และศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพ 12 แห่ง รวม 939 เป็นหน่วยรับผิดชอบดำเนินการซึ่งขณะนี้จัดซื้อเรียบร้อยและในวันเสาร์ 28 มิ.ย.และอาทิตย์ที่ 29 มิ.ย.จะเป็นวันแรกที่นักศึกษา กศน.เข้าเรียนจะได้รับหนังสือทุกคน ส่วนเครื่องแบบนักเรียนนั้น นักศึกษา กศน.ไม่มีแต่รัฐบาลได้จัดสรรให้สำหรับผู้เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ กศน.ดูแล คือ เด็กบนดอยสูง ในจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ตาก และน่าน รวมเป็นเงิน 18 ล้านบาท
ส่วนการศึกษาเอกชนของสำนักบริหารงานคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้งบประมาณ 2,900 ล้านบาท ครอบคลุมนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษา และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ในภาคเรียนที่ 1/2554 ประมาณ 2,100,000 คน
ด้าน น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กกอ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้งบประมาณ 5,447 ล้านบาท ครอบคลุมนักศึกษา 5.4 แสนคน ได้รับการอุดหนุนค่าหนังสือเรียน 1,000 บาทต่อหัว ค่าอุปกรณ์การเรียน 230 บาทต่อหัว ค่าเครื่องแบบ 900 บาทต่อหัว ส่วนค่าเล่าเรียน รวม 475 ล้านบาท แบ่งเป็น สาขาอุตสาหกรรม 3,250 บาทต่อหัว สาขาพาณิชยการและบริหาร 2,450 บาทต่อหัว สาขาคหกรรม/ท่องเที่ยวและโรงแรม 2,750 บาทต่อหัว ศิลปกรรม 3,100 บาทต่อหัว และสาขาเกษตร 5,950 บาทต่อหัว ซึ่งสาเหตุที่มากสุดเพราะว่าเป็นการเรียนแบบกินนอน โดยขณะนี้ทุกวิทยาลัยได้รับงบประมาณและดำเนินการเรียบร้อยแล้ว