xs
xsm
sm
md
lg

ตั้ง คกก.คุม ม.อีสาน ไล่ตรวจสอบบัณฑิตย้อนหลังทุกหลักสูตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศธ.
“ชินวรณ์” ลงนามตั้งคณะกรรมการควบคุม ม.อีสาน ด้าน “ไชยยศ” ลั่นตรวจสอบบัณฑิตที่จบทุกหลักสูตรทุกคน แย้ม 3 พ.ค.เสนอ ครม.ตั้งกรรมการกลาง ปูพรมตรวจสอบสถานศึกษาที่คาดว่าจะมีการซื้อขายปริญญา

วันนี้ (28 เม.ย.) นายชินวรณ์  บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหาร 5 องค์กร หลักของ ศธ.ว่า ที่ประชุมได้รับรายงานการสรุปข้อเท็จจริงเรื่องการซื้อขายใบปริญญาบัณฑิต วิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) ที่ สำนักงานคุรุสภาและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) พบว่า มีมูลความผิดจริง วันนี้ตนได้ลงนามคำสั่ง ศธ.ที่ 353/2554 แต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมมหาวิทยาลัยอีสานจำนวน 17 คน ดังนี้ 1.นายสมนึก  พิมลเสถียร เป็นประธานกรรมการ  และกรรมการอีก 16 คน ได้แก่ รศ.ชูชาติ  อารีจิตรานุสรณ์ รศ.สมนึก  เอื้อจิระพงษ์พันธ์ รศ.สุมนต์  สกลไชย  รศ.อานนท์  เที่ยงตรง รศ.กำจร  ตติยกวี รศ.จีรเดช  อู่สวัสดิ์ รศ.ชัยนรินทร์  วีระสถาวณิชย์ นายประเสริฐ  ตันสกุล นางอรุณี  ม่วงน้อยเจริญ น.ส.มัทนา  สานติวัตร นางฉันทวิทย์  สุชาตานนท์ นายขจร  จิต สุขุมมงคล ผู้อำนวยการสำนักประสานและส่งเสริมกิจการอุดมศึกษา เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นผู้ช่วยเลขานุการ เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นผู้ช่วยเลขานุการ  และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นผู้ช่วยเลขานุการ โดยมีผลตั้งแต่วันนี้ และคณะกรรมการดังกล่าวสามารถเข้าบริหารงานได้ทันที ส่วนมหาวิยาลัยอีสานมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งควบคุมฯได้โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งนี้

วันเดียวกัน ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) นายไชยยศ จิรเมธากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า หลังจาก สกอ.ตั้งคณะกรรมการเข้าควบคุมมหาวิทยาลัย จะส่งผลให้ผู้บริหารรวมทั้งสภามหาวิทยาลัยต้องยุติบทบาทโดยอัตโนมัติ จากนี้คณะกรรมการควบคุมจะเข้าไปตรวจสอบการดำเนินงานของสภามหาวิทยาลัย และหากพบว่าใครกระทำผิดก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด คาดว่าการดำเนินการตรวจสอบจะเสร็จก่อนมีรัฐบาลชุดใหม่อย่างแน่นอน

สำหรับนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้จะไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด เพราะมหาวิทยาลัยยังเปิดการเรียนการสอนตามปกติ อย่างไรก็ดี จะมีการตรวจสอบบัณฑิตย้อนหลังทุกคนทั้งหลักสูตรป.บัณฑิต และหลักสูตรอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เปิดสอนว่าการจัดการเรียนการสอนได้มาตรฐานตามที่ สกอ.กำหนดหรือไม่ ซึ่งหากคณะกรรมการควบคุมเข้าไปตรวจสอบแล้วพบว่ามหาวิทยาลัยไม่สามารถปรับ ปรุงให้การเรียนการสอนมีคุณภาพตามที่กำหนดได้ก็จะต้องมีการเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งคงใช้เวลาไม่นานก็คงจะทราบผล

นายไชยยศ ระบุว่า จะแบ่ง 2 กรณี คือ กรณีแรก คือ บัณฑิตที่ซื้อใบ ป.บัณฑิตไปจริง หากมาแสดงตนทาง สกอ.ก็จะกันไว้เป็นพยานโดยจะช่วยเหลือเยียวยาในเรื่องของค่า ใช้จ่ายที่เสียไป แต่หากไม่มาแสดงตัวและไปยื่นสมัครงานในหน่วยงานของรัฐและเอกชนก็จะถูกดำเนิน คดีฐานปลอมแปลงเอกสารทางราชการ โดยถือว่ามีความผิดในคดีอาญา และหากเข้าทำงานไปแล้วก็อาจจะถูกเรียกเงินเดือนคืนย้อนหลังทั้งหมดกรณี

2.นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่หากในอนาคตมหาวิทยาลัยถูกปิดสกอ.ก็จะช่วยเหลือเยียว ยาโดยจัดหาที่เรียนต่อให้จนจบการศึกษาโดยให้ มอส.เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวถามว่า สำหรับนักศึกษาที่เรียนจบจากที่ มอส.จริงตามหลักสูตรจะมีปัญหในการเข้าทำงาน หรือไม่ นายไชยยศกล่าวว่า นักศึกษาที่จบตามจริง สกอ.ก็จะออกใบรับรองให้เพื่อให้สามารถเข้าทำงานได้ตามปกติ

นายไชยยศ บอกว่า ขณะนี้สกอ.ได้ส่งข้อมูลให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ แล้ว และดีเอสไอกำลังพิจารณามูลฐานความผิดว่าจะเข้าข่ายและอยู่ในอำนาจหน้าที่ของดีเอสไอหรือไม่ หากพบว่าไม่เข้าข่ายก็จะดำเนินการส่งให้กองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อดำเนินการตรวจสอบต่อไป อย่างไรก็ตามในส่วนของ สกอ.ได้หารือถึงข้อกฎหมายเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 3 พฤษภาคม  จัดตั้งคณะกรรมการกลางเข้าไปตรวจสอบมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เข้าข่ายว่ามีการซื้อขายปริญญา โดยมีเลขาธิการกกอ.เป็นประธาน และมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เช่น ดีเอสไอ กองปราบปราม กระทรวงไอซีที ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมสรรพากร เป็นต้น

“หน้าที่ของคณะกรรมการกลางชุดนี้จะตรวจสอบข้อเท็จจริงการซื้อขายปริญญาทุก มหาวิทยาลัยทั่วประเทศโดยเฉพาะการโฆษณาเกินจริงผ่านเว็บไซต์ ซึ่งขณะนี้มีคนร้องเรียนเข้ามาจำนวนหนึ่ง” นายไชยยศ กล่าว

นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวเสริมว่า หน้าที่ของคณะกรรมการกลางที่จะเสนอ ครม.ชุดนี้ ก็จะเข้าไปตรวจสอบมาตรฐานของมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นการขยายผลในเรื่องนี้ให้เกิดความต่อเนื่อง เพราะหลังมีการตรวจสอบกรณีซื้อขาย ป.บัณฑิต เริ่มมีผู้ร้องเรียนเข้ามาหลายราย ซึ่งมีพฤติกรรมแปลกๆ เช่น เก็บค่าเล่าเรียนไม่ตรงตามที่ตกลงไว้ มีการหลอกลวงว่ามีอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมาสอนแต่พอไปเรียนจริงกลับไม่มี ทำให้นักศึกษาไม่ได้รับการศึกษาตามต้องการ หรือหลักสูตรที่อ้างว่าจะต้องมีการดูงานในต่างประเทศแต่ความจริง คือ การไปเที่ยว ทั้งนี้ จะเข้าไปตรวจสอบกลุ่มที่ร้องเรียนเข้ามาก่อน โดยเฉพาะ 4-5 แห่งที่มีจำนวนผู้จบ ป.บัณฑิต สูงกว่าปกติ

และในวันเดียวกัน ที่คุรุสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนิยม ศรีวิเศษ ประธานกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ นัดพิเศษ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาหนังสือขอถอนการรับรองสิทธิหลักสูตร ป.บัณฑิต วิชาชีพครู จำนวน 4 ฉบับ ของมหาวิทยาลัยอีสานรวมนักศึกษา 1,387 คน ซึ่งคุรุสภาได้ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตั้งแต่วันที่ 1-7 เม.ย.54 ไปแล้วจำนวน 663 คน ซึ่งเป็นนักศึกษาที่จบตั้งแต่ปี 2551-2553 แต่กมว.จะตรวจสอบเฉพาะปี 53 มีจำนวน 531 คน


นาย นิยม ระบุว่า แม้ว่า ม.อีสานจะทำหนังสือยืนยันขอถอนฯก็ตาม เมื่อออกใบ ป.บัณฑิตไปแล้วจะเพิกถอนทันทีไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเกรงว่าจะถูกบัณฑิตฟ้องร้องได้ ดังนั้น ทางคุรุสภาจะส่งหนังสือลงทะเบียนไปยังบัณฑิต 531 คน เพื่อให้บัณฑิตเหล่านี้นำหลักฐานต่างๆ มายื่นต่อ คุรุสภา ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ถ้าครบ 15 วันแล้วยังไม่มาทำหนังสืออีกรอบหนึ่งเพื่อสอบถาม ถ้ายังไม่มาอีก จะเพิกถอนทันที



“สำหรับ บัณฑิตที่ไปสมัครสอบครูผู้ช่วย หากรายใดสอบบรรจุได้ จะให้ปฏิบัติหน้าที่ไปก่อน หากตรวจสอบพบภายหลังว่า เป็นหลักฐานปลอม ก็ถอดถอนภายหลังได้” นายนิยม กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น