xs
xsm
sm
md
lg

“สุเมธ” เล็งพบ “วรวัจน์” เสนอฟื้น กรอ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุเมธ แย้มนุ่น
“สุเมธ” เล็งพบ “วรวัจน์” ขอตั้งกรรมการยกร่างระเบียบ กรอ.พร้อมเสนอควรกำหนดเรื่องการพักหนี้เป็นนโยบายของกระทรวง โดยเสนอออกมติ ครม.เพื่อไม่ให้ ผจก.ทำงานลำบาก ส่วนการปล่อยกู้จะเป็นกี่สาขา และอะไรบ้างนั้นต้องไปดูรายละเอียดก่อน
               
ตามที่นายวรวัจน์  เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายให้ยุติการดำเนินการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) พร้อมประกาศพักหนี้ กยศ.เพื่อให้ทาง กยศ.ชะลอการดำเนินคดีฟ้องร้องกับลูกหนี้ โดยให้เหตุผลว่า กองทุน กยศ.มีปัญหาในการดำเนินการเยอะโดยเฉพาะปัญหาการฟ้องร้องลูกหนี้ที่ไม่จ่าย ขณะเดียวกัน ได้สั่งการให้รื้อกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ขึ้นมาดำเนินการใหม่โดยจะเน้นการปล่อยกู้ในสาขาที่เรียนจบแล้วมีงานทำแน่นอน รวมทั้งให้เริ่มชำระหนี้คืนเมื่อมีรายได้ 16,000 บาทขึ้นไป โดยได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปจัดทำรายละเอียด 
               
นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาธิการ กกอ.) กล่าวว่า ตนจะเข้าพบ นายวรวัจน์ เพื่อเสนอแนวทางการดำเนินงานฟื้น กรอ.ซึ่งจะเสนอให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อยกร่างระเบียบและวิธีปฏิบัติในการกู้ยืม กรอ.รวมทั้งจะเสนอถึงปัญหาอุปสรรคของการกู้ยืม กรอ.โดยเฉพาะการชำระคืนผ่านระบบภาษี เพราะที่ผ่านมาทางกรมสรรพากรยังไม่มีความพร้อม ดังนั้น หากจะใช้แนวทางเดิมจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจน  โดยพยายามจะเร่งดำเนินการให้ทันภายในปีการศึกษา 2555 นี้ อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในวันที่ 30 ส.ค.นี้  ในส่วนเรื่องการพักชำระหนี้ กยศ.เพื่อให้ชะลอการฟ้องร้องกับลูกหนี้นั้น ตามนโยบายของ รมว.ศธ.เห็นว่า สาเหตุที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้เป็นเพราะไม่มีงานทำควรให้อบรมอาชีพโดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และหางานทำ แต่ที่สำคัญตนมองว่า นายวรวัจน์ ต้องส่งสัญญาณไปที่กระทรวงการคลัง ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นนโยบายของ ศธ.และอาจจะต้องออกเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ผู้จัดการกองทุนสามารถดำเนินการได้ โดยไม่ผิดกฎหมาย
               
ผมคิดว่าเรื่องนี้สามารถดำเนินการได้ และไม่กระทบกับเด็ก ซึ่งเหมือนกับกรณีที่รัฐบาลที่ผ่านมายกเลิก กรอ.แต่เปิดช่องให้ผู้กู้เดิมสามารถเปลี่ยนจากกรอ.มาเป็นกยศ.ได้ แต่ถ้าไม่เปลี่ยนก็จะให้กู้จนจบการศึกษา ดังนั้น หากเปลี่ยนมาเป็นกรอ.อีกครั้งก็ต้องใช้หลักการเดียวกัน กรอ.ถือเป็นระบบที่ดีกว่า กยศ.ตรงที่ให้สิทธิ์ในการกู้ยืมกับทุกคน แต่มีข้อจำกัดเรื่องสาขาที่เรียนว่าจะต้องเป็นสาขาที่จบแล้วมีเปอร์เซ็นต์ มีงานทำสูง ขณะที่คนมีเงินแต่เรียนในสาขาที่ กรอ.ปล่อยกู้ก็อาจไม่กู้ก็ได้ ส่วนจะใช้งบประมาณเพิ่มอีกเท่าไหร่นั้นตอนนี้ไม่สามารถตอบได้ต้องศึกษารายละเอียดก่อน” นายสุเมธ กล่าว
                 
นายสุเมธ กล่าวต่อว่า  ส่วนการปล่อยกู้นั้น นโยบาบ รมว.ศธ.จะเน้นตามสาขาที่จบแล้วมีงานทำแต่ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีกี่สาขา และเป็นสาขาใดบ้าง โดยจะต้องไปดูรายละเอียดก่อนว่าสาขาใดที่จบแล้วมีเปอร์เซ็นต์มีงานทำสูง  โดยตัวชี้บ่งชี้หนึ่งที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ใช้ในการประเมินภายนอกมหาวิทยาลัยต่างๆ คือ อัตราการมีงานทำของบัณฑิตที่จบไปแล้ว โดยทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) อาจจะต้องขอข้อมูลตรงนี้จาก สมศ.ด้วย

รศ.ดร.ช่วงโชติ พันธุเวช อธิการมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าการนโยบายการนำระบบ กรอ.กลับมาใช้อีกครั้งก็เป็นเรื่องที่ดี และมหาวิทยาลัยเองก็ไม่ได้มีผลกระทบใดๆ แต่อยากจะให้ดูเรื่องของเป้าหมายที่จะให้กู้ เพราะที่ผ่านมาการปล่อยกู้ไม่ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาเท่าที่ควร ทำให้เม็ดเงินที่สนับสนุนลงไปผลตอบรับก็ไม่ใช่ตามคาดหวัง อีกทั้งเรื่องการปล่อยกู้นั้นอยากให้ลงถึงเด็กต่างจังหวัดให้ทั่วถึง ที่ผ่านมา กรอ. มีการวางหลักเกณฑ์ในการดำเนินการไว้ดีแต่ในทางปฏิบัติเหมือนคนลูบหน้าปากจมูก แถมเป็นลักษณะของมือใครยาวสาวได้สาวเอา ทำให้เด็กบางคนที่ยากจนหรือเดือดร้อนจริงๆ ควรจะได้กู้ก็ไม่ได้กู้ เพราะฉะนั้นอยากให้แก้ไขในเรื่องดังกล่าว ที่สำคัญคือ ทางกระทรวงการคลัง ควรจะต้องลงมาดูจริงจัง เพราะเป็นผู้ลงทุนเม็ดเงินไม่ใช่ปล่อยให้กระจายไปโดยไม่รู้ว่าไปลงจุดไหนบ้างและสุดท้ายจะไม่เป็นไปตามโครงสร้างที่วางไว้ นอกจากนี้ เรื่องของระบบฐานข้อมูล ต้องมีระบบที่สามารถติดตามตรวจสอบได้ชัดเจน ที่ผ่านมา ผู้กู้ยืมประมาณ 30% เมื่อเรียนจบทำงานก็ทยอยใช่หนี้คืน แต่ขณะเดียวกัน เราก็มีปัญหาหนี้เสียถึง 70% ซึ่งถ้าทำระบบฐานข้อมูลได้ดีเราก็จะสามารถติดตามหนี้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น