xs
xsm
sm
md
lg

ลูกจ้างโวยถูกเบี้ยวค่าจ้าง 300 บ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ลูกจ้างโวยถูกเบี้ยวค่าจ้าง 300 บ.ปรับภายใน 4 ปี ช้าเกินไป องค์การลูกจ้างฯเล็งนัดรวมพลเข้าพบ “เผดิมชัย” ก.ย.นี้  โอดของแพงแซงหน้าค่าจ้าง จี้ ก.พาณิชย์ คุมราคาสินค้า

จากกรณีนายกิตติรัตน์ ณ  ระนอง    รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ออกมาระบุภายหลังหารือกับภาคเอกชน ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย และกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกับนโยบายปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน โดยได้ข้อสรุปว่าจะเริ่มนำร่องปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ให้แก่ลูกจ้างหน่วยงานรัฐ   รัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ในวันที่ 1 มกราคม 2555 หลังจากนั้น จะทยอยปรับขึ้นในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศภายใน 3-4 ปีนั้น

วันนี้ (22 ส.ค.) นายทวี      เตชะธีราวัฒน์        ประธานสภาองค์การลูกจ้างสมาพันธ์แห่งประเทศไทย (สมท.)  กล่าวว่า  การที่ นายกิตติรัตน์ ออกมาระบุเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลกำลังจะเบี้ยวการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300  บาท ให้แก่แรงงานโดยพร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งการจะปรับขึ้นภายใน 3-4 ปีทั่วประเทศ ไม่ตรงกับที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์   ชินวัตร   นายกรัฐมนตรีได้ประกาศนโยบายหาเสียงที่สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน กทม.อย่างไรก็ตาม หลังรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว ทางสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะจัดสัมมนาเรื่องค่าจ้าง 300 บาท ในวันที่ 4 ก.ย.นี้  ทั้งนี้  สมท.จะนำความเห็นจากการสัมมนาดังกล่าวมาหารือกับสภาองค์การลูกจ้างต่างๆ เพื่อจะนัดกันและขอเข้าพบ นายเผดิมชัย   สะสมทรัพย์    รมว.แรงงาน ในช่วงเดือน ก.ย.นี้  เพื่อทวงถามในเรื่องนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท 

ขณะนี้แรงงานได้เงินเดือน  5-6 พันบาท บวกกับการทำโอที ก็จะมีรายได้รวมประมาณเดือนละ 8-9 พันบาท   แต่ถ้าไม่ทำโอทีก็ไม่มีเงินพอกับใช้จ่าย  อีกทั้งยังไม่ทันปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน      สินค้าอุปโภคบริโภคก็ปรับราคาสูงขึ้นซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ จะต้องควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้แรงงานและประชาชนเดือดร้อน” นายทวี กล่าว

นายจิรวัฒน์       โพนเวียง       เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมยางแห่งประเทศไทย และอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ จ.สมุทรสาคร   กล่าวว่า  อยากให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300  บาท ให้แก่แรงงานโดยพร้อมกันทั่วประเทศทันทีตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ อย่างไรก็ตาม หากประเมินแล้วมีผลกระทบมากกับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกับธุรกิจเอสเอ็มอี ก็อาจจะใช้วิธีนำร่องปรับขึ้นในส่วนของกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ๆ ก่อนในช่วง 6  เดือน  หลังจากนั้น จึงทยอยปรับขึ้นในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศภายในปี 2556 แต่ถ้าทำภายใน 3-4 ปีคิดว่าช้าเกินไป อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาของคณะกรรมการแรงงานสมานฉันท์แห่งประเทศไทย (คสรท.) พบว่า ปัจจุบันค่าจ้างที่ทำให้ลูกจ้างอยู่ได้อยู่ที่ 421 บาทต่อวัน

“ยังไม่ทันปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ราคาของกินของใช้ก็ปรับขึ้นนำหน้าไปก่อนแล้ว เช่น ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว เดิมขายจานละ 20  บาท ก็ปรับเป็นจานละ 25-30 บาท  และสินค้าอุปโภคก็ปรับราคาขึ้นเยอะ เช่น น้ำมันพืชตอนนี้ขวดละ  47  บาท ทั้งที่บอกว่าจะลดราคา  แต่ก็ไม่ได้ปรับลดราคา เนื้อหมูที่เป็นเนื้อสันราคากิโลกรัมละ  180-200 บาท  ถ้ากิโลกรัมละ 150 บาท เป็นหมูเนื้อติดมันทั้งที่กระทรวงพาณิชย์บอกจะคุมราคาให้อยู่ที่กิโลกรัมละ 150  บาท  ส่วนรายได้ของแรงงานในปัจจุบัน หากคิดในกรุงเทพฯและปริมณฑลอยู่ที่  215 บาทต่อวันคิดเป็นเงินเดือนละ 5-6 พันบาท ถ้าทำโอทีก็จะมีรายได้รวมเดือนละ 9 พัน ถึง 1 หมื่นบาท ซึ่งเพียงพอกับรายจ่าย ทำให้แรงงานไม่มีเงินเหลือเก็บ” นายจิรวัฒน์   กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น