xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนภูเก็ตไม่เห็นด้วยแนวคิดขึ้นค่าแรง 300 บาท แนะปรับแบบขั้นบันได

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ภาคเอกชนภูเก็ตไม่เห็นด้วยเสนอปรับขึ้นค่าแรงกรุงเทพฯ-ภูเก็ต เชื่อส่งผลกระทบแนะใช้ยุทธวิธีเหมาะสมปรับแบบขั้นบันใด ขณะที่ประธานสหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการภูเก็ตแนะรัฐบาลควรให้ความสำคัญเรื่องของการควบคุมราคาสินค้าก่อนเชื่อประกาศขึ้นค่าแรงสินค้าปรับตัวรอก่อนแล้ว

นพ.ศิริชัย ศิลปอาชา ประธานหอการค้า จ.ภูเก็ต กล่าวถึงนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทตามนโยบายของพรรคเพื่อไทย ซึ่งขณะนี้มีการเสนอแนวคิดให้มีการปรับขึ้นค่าแรงนำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานครี ปริมณฑล และจ.ภูเก็ต ว่า การเสนอปรับขึ้นค่าแรงเฉพาะบางพื้นที่เป็นเรื่องที่ไม่ดีแน่นอน และกระทบกับผู้ประกอบการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีขนาดไม่ใหญ่และมีกำไรไม่มาก

นอกจากนั้น การเสนอปรับขึ้นค่าแรงเฉพาะบางพื้นที่จะทำให้เกิดการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานจากจังหวัดที่ไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างมายังจังหวัดที่มีการปรับขึ้นค่าแรง ซึ่งจะทำให้เกิดการกระจุดตัวของแรงงานทั้งคนไทยและต่างด้าว นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทในทันทียังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวได้ทัน และหากเลือกเพียงบางพื้นที่แล้วจังหวัดอื่นๆ ซึ่งมีการหาเสียงไว้จะทำอย่างไร เพราะในการหาเสียงนั้นก็บอกว่าจะทำทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวมองว่าการเสนอแนวคิดปรับขึ้นค่าแรงบางพื้นที่เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง หากจะปรับขึ้นจริงๆ นั้นเป็นนโยบายที่สามารถทำได้ แต่ควรที่จะใช้วิธีการที่เหมาะสม ซึ่งอาจจะปรับขึ้นในลักษณะของขั้นบันใด เริ่มต้นจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำของจังหวัดที่อยู่ประมาณ 100 บาทเศษ ให้เป็น 200 บาท จากนั้นก็ค่อยๆ ทยอยปรับเป็น 250 บาท จนถึง 300 บาท

สิ่งสำคัญไม่ควรที่จะปรับค่าแรงในจังหวัดที่มีค่าแรงสูงอยู่แล้วเป็นลำดับแรก แต่ควรจะปรับฐานค่าแรงของจังหวัดที่ค่าแรงยังต่ำอยู่ให้ใกล้เคียงหรือเท่ากับจังหวัดที่มีค่าแรงที่สูงอยู่แล้ว เพราะหากไปปรับจังหวัดที่มีค่าแรงสูงอยู่แล้วจะทำให้ค่าแรงจังหวัดนั้นสูงขึ้นไปอีก และจะทำให้เกิดช่องห่างของค่าแรงแต่ละจังหวัดมีเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่นายสัจพล ทองสม กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทเปรมปรีดิ์กรุ๊ป จำกัด ซึ่งบริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์ใน จ.ภูเก็ต กล่าวถึงนโยบายจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ว่า ในมุมมองของตนเองไม่เห็นด้วย หากจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทันที 300 บาท เพราะจะทำให้ต้นทุนของการประกอบการเพิ่มขึ้น และในบางส่วนที่มีการตกลงราคากันไว้แล้วล่วงหน้าก็ไม่สามารถที่จะปรับได้ ก็จะกระทบต่อภาคธุรกิจค่อนข้างมาก

รวมทั้งยังจะก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานระดับล่างตามมา โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่เป็นกรรมกร ซึ่งปัจจุบันมีการจ่ายค่าจ้างอยู่ที่วันละกว่า 200 บาท ในขณะที่แรงงานมีฝีมือนั้นมีการจ่ายค่าจ้างอยู่ที่ประมาณ 250-300 บาท และยิ่งหากพิจารณาขึ้นค่าแรงเฉพาะในบางพื้นที่ก็จะก่อให้เกิดปัญหาการอพยพของแรงงานไม่เฉพาะแรงงานคนไทย แต่ยังมีแรงงานต่างชาติที่จะมากระจุกตัวอยู่เพียงจุดเดียว รวมทั้งยังจะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมาย ดังนั้นการจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำควรจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป

ด้านนายวิจิตร ดาสันทัด ประธานสหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้ในส่วนของจังหวัดภูเก็ตค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 221 บาท แต่ความเป็นจริงมีการจ้างสูงกว่านั้นอยู่แล้วโดยอยู่ที่ประมาณ 250-300 บาท และการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทนั้นจะทำให้พ่อค้าแม่ค้าฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าไปรออยู่แล้ว คนที่ได้รับผลกระทบก็คือชาวบ้านทั่วไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรจะทำเร่งด่วนในเวลานี้ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้ใช้แรงงาน การควบคุมสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น ข้าวสาร ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว น้ำดื่ม ค่าน้ำมัน ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า เป็นต้น

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันลูกจ้างได้แบกรับภาระในเรื่องของค่าครองชีพที่สูงมาก โดยเฉพาะในส่วนของจังหวัดภูเก็ตที่ค่าครองชีพสูงกว่าจังหวัดอื่นๆมาก นอกจากนั้นสิ่งที่จะต้องเร่งแก้ไขอีกอย่างคือ การควบคุมราคาสาธารณูปโภคที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น ค่ารถโดยสารประจำทางชนิดต่างๆ ซึ่งการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดนั้น ควรทำให้ให้สอดคล้องกับอัตราค่าครองชีพของแต่ละพื้นที่ให้มากที่สุด เนื่องจากปัจจุบันอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นฝ่ายวิ่งตามอัตราค่าครองชีพอยู่ ตลอดเวลาทำให้การแก้ไขปัญหาทำได้ไม่ตรงจุด เพราะเมื่อมีการประกาศจะปรับขึ้นค่าแรงราคาสินค้าก็ปรับไปรออยู่ก่อนแล้ว
หวั่นค่าแรง 300 ซ้ำเติม รร.เล็ก-เปิดทางต่างด้าวได้เปรียบภาษาชิงพื้นที่งาน
หวั่นค่าแรง 300 ซ้ำเติม รร.เล็ก-เปิดทางต่างด้าวได้เปรียบภาษาชิงพื้นที่งาน
ศูนย์ข่าวศรีราชา - นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก แนะว่าที่รัฐบาลใหม่ทบทวนผลดี-เสีย นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน หวั่นผู้ประกอบการใหญ่หันจ้างแรงงานคุณภาพต่างด้าวที่ได้เปรียบด้านภาษามากกว่าแรงงานไทยเพื่อให้คุ้มค่าการลงทุน ซึ่งอาจซ้ำเติมทั้งแรงงานในประเทศและโรงแรมขนาดเล็กที่เพิ่งฟื้นตัวจากผลกระทบทางการเมืองในช่วง 2 ปีก่อน ชี้ประเด็นดังกล่าวจะถูกนำเข้าหารือในการประชุมใหญ่สมาคมโรงแรมที่จะมีขึ้นในวันที่ 26 ก.ค.นี้ที่กรุงเทพฯ เพื่อทำหนังสือถึงรัฐบาลอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น