xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯหันรุกรายได้ค่าฟีกลุ่มSME จับตากลุ่มรับผลกระทบขึ้นค่าแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กสิกรฯเผย6เดือนสินเชื่อเอสเอ็มอีโต 7% ทะลุเป้าที่ตั้งไว้ทั้งปี 8-10% พร้อมหันเร่งเครื่องหารายได้ค่าธรรมเนียมเสริม ระบุนโยบายเพิ่มขึ้นแรงขั้นต่ำ 300 บาทกระทบต้นทุนธุรกิจ5% มีลูกค้าแบงก์กระทบ 3.8 พันล้าน พร้อมออกมาตรการช่วยเหลือหากกระทบหนัก ล่าสุดออกโครงการ ""สินเชื่อเอสเอ็มอีผ่อนสบาย" เงินกู้ซื้อสถานที่ประกอบการ-ที่อยู่อาศัย พร้อมเงินเสริมสภาพคล่อง วงเงินสูงสุด 15 ล้าน ผ่อนนานถึง 30 ปี ตั้งเป้าปล่อยกู้ 5 พันล้านใน1ปี

นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)(KBANK)เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ธนาคารมียอดคงค้างสินเชื่อผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี)ที่ระดับ 428,000 ล้านบาท คิดเป็นสินเชื่อเพิ่มสุทธิ 26,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากเป้าหมายเติบโตทั้งปีที่ระดับ 8-10% หรือมียอดคงค้างที่ระดับ 4.4-4.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งมั่นใจว่าธนาคารจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดย 6 เดือนแรกของปีมียอดอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 1.2 แสนล้านบาท

"สาเหตุที่สินเชื่อเอสเอ็มอีครึ่งปีแรกขยายตัวได้ดี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างชัดเจน ราคาสินค้าภาคเกษตรกรดี และมีลูกค้าที่เข้ามาใหม่อยู่พอสมควรประมาณ 30-40% ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังก็ยังมีแนวโน้มที่ดีอยู่จึงคาดว่าสินเชื่อเอสเอ็มอีก็จะโตได้ต่อเนื่องตามไปด้วย"

นอกจากนี้ ในครึ่งปีหลังธนาคารมีแผนที่เพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี อาทิ รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจ Cash Management ,Trad Finance ,ค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกัน เป็นต้น โดยตั้งเป้าจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมในปีนี้เป็น 24%ของรายได้รวมกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี จากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 23%

นายปกรณ์กล่าวอีกว่า ช่วงที่ผ่านมา เรารุกทางด้านผลิตภัณฑ์มามากแล้ว ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเอสเอ็มอีกว่า 20 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งนับว่ามากที่สุดแล้ว ฉะนั้น ในช่วงที่เหลือของปีก็จะมีดูที่ตัวรายได้ค่าธรรมเนียมเพื่อเป็นเพิ่มรายได้และเฉลี่ยต้นทุนไปในคราวเดียวกัน

สำหรับกรณีนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต้นเป็น 300 บาทนั้น ธนาคารได้ประเมินแล้วว่า จะส่งผลให้ต้นทุนธุรกิจโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 5% และต้นทุนค่าแรงงานคิดเป็นสัดส่วน 4-11%ของต้นทุนรวมธุรกิจ ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจว่าใช้แรงงานมากน้อยระดับใด และสามารถส่งผ่านต้นทุนดังกล่าวไปยังราคาได้หรือไม่ และจากการสำรวจใน 10 อุตสาหกรรม พบว่ามีสินเชื่อที่เข้าข่ายได้รับผลกระทบ 98,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 24%ของพอร์ต

แต่หากสำรวจกิจการที่มีต้นทุนค่่าแรงเพิ่มขึ้นมากกว่ากำไรสุทธิแล้ว พบว่าเป็นส่วนของสินเชื่อธนาคาร 3,800 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.9%ของพอร์ตรวม ซึ่งในส่วนนี้ธนาคารก็จะมีการติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อให้คำแนะนำ และหากเกิดปัญหาก็จะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือตามความเหมาะสมต่อไป

ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทย เปิดตัวโครงการ สินเชื่อเอสเอ็มอีผ่อนสบาย บริการสินเชื่อเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี สำหรับลูกค้าที่ต้องการซื้อหรือสร้างสถานประกอบการและใช้เป็นที่อยู่อาศัย เช่น อาคารพาณิชย์ หรือ โฮมออฟฟิส ให้วงเงินสินเชื่อสูงสุด 15 ล้านบาท ผ่อนสบายนานสูงสุด 30 ปี โดยเมื่อลูกค้าสมัครใช้บริการสินเชื่อในโครงการนี้ จะได้รับการสนับสนุนทั้งวงเงินกู้ระยะยาว และเงินทุนหมุนเวียน ทั้งวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี (O/D) ตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) วงเงินหนังสือค้ำประกัน (L/I) และวงเงินสินเชื่อเพื่อการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ ตลอดระยะเวลาที่มีการปรับปรุงเพื่อขยายกิจการ ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการลงทุนขยายธุรกิจได้อย่างเต็มกำลังควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจที่มีอยู่ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องสภาพคล่องที่มีจำกัด ขณะเดียวกันด้วยระยะเวลาผ่อนชำระที่ยาวนานสูงสุดถึง 30 ปี จะช่วยลดภาระการผ่อนชำระของผู้ประกอบการในแต่ละเดือนลงด้วย

"ธนาคารเชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า จึงตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อในโครงการดังกล่าวไว้ 5 พันล้านบาทภายใน 1 ปี และหากได้รับความนิยมมาก ก็สามารถขยายวงเงินออกไปอีกได้"
กำลังโหลดความคิดเห็น