xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน โอกาส...ความหวังผู้พิการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การทำกายภาพบำบัดของผู้เข้ารับการฟื้นฟู ในศูนย์ฟื้นฟูสรรถภาพคนงาน เชียงใหม่
โดย : คุณวัตร ไพรภัทรกุล

ประเทศพัฒนาได้ด้วยกำลังของแรงงาน แรงงานพัฒนาได้ด้วยความรู้และประสบการณ์ แต่หากแรงงานได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุในการทำงาน กระบวนการเยียวยาและฟื้นฟูจึงมีส่วนสำคัญที่จะพัฒนาแรงงานเหล่านี้ในการสร้างโอกาสให้กลับเข้ามาทำงานและเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศอีกครั้ง

ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน ประจำภาคเหนือ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นศูนย์ให้บริการแก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน (ใช้สิทธิ์กองทุนเงินทดแทน) และผู้ประกันตนทุพพลภาพ (ใช้สิทธิ์ประกันสังคม)ในพื้นที่  17 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย ลำปาง แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร  สุโขทัย นครสวรรค์ อุทัยธานี เพชรบูรณ์ ตาก กำแพงเพชร ลำพูน พะเยา โดยเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2553 ปัจจุบันมีผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพ 146 ราย
 

ผู้ป่วยรายหนึ่ง (สงวนนาม) ที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน เล่าให้ฟังว่า เกิดอุบัติเหตุแท่นเหล็กหล่นมาทับที่ท้ายทอย ทำให้เดินลำบากและมือขวากำไม่ได้ มาอยู่ที่ศูนย์ฟื้นฟูได้หนึ่งเดือนแล้ว จากคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ประกันสังคม ในขั้นแรกจะมีคณะกรรมการการแพทย์เป็นผู้คัดจากคุณสมบัติเข้ามา ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นฟื้นฟูสุขภาพก่อน โดยจะต้องไปตรวจโรคที่รพ.เชียงใหม่ ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการแพทย์ แล้วค่อยกลับมาวางแผนการรักษาต่อไป ขณะนี้อาการดีขึ้นมากแล้ว สามารถเดินและกำมือได้มากขึ้น หลังจากนั้น ก็จะเป็นการฟื้นฟูด้านอาชีพต่อไป

หรืออย่างกรณีของ นายเชื่อม ทองวัฒน์ อายุ 58 ปี ชาว จ.พิษณุโลก หนึ่งในผู้ที่เข้าฟื้นฟูสมรรถภาพ เล่าว่า มาอยู่ที่ศูนย์ฟื้นฟูฯ ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว จากอุบัติเหตุรถคว่ำ ทำให้ขาขาดทั้ง 2 ข้าง หลังจากฟื้นฟูทางด้านร่างกายก็มาเรียนทางด้านงานบุดุนโลหะ โดยจะเรียนครึ่งวันและกายภาพบำบัดครึ่งวัน ซึ่งที่นี่มีครูฝึกจากช่างฝีมือช่างสิบหมู่ล้านนา มีทั้งหลักสูตร 20 วัน ถึง 4 เดือน พอจบแล้วก็จะได้รับเครื่องมือประกอบวิชาชีพไปด้วย สินค้าทำมีตั้งแต่ขนาดเล็กที่เป็นพวงกุญแจไปจนถึงขนาดใหญ่ที่นำไปตกแต่งบ้าน
 
นายเชื่อม ทองวัฒน์ สาธิตการทำพวงกุญแจด้วยการบุดุนโลหะ
นายสมเกียรติ  ฉายะศรีวงศ์  ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการฟื้นฟูสมรรถภาพแต่ละด้าน ได้แก่การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์  จะได้รับการดูแลตั้งแต่ผ่าตัดแก้ไขความพิการ  พยาบาลกายภาพบำบัด  ทำแขนขาเทียม  และไม้ค้ำพยุงสำหรับค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟู  เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงโดยใช้สิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม  และกรณีที่มีค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูเกินกว่าสิทธิประโยชน์ที่ได้รับตามกฎหมาย เช่น มีความจำเป็นต้องใช้ขาเทียมแขนเทียมก็จะได้รับความอนุเคราะห์ด้านการเงินในการฟื้นฟูจากมูลนิธิคุณากรในพระราชูปถัมภ์ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ

สำหรับหลักสูตรฝึกอาชีพ ประกอบด้วย 19 สาขา เช่น ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ ช่างพิมพ์ซิลค์สกรีน ช่างออกแบบสิ่งพิมพ์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ช่างเย็บเสื้อผ้าสตรี ช่างเย็บจักรอุตสาหกรรม ช่างซ่อมวิทยุ-เครื่องขยายเสียง ช่างซ่อมโทรทัศน์ ช่างซ่อมเครื่องคอมแพคดิสก์ ช่างออกแบบและเขียนแบบด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ

นอกจากนี้ ผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯ ต้องมีคุณสมบัติ คือ 1.เป็นลูกจ้างที่ประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย เนื่องจากการทำงาน หรือเป็นผู้ประกันตนทุพพลภาพสาเหตุไม่เนื่องจากการทำงาน 2.สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในชีวิตประจำวัน และสภาพความพิการหรือความบกพร่องที่เกิดขึ้นสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานได้ดีขึ้น 3.ไม่ติดยาเสพติด ไม่เป็นโรคเรื้อรัง ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคติดต่ออันตราย ไม่พิการทางสมองหรือจิตฟั่นเฟือน 4.อายุ 15 ปีขึ้นไป 5.ไม่จำกัดความรู้ (สามารถสื่อสารได้) ซึ่งผู้รับบริการจะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ 3 ด้านคือ ด้านการแพทย์ ด้านอาชีพ ด้านจิตใจ-สังคม และบริการอื่นๆ โดยไม่มีการคิดค่าใช้จ่าย
 

ทั้งนี้ นอกจากศูนย์ฟื้นฟูประจำภาคเหนือ ยังมีภาคอื่นๆ อีก ได้แก่ ภาคกลาง (จ.ปทุมธานี) ภาคตะวันออก (จ.ระยอง) ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.ขอนแก่น) และภาคใต้(จ.สงขลา)อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนประกันสังคม โทร.1506
กำลังโหลดความคิดเห็น