สพฐ.เผย ผลวิจัย “การศึกษาเพื่ออาชีพ” ที่จ้างคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ผลวิจัยสะท้อนทุกประเทศให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อประกอบอาชีพ แนวทางเดียวกับนโยบาย รมว.ศธ.เล็งขยายผลสู่การปฏิบัติ เลขาธิการ กพฐ.ระบุ เรียกประชุม ผอ.เขตพื้นที่ฯ ก.ย.นี้รับฟังนโยบายใหม่ และสั่งการให้สำรวจอาชีพในพื้นที่เพื่อทำ Career Mapping
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า สพฐ.ได้จ้างคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำโครงการวิจัยเรื่อง “แนวทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการประกอบอาชีพ (Career Education)” ตั้งแต่ 6 เดือนที่ผ่านมา โดยขณะนี้ทางคณะครุศาสตร์ได้ทำการวิจัยเสร็จเป็นที่เรียบร้อย และเสนอผลการวิจัยมายัง สพฐ. ทั้งนี้ ผลการวิจัยที่ได้นำบทเรียนของประเทศต่างๆ มาศึกษา ยืนยันว่า ทุกประเทศให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อการประกอบอาชีพ และได้กำหนดแผนการส่งเสริมการประกอบอาชีพไว้เป็นขั้นบันได้ 4 ขั้น ดังนี้
ขั้นที่ 1 ให้มีการสร้างความตระหนักต่ออาชีพ (Career Awareness) ให้แก่นักเรียนระดับประถมศึกษาตอนต้น ถ่ายทักษะ ทัศนคติเชิงบวกต่อการประกอบอาชีพให้เด็ก ขั้นที่ 2 ให้ความรู้ความเข้าใจต่ออาชีพให้แก่นักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย เพื่อให้นักเรียนแยกแยะได้ว่า อาชีพในท้องถิ่น ในโลกมีอะไรบ้าง เพื่อสร้างความสนใจในอาชีพ (Career Orientation) ขั้นที่ 3 สำรวจความสนใจต่ออาชีพ (Career Exploration) และขั้นที่ 4 การเตรียมตัวเข้าสู่อาชีพให้กับนักเรียนระดับมัธยมปลาย (Career Prepration)
“อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยดังกล่าวนั้นจะเป็นประโยชน์ในเรื่องการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริม การศึกษาเพื่อการประกอบอาชีพให้กับนักเรียนในระดับชั้นต่างๆ ซึ่งโรงเรียนสามารถดำเนินการได้ทันที เพราะหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 เปิดช่องให้สถานศึกษาสามารถเพิ่มเติมเนื้อหาอื่นตามความสนใจได้ร้อยละ 30 นอกจากนี้ สพฐ.เห็นว่า ผลการวิจัยดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายและวิสัยทัศน์ของ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ที่ต้องการใช้การศึกษาช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยกำหนดดัชนีชี้วัดความสำเร็จของการศึกษา” นายชินภัทร กล่าวและว่า ทั้งนี้ สพฐ.จะชี้แจงและทำความเข้าใจเรื่องนี้ ในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ที่จะมี­ขึ้นในประมาณกลางเดือน ก.ย.นี้ พร้อมทั้งมอบให้ ผอ.สพท.ทุกแห่ง ไปสำรวจอาชีพในพื้นที่ของตัวเองแล้วจัดทำเป็น Career Mapping ออกมา เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการวางแผนจัดการเรียนการสอนให้สอดรับกับเศรษฐกิจในพื้นที่ของตัวเองโดยจะบูรณาการทำงานร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา และวิทยาลัยอาชีวศึกษาในพื้นที่ เพื่อช่วยกันจัดการศึกษาอาชีพที่เหมาะสมให้กับโรงเรียนด้วย