xs
xsm
sm
md
lg

ประธาน ทปอ.มรภ.ชี้ ป.บัณฑิตต้องผลิตเฉพาะทาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
 
ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ชี้แจงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ต้องทำหลายรูปแบบ เพื่อผลิตครูให้ได้เหมาะสมกับการเรียนการสอนของเด็กในแต่ละระดับชั้น ด้านอธิการบดี มรภ.สส.ระบุ การปรับหลักสูตรจาก 5 ปี เป็น 6 ปี ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาคุณภาพครูอย่างแท้จริง
 

วันนี้ (25 พ.ค.) เวลา 12.30  ณ ห้องสุพรรณิการ์ โรงแรมสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา  มีการประชุมอธิการบดีและคณบดีคณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ในประเด็นการผลิตครูพันธุ์ใหม่หลักสูตร 6 ปีจะสามารถแก้ปัญหาคุณภาพของครูได้จริงหรือไม่  โดย รศ.ดร.เปรื่อง กิจรัตน์ภร  ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครเปิดเผยว่า ขณะนี้เป็นยุควิกฤตในการผลิตครูพันธุ์ใหม่  หากย้อนไปเมื่อหลายปีที่แล้ว คนที่เข้าเรียนครูคือคนที่ไม่เอาไหน การแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มจำนวนปีถือว่าถูกแล้วหรือไม่ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันหาคำตอบ
 

“การจะแก้ปัญหาคุณภาพของครูได้ เห็นว่า ประการแรกน่าจะพิจารณาการผลิตครูให้มีหลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่หลักสูตร 6 ปีอย่างเดียว  อาจจะมี 4+1 หรือ 5 ปี ด้วย ที่สำคัญคือการพัฒนาครูประจำการต้องให้ครูจบในระดับปริญญาโทให้ได้ และ สกอ.ต้องรับรองหลักสูตรในหลากหลายรูปแบบดังกล่าว ประการที่สอง คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏต้องผนึกกำลังทำวิจัย ต้องผลิตครูไปด้วยและทำวิจัยเรื่องคุณภาพหรือเรื่องมาตรฐานต่างๆ ไปด้วย ไม่ใช่รอผลวิจัยออกมาก่อนจึงนำไปพัฒนาครู แต่ต้องทำควบคู่กันไป  ประการสุดท้าย คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏต้องผนึกกำลังในการจัดการการศึกษา เราต้องสามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันได้” ประธาน ทปอ.มรภ.กล่าว
 

ประธาน ทปอ.มรภ.กล่าวต่อว่า ส่วนหลักสูตรป.บัณฑิตทางคุรุสภาไม่เปิดรับแล้ว แต่ส่วนที่เรารับเข้ามาก่อนหน้านี้ก็จะต้องผลิตต่อไปให้หมดรุ่น จนกว่าคุรุสภาจะกำหนดใหม่ว่าป.บัณฑิตที่จะผลิตต้องมีความชัดเจน คือ เป็น ป.บัณฑิตอะไร ตอนนี้มีนโยบายว่าคนที่อยากเป็นครู ป.บัณฑิตยังมีความสำคัญอยู่ แต่ต้องให้รายละเอียดว่า ป.บัณฑิตควรต้องเป็นรูปแบบอย่างไร อาจจะเป็นทางด้านคณิตฯ หรือทางด้านวิทย์ เป็นต้น เพราะเมื่อก่อนนี้ใครอยากเป็นครูก็มาเรียน ป.บัณฑิตได้ ซึ่งมันควบคุมยาก  ทำให้เกิดมีปัญหา  จึงมีแนวโน้มว่าจะเปิดให้มีป.บัณฑิตแต่ละกลุ่มสาขาให้เป็นเฉพาะทางให้ชัดเจนเพื่อสอดรับกับความต้องการของตลาดในสายวิชาชีพครู  ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏเองก็ต้องพัฒนาหลักสูตรป.บัณฑิตนั้นให้เป็นไปตามเกณฑ์ของคุรุสภา
 

ด้าน ผศ.ดร.ช่วงโชติ พันธุเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า  วันนี้ผมตั้งโจทย์ว่าทำไมต้องผลิตครู 6 ปี  เราเคยวิจัยหรือศึกษาปัญหาที่แท้จริงหรือยัง ที่เราหนีจากการผลิตครู 4 ปี เป็น 5 ปีและ 6 ปี เพื่้ออะไรและทำไม หากตอบตรงนี้ไม่ได้ มันก็จะทำให้ประเทศชาติเดินไปผิดทางในการผลิตครูพันธุ์ใหม่  จึงอยากชี้แจงให้เห็นว่า ใน 10 ปีที่ผ่านมาเราฟันธงไปว่าให้เรียน 5 ปี แล้วตอนนี้ก็จะหนีจากจุดเดิมอีก ถามว่าในการเรียนการสอน 5 ปีนี้ได้มีการประเมินหรือวิจัยแล้วหรือยังว่ามันมีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไรบ้าง เราถึงต้องหนีไปทำ 6 ปี แล้วประเทศชาติต้องเสียงบประมาณไปอีกเท่าไหร่ในการปรับหลักสูตรครั้งนี้ แล้วจะแก้ปัญหาในวิกฤตครูครั้งนี้ได้จริงหรือ
 

อธิการบดีฯ กล่าวอีกว่า รุ่นที่เพิ่งจบไปมีคนเก่งจริงมาเรียนครู  เนื่องจากรัฐบาลก็สนับสนุนมีทุนให้เรียนครู และมีตำแหน่งงานรองรับ แต่รุ่นต่อๆไปไม่การันตี เพราะเกณฑ์การคัดเลือกมันไม่เข้มงวดเหมือนเมื่อก่อน เพราะฉะนั้น วันนี้ต้องประเมินว่าเด็กที่จบออกไปแล้วสอนระดับประถมได้แค่ไหน  สอนระดับมัธยมเหมาะหรือไม่  นี่คือสิ่งที่อยากให้ทางคณะครุศาสตร์ของราชภัฏทั่วประเทศไดมาศึกษาเรื่อง นี้ให้รู้จริง และชี้แนะรัฐบาลว่า ที่ผ่านมาการเรียน 5 ปี มันมีปัญหาอะไร มีจุดอ่อนอะไร แล้วควรจะทำ 5 ปีต่อหรือปรับเป็น 6 ปี
 

“เราเคยมีหลักสูตร 3 ปี, 4 ปี, 5 ปี และกำลังจะปรับเป็น 6 ปี ตรงนี้ถามว่าเป็นการแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่อธิการฯหรือคณบดีในสายศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ ต้องชี้แจงให้กระทรวงศึกษาธิการหรือคุรุสภาเห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาตรงจุดหรือไม่ ทั้งการสอนครูพันธุ์ใหม่ และการพัฒนาครูประจำการ  ส่วนหลักสูตร ป.บัณฑิต เห็นว่าที่คุรุสภาทบทวนถูกแล้วที่จะมีนโยบายในการผลิต ป.วิชาชีพครูเพิ่ม เติม  แต่มองว่าเป็นการแก้ปัญหาครูในระยะสั้น  คือ ในวันนี้เราขาดครูในสาขาคณิตฯ วิทย์ และภาษาอังกฤษ เราก็จำเป็นจะต้องเพิ่มบุคลากรในสาขาเหล่านี้ ซึ่งการจะเรียนป.บัณฑิตมันก็มีเกณฑ์มาตรฐานของมันซึ่งคุรุสภาเป็นผู้กำหนด  แต่ส่วนตัวมองว่าครูต้องสอบเอาใบประกอบวิชาชีพ ไม่ใช่เอาแค่ใบทรานสคริปไปยื่นขอได้" ผศ.ดร.ช่วงโชติกล่าว
 

ผศ.ดร.ช่วงโชติ กล่าวเพิ่มเติมว่า  หลักสูตร ป.บัณฑิตจะเปิดต่อเนื่องตลอดไปไม่ได้เพราะจะเกิดปัญหาครูล้นตลาด  วันนี้เด็กที่มาสมัครเรียนครูที่มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศมีเป็นแสนคน เรารับไปแล้ว 25,000 คน  ถามว่าอีก 5 ปีจะมีเด็กจบออกไปเป็นครูจำนวนเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นวันนี้ไม่ใช่เห็นว่าเด็กเฮกันมาเรียนครูก็จะขยายที่รับจำนวนเพิ่มขึ้น  แต่ต้องดูว่าตำแหน่งงานที่จะรองรับสายอาชีพครูมีเท่าไหร่แล้วรับเท่าจำนวนและพัฒนาให้มีคุณภาพ
 

“ถามว่าครูคณิตฯ-วิทย์นี่ขาดกี่คน แล้วเรียนจะจบ ป.บัณฑิตภายในกี่ปี ตรงนี้คุรุสภาและกระทรวงศึกษาธิการต้องเอาเรื่องนี้มาดู แล้วปิดรับเมื่อครบตามจำนวน ไม่ใช่ผลิตออกมาตลอด ต่อไปจะเกิดปัญหาล้นตลาดในอนาคตได้ ตรงนี้เราต้องใช้ตัวเลข ข้อมูล ข้อเท็จจริงในการตัดสินใจ ไม่ว่าจะทำครูพันธุ์ใหม่ หรือ ป.บัณฑิตวิชาชีพ ซึ่งตอนนี้คุรุสภาก็ยังใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานเดิมในหลักสูตรการเรียนการสอน คือ ให้มีทั้งระดับปริญญาตรี 5 ปี และหลักสูตร ป.บัณฑิตวิชาชีพ” อธิการฯ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น