เลขาธิการ กอศ.เผยเปิดเทอมปี 54 เตรียมเกลี่ยครูครั้งใหญ่แก้ปัญหาขาดครู เว้นวิทยาลัยที่รับ นศ.เกินเป้า พร้อมทำแผนพัฒนาครูผู้สนอ และสำรวจการผลิต นศ.ของ วท.ทั่วประเทศว่าตอบสนองความต้องการภาคอุตสาหกรรมและบริการภายใน 2 เดือน
วันนี้ (23 พ.ค.) น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) กล่าวภายหลังประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ด้านการพัฒนาอาชีวศึกษา ที่มี นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เป็นประธาน ว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เตรียมดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ 1.มุ่งสร้างและผลิตกำลังคนด้านอาชีวศึกษา ให้ตอบสนองความต้องการของตลาด 2.พัฒนาครูยุคใหม่ ครูพันธุ์ใหม่ ครูสาขาขาดแคลน 3.พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ใหม่ และ 4.การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการใหม่ โดยในภาพรวมนั้นคณะอนุกรรมการฯ เห็นชอบภาพรวมของแผนการดำเนินงาน เพียงแต่ต้องการให้ สอศ.ไปปรับรายละเอียดของแผนงานบางประเด็น เช่น ในภาพรวมของแผนการดำเนินการงานตามยุทธศาสตร์ทั้ง 4 นั้นส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปแต่อาชีวศึกษาของรัฐ แต่ไม่ค่อยนำเสนอในมุมของภาคเอกชน ก็ขอให้ไปทบทวนและนำเสนอที่ประชุมครั้งหน้า
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมให้ความสำคัญเกี่ยวกับการปรับปรุงการผลิตกำลังคนของอาชีวศึกษา ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการด้วย ดังนั้นใน 2 เดือนข้างหน้านี้ สอศ.มีแผนงานต้องดำเนินการควบคู่กันคือ 1.ทำแผนพัฒนาครูผู้สอน เพราะครูเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดซึ่งครูที่ สอศ.จะทำแผนพัฒนาจะเป็นทั้งข้าราชการครู ครูอัตราจ้าง ครูภูมิปัญญา และครูช่าง 2. สอศ.จะลงพื้นที่สำรวจข้อมูลการผลิตนักศึกษาของวิทยาลัยในสังกัด สอศ.ทั้ง 415 วิทยาลัย ว่าตรงตามความต้องการของตลาดหรือไม่ สอดคล้องกับความต้องการแรงงาน ของภาคอุตสาหกรรมและบริการในพื้นที่ที่วิทยาลัยตั้งอยู่หรือไม่ เพราะแต่ละพื้นที่มีความต้องการแตกต่างกัน เช่น ภาคใต้ไม่ต้องการช่างอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ แต่ต้องการทางด้านการบริการ เป็นต้น และเมื่อได้ข้อมูลจึงจะเริ่มปรับการผลิตนักศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการที่เป็นจริง
“การปรับเปลี่ยนไม่สามารถทำได้ทันทีทุกวิทยาลัย เพราะสาเหตุสำคัญคือ ขาดครูและขาดเครื่องมือทำให้การปรับตัวใด ๆ เป็นไปได้ยากเพราะฉะนั้น สอศ.จะนำร่องที่วิทยาลัยที่ร่วมใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ 6 วิชาชีพก่อน และอีกส่วนจะเริ่มดำเนินการในวิทยาลัยที่รับนักศึกษาได้เกินเป้า ทั้งนี้ เพราะเราไม่มีงบประมาณมากพอที่จะจัดสรรเพื่อจ้างครูเพิ่ม หรือจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือใหม่ให้กับทุกวิทยาลัยได้ ดังนั้น ตั้งแต่เปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2554 นี้ทุกวิทยาลัยยกเว้นวิทยาลัยที่รับนักศึกษาได้เกินเป้า และวิทยาลัยที่นำร่องใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะจะต้องถูกเกลี่ยครูไปให้วิทยาลัยที่ขาดแคลนครู ขณะเดียวกัน สอศ.จะจัดงบซื้อเครื่องมือใหม่ให้แก่วิทยาลัยที่รับนักศึกษาได้เกินเป้าและวิทยาลัยนำร่องด้วย”น.ส.ศศิธารา กล่าว