xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.จี้เขตพื้นที่ทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษา “เพื่อการมีงานทำ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สพฐ.เร่งเขตพื้นที่จัดทำแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การศึกษาเพื่อการมีงานทำ

วันนี้ (20 ก.ย.) นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงแผนงานการขับเคลื่อนการศึกษา ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ศึกษา 225 เขตทั่วประเทศ เมื่อเร็วๆ นี้นั้น ตนได้มอบให้ สพท.ไปวิเคราะห์ศักยภาพและอาชีพที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่เพื่อจัดทำแผนการศึกษาให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และนโยบายของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และส่งแผนงานที่กำหนดเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมพัฒนาภายในวันที่ 28 ก.ย.นี้

“เขตพื้นที่ฯ จะต้องไปวิเคราะห์ความต้องการเกี่ยวกับอาชีพที่ตรงกับสมรรถนะในตัวผู้เรียน และยึดโยงกับศักยภาพของแต่ละจังหวัดและเขตพื้นที่นั้นๆ เพื่อจะดูว่ามีกลุ่มวิชาชีพใดบ้างที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียน เพื่อให้นักเรียนจบการศึกษาออกมาแล้วมีงานทำ ทั้งนี้ การรดำเนินงานเหล่านี้ไม่ได้ปิดโอกาสการเรียนต่อของเด็ก แต่จากนี้ไปเรื่องของการการศึกษาจะต้องมีความหลากหลายควบคู่กันไป เพราะการวัดความสำเร็จการศึกษาจะต้องวัดทั้งสองด้าน” นายชินภัทร กล่าว

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังได้มอบให้สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ.ไปจัดทำคู่มือเพื่อปรับหลักสูตรให้มีความยืดหยุ่นเพื่อให้โรงเรียนสามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของแต่ละเขตพื้นที่มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม นักเรียนที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องมีความรู้ขั้นพื้นฐานตามที่กำหนดไว้ เพราะต้องมีการประเมินโดยการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ซึ่งต่อไปของโอเน็ตก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยน เพิ่มการวัดสมรรถนะทางด้านอาชีพเข้ามาด้วย

“ต่อจากนี้ไปโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจะต้องส่งเสริมการศึกษาเพื่อการมีงานทำ ซึ่งต้องเริ่มปูพื้นตั้งแต่ช่วงชั้นที่ 1, 2 พอถึงช่วงชั้นที่ 3, 4 จะต้องมีการวัดสมรรถนะของนักเรียนและเพิ่มระดับความเข้มข้นไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะโรงเรียนมัธยมศึกษาจะมีการแบ่งสายสามัญ ที่เน้นการจัดการเรียนการสอนภาควิชาการแบบปกติ เช่น โรงเรียนที่มีความเป็นเลิศทางด้านวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ เป็นต้น และสายปฏิบัติการ ที่เน้นสอนความเป็นเลิศด้านอาชีพ ขณะเดียวกัน จะคัดโรงเรียนสายปฏิบัติเพื่อพัฒนาให้เป็นโรงเรียนหลักสูตรสายอาชีพเข้มข้น อาชีพละ 2 โรงให้กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ซึ่งประเด็นนี้เขตพื้นที่จะต้องไปทำการบ้านวิเคราะห์ดูว่าจะส่งเสริมโรงเรียนที่มีความเป็นเลิศด้านสายอาชีพได้อย่างไรบ้าง” นายชินภัทร กล่าวและว่า ต่อไปในอนาคตจะเห็นภาพการจัดการศึกษาที่หลากหลายมากขึ้น เด็กไม่จำเป็นต้องเรียนวิชาการแบบเข้มข้นครบทั้ง 8 กลุ่มสาระ แต่จะยืดหยุ่นให้เด็กได้เรียนวิชาการเท่าที่จำเป็นแต่ครบถ้วนคนถนัดวิชาชีพก็เรียนทางด้านสายปฏิบัติการ ขณะเดียวกัน ก็ไม่ทิ้งผู้ที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการส่งต่อไปยังโรงเรียนมาตรฐานสากล โรงเรียนในฝัน หรือโรงเรียนดีประจำตำบล เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น